องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

หน่อไม้ฝรั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Asparagus officinalis

ชื่อสามัญ  Asparagus

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักที่มีลำต้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นใต้ดิน และลำต้นเหนือดิน

ลำต้นใต้ดิน : อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบรากรวมเรียกว่า rhizome หรือเหง้า อาหารของหน่อไม้ฝรั่งจะถูกส่งมาเก็บ ที่ส่วนนี้ ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นแท่งคล้ายแท่งดินสอ งอกกระจายออกเป็นรัศมีโดยรอบ เรียกอีกอย่างว่า crown ระบบราก แผ่ขยายออกไป ประมาณ 3-5 ฟุต หรือมากกว่านั้น

ยอดอ่อนหรือหน่ออ่อน (spear) : เจริญมาจากเหง้า เป็นส่วนที่ใช้รับประทาน ถ้าปล่อยให้หน่ออ่อนเจริญเติบโตจะกลายเป็นลำต้นเหนือดิน ซึ่งมีความสูง 1.5 - 2 เมตร

ลำต้นเหนือดิน : มีใบเป็นเกล็ดบาง ๆ ติดอยู่ตามข้อ ส่วนที่เห็นเป็นลักษณะคล้ายเส้นขน (ที่เรียกกันว่าใบ) แท้จริงเป็นส่วนของกิ่งก้านที่เปลี่ยนไปทำหน้าที่ใบ เรียกว่า claode หรือ cladophyll

ต้น : เพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น (dioecious)

ดอก : มีขนาดเล็ก มีจำนวนมากและเกิดตามกิ่งก้าน

ผล : มีลักษณะกลม ขนาดเล็ก มีสีเขียวเมื่ออ่อนและสีแดงส้ม เมื่อสุก มีเมล็ดอยู่ภายในผลละ 2-3 เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดสีดำ

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร หน่อไม้ฝรั่งหากนำมา รับประทานส่วนยอดมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะ Amino succinamic หรือ asparagines นอกจากนี้ยังมีวิตามิน B C และแคโรทีนสูง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผัด ลวก เป็นต้น

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า  

การเพาะกล้าในถุง เตรียมวัสดุเพาะกล้า ซึ่งประกอบด้วย ดินร่วน : ใบไม้ผุ : ขี้เถ้าแกลบ : ปุ๋ยอินทรีย์ อัตราส่วน 1:1:1:1 ผสมให้เข้ากันและกรอกใส่ถุงดำขนาดกลาง รดน้ำให้ชุ่ม แล้วจึงหยอดเมล็ดลงไป หลุมละ 1 เมล็ด รดน้ำทุกวัน ควรวางถุงกล้าหน่อไม้ฝรั่งไว้กลางแจ้งให้รับแสงสว่างเต็มที่ เพื่อให้ต้นตั้งตรง เลี้ยงไว้ประมาณ 90-120 วัน แล้วจึงขนย้ายกล้าไปปลูกลงแปลงได้

การเพาะกล้าโดยตรงในแปลงเพาะ โดยเตรียมดินเป็นร่องแปลงสูง 30 เซนติเมตร ขนาดแปลงกว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร ถ้าต้องเพาะกล้าสำหรับปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ควรทำแปลงเพาะกล้า จำนวน 8 แปลง ควรขุดยกร่องแปลงและะพรวนดินให้ละเอียด เก็บเอาวัชพืชและกอหญ้าออกให้หมด พร้อมทั้งใส่อินทรีย์วัตถุประเภทเถ้าแกลบ:ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อย่างละ 10 บุ้งกี๋ ผสมกับ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 15-15-15 หรือ 16-16-16 จำนวน 0.5 กิโลกรัม และปูนขาว หรือปูนโดโลไมท์ จำนวน 1-2 กิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินในแปลงให้สม่ำเสมอ เกลี่ยผิวหน้าแปลงให้เรียบใช้ไม้ทำร่องลึก 2 เซนติเมตร ตามแนวขวางบนแปลง แต่ละร่องห่างกัน 15-20 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดลงในร่องให้เมล็ดห่างกัน 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ต้นกล้าขึ้นแน่นและแย่งอาหารกัน ใช้ดินกลบบาง ๆ จากนั้นใช้ฟูราดาน 300 กรัม/แปลง หว่านกันแมลงมารบกวน ใช้ฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดคลุมแปลง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมล็ดจะงอกภายในเวลา 10-15 วัน เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกยาว 2-3 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต ผสมน้ำอัตรา 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 บัว (10 ลิตร) รดทุก 7 วัน และหว่านปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 0.5 กิโลกรัม เมื่อกล้าอายุ 30 วัน ในแปลงกล้าต้องหมันถอนหญ้ากำจัดวัชพืชไม่ให้แย่งอาหาร รวมทั้งควรฉีดสารป้องกันเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45 หรือไดโฟลาเทน หรือแมนโคเซป รวมทั้งฉีดพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันหนอนกระทู้หรือเพลี้ยไฟ เช่น แลนเนท หรือธูรีไซด์ พ่นทุก 15 วัน กล้าหน่อไม้ฝรั่งอายุ 45-60 วัน สามารถย้ายกล้าไปปลูกในแปลงในแปลงปลูกต่อไปได้

