องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ไผ่ ความหลากหลายในวิถีชุมชน

ไผ่ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนไทยมาช้านาน ซึ่งทุกส่วนของไผ่ตั้งแต่ราก ลำต้น ไปจนถึงยอด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้หน่อไผ่สำหรับบริโภคเป็นอาหาร ลำไผ่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ใบไผ่ใช้ห่อขนม รากไผ่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน หรือแม้กระทั่งใช้เป็นยารักษาโรค

นอกจากนั้นไผ่ยังมีความสำคัญต่อวิถีของชุมชนในแง่ของพิธีกรรมบางอย่างด้วย ซึ่งความหลากหลายของไผ่ในแต่ละพื้นที่นอกจากจะผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติแล้วยังต้องผ่านการคัดเลือกโดยสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของชุมชนด้วย ทำให้ไผ่บางชนิดมีปริมาณที่น้อยลงหรือสูญหายไป จึงนับได้ว่าไผ่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ-สังคมต่อคนไทยในชนบท ดังนั้น การสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไผ่และการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ของชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สามารถใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านเพื่อการใช้ประโยชน์ รวมถึงหาแนวทางในการรักษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไผ่ไว้

ไผ่ที่พบในปัจจุบันของประเทศไทย ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา โดยบางชนิดมีการนำเข้ามาปลูกจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สำหรับในประเทศไทยพบไผ่อยู่ 16 สกุล 85 ชนิด

ไผ่บงใหญ่

ไผ่บงใหญ่

ไผ่เลี้ยง

ไผ่เลี้ยง

ไผ่หก

ไผ่หก

ไผ่วะโสะ

ไผ่วะโสะ

คุณประโยชน์ของไผ่

  • ใช้หน่อไผ่เป็นอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ เช่น เหล็ก และ สังกะสี เป็นต้น
  • การใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยการจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ และสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  • การสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวในระดับท้องถิ่นจากจำหน่ายส่วนต่าง ๆ ของไผ่
  • ก่อให้เกิดการสร้างงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บหาลำไผ่ การผลิตแปรรูปไม้ไผ่ และการขนส่งเครื่องแปรรูปต่าง ๆ
  • พัฒนาเป็นสินค้าส่งออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศ
  • ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหากมีการจัดการอย่างถูกต้อง เนื่องจากรากไผ่ช่วยในการรักษาโครงสร้างของดิน และใบไผ่ยังสามารถคืนชีวมวลกลับลงสู่ผืนดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดินด้วย

ความหลากหลายและการกระจายตัวของไผ่

ไผ่ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงทั้งหมด 21 แห่ง รวม 25 ชุมชน พบชนิดพันธุ์ไผ่ทั้งหมด 40 ชนิดพันธุ์ โดยเป็นไผ่ที่พบตามธรรมชาติ 29 ชนิด และไผ่ที่นำเข้ามาปลูก 11 ชนิด ซึ่งพื้นที่ที่พบความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไผ่มากที่สุด 20 ชนิดพันธุ์ คือพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ โดยพบไผ่ขมมีปริมาณมากที่สุด ลักษณะเป็นไผ่ลำเดียว ไม่แตกกอ และสามารถพบได้เพียงในพื้นที่วังไผ่เท่านั้น โดยไผ่แต่ละชนิดมีการกระจายตัวตามระดับความสูงของพื้นที่แตกต่างกัน บางชนิดสามารถพบได้ทุกพื้นที่สำรวจแต่บางชนิดพบได้แค่บางพื้นที่สำรวจ ดังนี้

จำนวนชนิดพันธุ์ไผ่ที่พบใน 25 ชุมชนของพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงทั้งหมด 21 แห่ง

ภาพ จำนวนชนิดพันธุ์ไผ่ที่พบใน 25 ชุมชนของพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงทั้งหมด 21 แห่ง

ความสูงจากระดับน้ำทะเล (เมตร)

300-800 เมตร ชนิดไผ่ที่พบ

  • ไผ่ซางดำ ไผ่ขม ไผ่ซางแปด ไผ่ขี้มอด ไผ่เลื้อย ไผ่หนาม ไผ่พก (ไผ่วะบวย) ไผ่ไร่หลึ่ง ไผ่ผาก ไผ่ยะหม่น
  • ไผ่เฮี๊ยะ ไผ่ไร่ ไผ่บงคาย ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่โมง ไผ่ลูกศร
  • ไผ่หก ไผ่ซางป่า ไผ่บงป่า ไผ่กิมซุง ไผ่หวานอ่างขาง ไผ่ซางหม่น ไผ่บงหวาน ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง

801-1,000 เมตร ชนิดไผ่ที่พบ

  • ไผ่เฮี๊ยะ ไผ่ไร่ ไผ่บงคาย ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่โมง ไผ่ลูกศร
  • ไผ่ไร่ลอ ไผ่ตากลม ไผ่สีสุก ไผ่วะโสะ
  • ไผ่บงบ้าน ไผ่หอบ
  • ไผ่หก ไผ่ซางป่า ไผ่บงป่า ไผ่กิมซุง ไผ่หวานอ่างขาง ไผ่ซางหม่น ไผ่บงหวาน ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง

มากกว่า 1,00 เมตร ชนิดไผ่ที่พบ

  • ไผ่บงบ้าน ไผ่หอบ
  • ไผ่ซางเย็น ไผ่บงใหญ่ ไผ่ย่ายุ-ย่ายอ ไผ่เคลือวัล
  • ไผ่หก ไผ่ซางป่า ไผ่บงป่า ไผ่กิมซุง ไผ่หวานอ่างขาง ไผ่ซางหม่น ไผ่บงหวาน ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง

----------------------- 

เรียบเรียง

สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)