องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ไก่พื้นเมือง

ไก่พื้นเมืองเป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เพราะ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองใช้เงินลงทุนน้อย เกษตรกรไม่ต้องดูแลมาก ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทนต่อการเป็นโรคได้ดี

ประโยชน์ของการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

1. เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวบ้านในชนบทที่มีราคาถูก หาง่ายและสะดวกที่สุด

2. เป็นรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เกษตรกรหรือชาวบ้านเกิดความจำเป็นรีบด่วน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรือค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

3. เนื้อของไก่พื้นเมืองมีรสชาติดี เนื้อแน่น และมีไขมันน้อย ทำให้ไก่พื้นเมืองมีราคาสูงกว่าไก่กระทงประมาณ 20-30 % จึงน่าที่จะเป็นทางเลือก ในอาชีพเกษตรได้ดีอย่างหนึ่งของเกษตรกรไทย เพราะไม่มีปัญหาเรื่องของตลาด อัตราเสี่ยงจึงน้อยมาก มีเท่าไหร่ขายได้หมด

4. สอดคล้องกับระบบการเกษตรแบบผสมผสานหรือระบบไร่นาสวนผสมที่คนไทยรู้จักกันมานาน ซึ่งเหมาะสมกับฐานะของเกษตรกรในชนบท และไม่ได้ทำลายระบบนิเวศวิทยาเป็นระบบการผลิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อมูลด้านการผลิต

สิ่งที่ผู้เลี้ยงไก่ควรปฏิบัติ

1. แม่ไก่ควรได้รับอาหารและการดูแลมากขึ้น (โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น)

2. ควรหาแต่แม่ไก่ที่มีพันธุ์ดีๆ ต้านทานโรคดี ผลผลิตดี (เนื้อและไข่) ก็จะดีตามมาเอง

3. ควรเริ่มต้นจากฟาร์มเล็กๆ ไปก่อน ไม่ควรเริ่มทำเป็นฟาร์มใหญ่ทันที เพราะ

- สามารถใช้แรงงานในครอบครัวช่วยดูแลไก่ได้อย่างเต็มที่

- ผลผลิต (เนื้อ/ไก่) ใช้บริโภคในครัวเรือนเป็นอันดันแรก ส่วนที่เหลือจึงไว้ขาย

ปัญหาในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

1. ปัญหาที่เกิดจากโรคระบาดไก่ที่สำคัญๆ เช่น นิวคาสเซิล อหิวาต์ไก่ โรคหวัด โรคฝีดาษ ฯลฯ ทำให้ไก่ตายปีละมากๆ หรือเรียกว่าไก่ตายยกเล้า ซึ่งสามารถสรุปหาสาเหตุที่สำคัญได้ คือ 

- เกษตรกรให้ความสนใจต่อไก่น้อย ไม่มีการทำวัคซีนป้องกันโรค

- ไก่พื้นเมืองประเปรียว จับได้ยากเพราะระบบการเลี้ยงแบบปล่อย

- วัคซีนป้องกันโรค หาได้ยากในท้องถิ่นและไม่สะดวกในทางปฏิบัติระดับท้องถิ่น

2. ปัญหาที่เกิดจากไก่พื้นเมืองให้ผลผลิตต่ำ เมื่อเทียบกับการเลี้ยงไก่เพื่อการค้าต้องใช้เวลานาน ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ที่หวังรวยเร็วเกิดความไม่ทันใจ แต่ประการสำคัญที่สุดคือ แม้ไก่พื้นเมืองจะให้ผลผลิตต่ำ แต่กำไรที่ได้นั้นนับเป็นกำไรที่แท้จริง

อย่างไรก็ดี วงจรการเลี้ยงไก่พื้นเมืองในสภาพหมู่บ้านของเกษตรกรไทยสามารถเขียนเป็นแผนภูมิสรุปภาพกว้างๆ ได้ดังต่อไปนี้

วงจรที่ทำให้ไก่พื้นเมืองอยู่ในสภาพให้ผลผลิตต่ำ

เทคนิคและวิธีการให้อาหารไก่พื้นเมือง

1. ใช้อาหารสำเร็จรูปหรือหัวอาหารเร่งการเจริญเติบโตของลูกไก่

2. การเลี้ยงไก่ใหญ่ควรให้อาหารเสริมหรือแร่ธาตุผสมอาหาร

3. สำหรับไก่ใหญ่ ควรให้อาหารที่มีในพื้นที่เป็นหลัก เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวเปลือก เศษผัก หญ้า ปลวก ไส้เดือน ข้าวแห้ง เพื่อลดต้นทุนการผลิต

4. ควรให้อาหารไก่เป็นเวลา เช้า กลางวัง เย็น หรืออย่างน้อย เช้า และเย็น

5. น้ำกินใส่ไว้ในภาชนะ ให้น้ำอย่าได้ขาด อย่าลืมว่าไก่ชอบกินน้ำสะอาด เมื่อไม่เตรียมน้ำสะอาดให้ไก่กิน ไก่จะกินน้ำที่ขังอยู่ทั่วไป ซึ่งทำให้เกิดโรคได้ง่าย

6. ให้ระลึกเสมอว่า ไก่คือโรงงาน ถ้าไม่ป้อนวัตถุดิบ ไก่จะไม่ผลิตอะไรให้ แล้วตัวโรงงานจะโทรมในที่สุด

7. ควรนำไก่ไปปล่อยเลี้ยงในนาข้าวหรือแปลงปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ไปเก็บกินผลผลิตที่ตกหล่น (ข้าว เศษผัก กุ้ง หอย ปู ปลา แมลง มด เป็นต้น)

