องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ซาโยเต้

ชื่อวิทยาศาสตร์     Sechium edule (Jacq.) Swartz.

ชื่อสามัญ  Chayote

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ซาโยเต้จัดอยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae หรือ Gourd Family มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก และแถบอเมริกากลาง เป็นพืชข้ามปี ลำต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามค้าง ลำต้นเป็นเหลี่ยมเจริญเป็นเถายาว 15 – 30 ฟุต มีเถาแขนง 3 – 5 เถา มีมือเกาะเจริญจากข้อ ใบมีรูปทรงห้าเหลี่ยม ยาว 8 – 15 เซนติเมตร มีระบบรากสะสมขนาดใหญ่  ผลมีลักษณะยาวรี  สีเขียวอ่อน มีขนาดความยาวประมาณ 7 – 20 เซนติเมตร กว้าง 5 – 15 เซนติเมตร น้ำหนักผล 200 – 400 กรัม ผิวขรุขระ มีเมล็ด 1 เมล็ด เนื้อกรอบ ฉ่ำน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด (ผล) ซาโยเต้ ส่วนยอดคล้ายยอดฟักทอง แต่ไม่มีขน เส้นใยน้อยกว่า รสหวานกรอบ นิยมผัดน้ำมันหอย ลวก จิ้มน้ำพริก ส่วนของผล ผลมีรูปทรงเหมือนชมพู่ แต่ใหญ่กว่า มีผิวขรุขระเล็กน้อย มีผลผลิตตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูฝนจะแทงยอดน้อย มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ส่วนที่นิยมรับประทาน ได้แก่  ผล และยอดอ่อน นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผล นำมาต้มจืด ซุบ ผัดใส่ไข่ ต้มจิ้มน้ำพริก แกงส้ม แกงเลียง ส่วนของยอดนำมาผัดน้ำมันหอย ลวกจิ้มน้ำพริก แกงเรียงหรือแกงส้ม ยอดของผักชนิดนี้จะให้ความหวาน และกรอบเป็นพิเศษ ทั้งในภัตตาคารและคนส่วนใหญ่นิยมนำมาผัดน้ำมันหอยกันมาก ฟักแม้วประกอบไปด้วยคุณค่าอาหารหลายชนิด เช่น ให้วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส บำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันหวัด ผลและเมล็ดประกอบด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญเช่น aspartic acid, glutamic acid, alanine, argine, cistien, phenylalanine, glycine, histidine, isoleuucine, leucine, metionine, proline, serine, tyrosine, threoninee and valine  น้ำต้มใบและผล ช่วยขับปัสสาวะ และสลายนิ่วในไต

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

สามารถปลูกทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 – 1,700 เมตร สภาพอากาศเย็น อุณหภูมิเหมาะสมอยู่ระหว่าง 13 – 21 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส จะเป็นอันตรายต่อยอดอ่อน การปลูกในสภาพอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส จะเร่งอัตราการเจริญทางลำต้นและใบให้สูงขึ้น แต่ดอก และผลจะร่วงสำหรับสภาพดินที่ทำการปลูกเป็นดินที่ร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง หน้าดินลึก และมี pH ประมาณ 6 – 6.8 ได้รับแสงแดงและน้ำอย่างพอเพียง (ช่วงแสง 12 ชั่วโมงต่อวัน สามารถชักนำให้เกิดการเจริญของดอก) สภาพแปลงปลูกควรมีความชื้นสูง 80 – 85 % 

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน ขุดพลิกดินตากแดด อย่างน้อย 14 วัน รองก้นหลุมด้วยมูลไก่ 1 กก./หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 อัตรา 30 กรัมต่อหลุม ควรรองก้นหลุมด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มา ป้องกันโรคเน่าจากราเม็ดผักกาด

การเตรียมกล้า ใช้หัวพันธุ์ที่แน่ใจว่าปลอดเชื้อไวรัส เก็บจากต้นที่แข็งแรงไม่มีอาการหงิกหรือเหลืองด่างจากเชื้อไวรัส และหัวพันธุ์แก่เต็มที่ นำหัวพันธุ์ไปชำในกระบะทรายไว้ในที่ร่มที่มีความชื้นพอสมควร รอให้แตกราก และย้ายปลูก