การเตรียมหลุมปลูก ใช้จอบขุดทำหลุมปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ โดยขุดหลุมลึก 15-25 เซนติเมตร หลุมกว้าง 20 เซนติเมตร รองกันหลุมด้วยฟูราดาน เพื่อป้องกันแมลงในดิน ใช้อัตรา 1 ช้อนชาต่อหลุม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1 ช้อนชาต่อหลุม รวมทั้งใส่ปุ๋ยคอก หรือขี้เถ้าแกลบผุ อัตรา 2 กำมือต่อหลุม คลุกเคล้ารองกันหลุม

การปลูก ปลูกหลุมละ 1 ต้นโดยพยายามแผ่รากของต้นกล้า ไม่ให้ขดอยู่เป็นกระจุก แล้วกลบดินรอบโคนต้นหนา 3-4 เซนติเมตร หรือพยายามพูนดินรอบโคนต้นให้เหนือระดับดินบนแปลงเล็กน้อย จึงกดดินรอบ ๆ โคนต้นกล้าให้แน่น รดน้ำให้พอชื้น

การย้ายต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งลงปลูกในแปลง

- เลือกต้นกล้าอายุ 3-4 เดือนมีความแข็งแรง สมบูรณ์ ต้นใหญ่ มีรากมาก ถ้าเป็นต้นกล้าที่ย้ายปลูกอยู่ในถึงพลาสติกอยู่แล้ว สามารถย้ายปลูกได้ทันที

- ตัดยอดด้านบนของต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งให้เหลือความสูงของต้น 15 เซนติเมตร

- แช่ส่วนรากและโคนของต้นหน่อไม้ฝรั่งในน้ำสะอาดผสมสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนเลท หรือไดโฟลาแทน อัตรา 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15 นาที

- เวลาที่เหมาะสมที่จะย้ายกล้าควรเป็นช่วงที่มีแดดอ่อน ๆ เวลาบ่ายใกล้เย็น

การจัดระยะปลูก ควรปลูกแบบแถวเดี่ยว ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 0.5 เมตร และระยะระหว่างแถว 1.0 - 1.5เมตร

การให้น้ำ

- ใช้เรือรดน้ำติดเครื่องยนต์วิ่งไปตามร่องน้ำ

- ใช้ระบบติดสปริงเกอร์พ่นน้ำเป็นละอองฝอย

- ใช้วิธีเปิดน้ำเข้าทางท่อให้ไหลเข้ามาในร่องระบายน้ำข้างแถวปลูก

หลักการให้น้ำ

- ควรให้ผิวหน้าดินชื้น แต่อย่าให้จนดินเฉอะแฉะ เพราะถ้าแปลงปลูกเป็นดินเหนียว จะทำให้ปริมาณผลผลิตของหน่อไม้ฝรั่งลดลง

- หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตดี

- หน่อไม้ฝรั่งที่ได้รับ้น้ำไม่สม่ำเสมอ จะมีคุณภาพของหน่อไม่ดี โดยจะมีเส้นใย (ไฟเบอร์) มาก หน่อจะเหนียวทำให้คุณภาพในการบริโภคจะด้อยลง

การให้ปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์ ถึงแม้ว่าเกษตรกรจะใส่ไปแล้วในตอนเตรียมดิน แต่เนื่องจากหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชอายุยาว และเก็บผลผลิตไปทุก 2 เดือน สภาพดินในแปลงปลูกจะยุบตัวลง ทำให้รากตื้น จะไม่มีประสิทธิภาพในการหาอาหาร ทำให้ลำต้นล้มง่าย เกษตรกรจำเป็นต้องใสปุ๋ยอินทรีย์กลบโคนต้นให้สูงในระดับที่ช่วยให้ทรงต้นแข็งแรง ได้แก่ ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ ปุ๋ยขี้เป็ด ขี้หมู หรือปุ๋ยอินทรีย์หมักจากเศษ อัตราไร่ละ 0.5 -1 ตัน/ไร่

ปุ๋ยเคมี แบ่งใส่ตามระยะเวลาการเจริญเติบโต ดังนี้

- หลังย้ายกล้า 10-15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีแอมโมเนียซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 15 กรัม/หลุม หรือ 30 กิโลกรัม/ไร่เมื่ออายุครบ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 15 กรัม/หลุม หรือ 30 กิโลกรัม/ไร่ และใส่ซ้ำทุกเดือน ในช่วงที่เกษตรกรพักต้นแม่ โดยการบำรุงต้นหน่อไม้ฝรั่งด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีแล้ว ควรงดการเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งในช่วงดังกล่าวด้วย เพื่อป้องกันไม้ให้ต้นแม่โทรมเร็วเกินไป