การปลูก มี 2 แบบ คือ เพื่อเก็บยอดและเพื่อเก็บยอดและผล

การให้น้ำ เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำมากนัก แต่จำเป็นจะต้องให้ทุกวันแต่อย่าให้ดินแฉะจนเกินไป

การให้ปุ๋ย เมื่อย้ายปลูกได้15 วันใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 และ 46 – 0 – 0 อัตรา 1 : 1 อัตรา 30 กิโลกรัม /ไร่ และใส่เพิ่มทุก 15 วัน

หมายเหตุ : ปลูก 1 หลุมใช้ไม้ค้างปัก (เพื่อเก็บยอด) ปลูก 1 หลุม ระยะห่างระหว่างต้น 1 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร ขึ้นค้าง (เหมือนฟักทองญี่ป่นเพื่อเก็บผล)

ข้อควรระวัง

  1. ควรเตรียมดินและหลุมให้ดีมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์เต็มที่
  2. เก็บยอดครบปีที่ 2 ควรรื้อแล้วปลูกใหม่
  3. ถ้าต้องการเก็บผลเพื่อขยายพันธุ์ควรเลือกจากต้นที่ปลอดไวรัสจริงๆ

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว

ยอดซาโยเต้ : เก็บเกี่ยวในช่วงที่มียอดอวบสมบูรณ์ ไม่มีดอกติด

ผลซาโยเต้ : เก็บเกี่ยวช่วงผลยังอ่อน มีขนาดตามความต้องการของตลาด

การเก็บเกี่ยว

ยอดซาโยเต้ :

  1. ควรเก็บเกี่ยวยอดอวบที่สมบูรณ์ สีเขียวสด
  2. จัดชั้นคุณภาพ แล้วบรรจุลงตะกร้าพลาสติก ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อตะกร้า
  3. เก็บเกี่ยวตอนเช้า และจัดส่งภายในวันเดียวกัน

ผลซาโยเต้ :

  1. เก็บเมื่อผลยังอ่อน มีขนาดตามความต้องการของตลาด โดยใช้กรรไกรตัดขั้วออกให้หมด
  2. จัดเรียงในภาชนะบรรจุ โดยใช้กระดาษรองกันช้ำเป็นชั้นๆ พร้อมจัดแยกตามชั้นคุณภาพ
  3. ควรบรรจุลังละ 20 กิโลกรัม

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ

ยอดซาโยเต้ : คุณภาพขั้นต่ำ เป็นยอดซาโยเต้ที่สมบูรณ์ มีใบและก้าน ไม่แก่ มีสีเขียวสด ไม่แทงช่อดอกหรือมีผลติดมา สด สะอาด และปลอดภัย จากสารเคมี

ผลซาโยเต้ : คุณภาพขั้นต่ำ เป็นผลซาโยเต้ที่สมบูรณ์ทั้งผล อ่อน มีขนาดตามที่ตลาดต้องการ ผิวสีเขียวหรือเขียวอ่อน ไม่มีตำหนิใดๆ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง   1. ผลแข็ง ไม่แก่เกินไป มีน้ำหนัก 250 – 400 กรัม

       2. ขนาดของผลสม่ำเสมอกันทั้งภาชนะบรรจุ

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง   1. ผลแข็ง ไม่แก่เกินไป มีน้ำหนัก 150 – 250 กรัม

       2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. ผลมีน้ำหนัก 80 – 150 กรัม หรือมากกว่า 400 กรัม แต่ผลไม่แก่

       2. ผิวสด สีเขียว และเขียวอ่อน

       3. มีตำหนิหรือขนาดที่ไม่สม่ำเสมอกันได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

       4. ปลอดภัยจากสารเคมี

ข้อกำหนดในการจัดเรียง

ยอดซาโยเต้ : ยอดซาโยเต้ที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ

ผลซาโยเต้ : ผลซาโยเต้ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์