การกำจัดวัชพืช ในช่วงเตรียมแปลง ควรใช้สารควบคุมวัชพืช เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดหญ้างอก เมื่อต้นหน่อไม้ฝรั่งเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว ควรใช้แรงงานกำจัดวัชพืชแทนการใช้สารเคมี เนื่องจากกอของหน่อไม้ฝรั่งที่โตแล้วทรงพุ่มมักจะชนกัน การใช้สารเคมีจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต เกษตรกรมักจะนิยมทำการกำจัดวัชพืชโดยการใช้เสียมมือเล็ก ๆ ขุดเพื่อเก็บเศษหญ้าและวัชพืชไปพร้อม ๆ กับการแต่งต้น ในช่วงที่พักต้นแม่ (ทุก 2 เดือน) ควรงดการให้น้ำ รอให้ดินหมาดก่อนจึงกำจัดวัชพืช เพราะทำให้ขุดรากและลำต้นใต้ดินขึ้นมาได้หมด

การพักต้น เนื่องจากต้นหน่อไม้ฝรั่งมีการเจริญเติบโต แตกหน่อและกิ่งก้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆถ้าต้นเหนือดินแน่นเกินไป จะแย่งน้ำและอาหารกันเอง และทำให้เกิดร่มเงามากเกินไป แสงสว่างส่องไม่ถึงผิวหน้าดิน ทำให้หน่อที่เกิดใหม่มีขนาดเล็ก ผอมยาว และมีสีขาวมากกว่าสีเขียว ถ้ามีจำนวนต้นแม่ต่อกอน้อยเกินไป จะสร้างอาหารสะสมไม่เพียงพอ จะมีผลทำให้หน่อมีขนาดเล็กเช่นกัน เมื่อเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งไปแล้วนาน 2 เดือน ต้นหน่อไม้ฝรั่งเริ่มโทรม ผลผลิตจะเริ่มลดลง และหน่อมีขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆจึงจำเป็นต้องตัดแต่งต้น และพักต้นไว้ โดยการถอนแยกต้นที่เหลือง และโทรมเป็นโรค หรือถูกแมลงรบกวนทิ้ง คัดเลือกต้นที่แข็งแรงต่อกอไว้ 4 - 5 ต้น เลี้ยงไว้เป็นต้นแม่ ระยะเวลาการพักต้นแต่ละครั้งอยู่ระหว่าง 20-30 วัน การพักต้นนี้เกษตรกรต้องงดการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย จึงต้องวางแผนในการพักต้น โดยต้องไม่พักต้นพร้อม ๆ กัน เพื่อจะได้มีบางแปลงเก็บผลผลิตขายได้ และบางแปลงพักต้น เพื่อจะได้มีรายได้หมุนเวียนได้ตลอดปี

การพูนดินกลบโคนต้น เป็นวิธีการที่จำเป็นในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งหน่อเขียว เพราะสภาพดินที่ยุบตัวลงจากการเข้าไปทำงานของเกษตรกรในแปลง ระหว่างการถอนเก็บเกี่ยวผลผลิต การพูนโคนต้นหน่อไม้ฝรั่ง ควรทำควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง เพื่อเป็นการประหยัดแรงงานและทำให้หน่อที่เกิดใหม่มีความสมบูรณ์ และมีคุณภาพหน่อที่ดี

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่อหน่อที่แทงโผล่เหนือพื้นดินมีความสูงเกิน 20 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 27 เซนติเมตร

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวในระยะที่ถูกต้อง

2. นำมาเข้ากำๆละ 200 กรัม บรรจุตั้งขึ้นในภาชนะบรรจุ มีฟองน้ำรองกันกระเทือนด้านล่าง

3. ลดอุณหภูมิเฉียบพลันเหลือ 2 องศาเซลเซียส

4. ขนส่งโดยรถห้องเย็นโดยให้หน่อตั้งขึ้นตลอดเวลา

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ : คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ หน่อไม่แก่ หน่อมีลักษณะตรง บริเวณยอดแน่น ใบไม่คลี่ออกจากยอด สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. หน่อมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 – 1.5 เซนติเมตร ความยาวของหน่อขาว 15 – 17 เซนติเมตร ความยาวหน่อเขียว 15 – 20

      เซนติเมตร

      2. ไม่มีตำหนิใดๆ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. หน่อมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 1.2 เซนติเมตร ความยาวของหน่อขาว 13 – 15 เซนติเมตร ความยาวหน่อเขียว 13 – 15

      เซนติเมตร

      2. ไม่มีตำหนิใดๆ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. มีขนาดเท่ากับชั้นสอง

     2. หน่อมีลักษณะโค้งได้บ้างไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     3. มีตำหนิใดๆได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง : หน่อไม้ฝรั่งที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเตรียมสู่ตลาด เข้ากำๆละ 200 กรัม โดยมีกระดาษสีขาวห่อหุ้มก่อนที่จะใช้ยางรัด 1 รอบ

การเก็บรักษา

1. อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 14 – 21 วัน

2. อุณหภูมิ 2 – 2.5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 14 – 21 วัน

หมายเหตุ : เกิดอาการเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำเหนือจุดเยือกแข็ง (Chilling injury) เมื่อเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์