โปรแกรมการทำวัคซีนป้องกันโรคระบาด

การป้องกันโรคระบาดไก่ด้วยการทำวัคซีน โดยพยายามให้เกษตรกรรู้จักวิธีการใช้วัคซีน เพื่อป้องกันโรคระบาดอย่างถูกต้อง จะเป็นการเพิ่มผลผลิตไก่พื้นเมืองต่อครัวเรือนได้เป็นอย่างดี และทำให้มีไก่บริโภคได้ตลอดปี เนื่องจาก

1. ลูกไก่ในช่วงอายุ 1-2 เดือน จะมีอัตราการตายสูงสุดคือ 11% ของไก่แรกเกิด หรือ 49% ของไก่ที่ตายทั้งหมด

2. สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไก่ตายมากที่สุด คือโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหวัดหน้าบวม ไก่ที่ตายด้วยโรคนี้จะอยู่ในช่วงอายุ 1-3 เดือน

3. การตายของไก่จะผันแปรไปตามฤดูกาล ลูกไก่ที่เกิดในฤดูฝน (มีนาคม-กรกฎาคม) จะมีอัตราการตายสูงกว่าลูกไก่ที่เกิดในเดือนอื่นๆ

4. ไก่พื้นเมืองในชนบทที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคระบาดและถ่ายพยาธิตามโปรแกรม มีอัตราการเลี้ยงรอด 77.6% ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 4 เดือน

ข้อควรระวังในการใช้วัคซีน

- ควรเก็บวัคซีนไว้ในที่เย็น ไม่ให้แสงแดดส่องถึง

- หลอดวัคซีนชำรุดไม่ควรนำมาใช้

- วัคซีนที่ผสมแล้วไม่ควรใช้นานเกินกว่า 1 ชั่วโมง

- ควรฉีดวัคซีนให้ครบตามขนาด

- ไม่ควรฉีดวัคซีนแก่ไก่ที่กำลังเป็นโรค

วัคซีนจะให้ความคุ้มกันโรคได้ดีหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์

ตารางกำหนดการทำวัคซีน

ชนิดวัคซีน อายุไก่ วิธีใช้ ขนาดวัคซีน ระยะคุ้มโรค

1. นิวคาสเซิล เป็นวัคซีนชนิดอ่อนทำให้ไก่สร้างภูมิคุ้มกัน 3-4 เดือน 1-7 วัน หยอดจมูกหรือตา 1-2 หยด ควรทำครั้งที่ 2 เมื่อไก่อายุ 21 วัน

2. ฝีดาษไก่ ตั้งแต่ 7 วัน ขึ้นไป แทงปีก 1 ซีซี คุ้มโรคตลอดไป

3. อหิวาต์ไก่ 30 วัน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือผิวหนัง 1 ซีซี 3 เดือน

4. หลอดลมอักเสบ ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หยอดจมูกหรือตา 1-2 หยด 3 เดือน

วิธีการป้องกันโรค

1. ภายในคอก ถ้าไม่จำเป็นห้ามให้คนอื่นเข้าไป เพราะคนเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด

2. เมื่อมีไก่ตายอย่าเสียดาย เผา หรือฝังทันที อย่านำไปทิ้งหรือให้คนอื่นไปพอพ้นๆ คอก เพราะนอกจากจะแพร่ระบาดที่คอกคนอื่นแล้วคอกตัวเองก็จะไม่พ้นเช่นกัน

3. ถ้าได้ยินข่าวว่าไก่ในหมู่บ้านป่วยหรือตาย ให้รีบขังไก่ ให้ยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้กินไว้ก่อน ในช่วงนี้อย่าทำวัคซีน

4. ถ้านำไก่จากที่อื่นมา ก่อนจะนำเข้าฝูง ควรขังดูอาการสัก 7 วัน เมื่อเห็นว่าปกติแล้วจึงให้วัคซีนดูอาการอีกครั้ง 7 วัน ถ้าปกติค่อยปล่อยรวมฝูง

5. ควรให้ยาถ่ายพยาธิไก่ทุกๆ 3 เดือน โดยเฉพาะไก่ใหญ่ควรให้ยาถ่ายพยาธิก่อนให้วัคซีนสัก 7 วัน

6. การป้องกันโรคด้วยวัคซีนควรทำตามขั้นตอน แม้จะเหนื่อยแต่ก็คุ้ม

ปัญหาผลผลิตของไก่พื้นเมืองต่ำ เนื่องจาก

1. ขาดการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง ให้เป็นพันธุ์มาตรฐาน พันธุ์ดีๆ ไม่ทราบว่าจะหาได้จากที่ไหน ทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องรายได้จึงไม่แน่นอน 

2. ไก่มักเกิดโรคระบาดแบบตายยกเล้า เพราะไก่พื้นเมืองแม้ว่าไก่พื้นเมืองจะต้านทานโรคได้ดี แต่การปล่อยให้หากินตามลานบ้าน โอกาสในการติดเชื้อย่อมสูงกว่า 

3. ไก่ตายจำนวนมาก เมื่อยังเป็นลูกไก่เล็ก โรคระบาดไก่ ศัตรูธรรมชาติ ขาดการดูแล และอาหารไม่ดีพอ เป็นปัจจัยสำคัญ 

4. มีอยู่บ่อยครั้งที่ลูกไก่ฟักออกมา 10-15 ตัว อาจจะเหลือรอดเพียงตัวเดียวเท่านั้น (อัตราการตายสูง) โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน 

5. ผลผลิต (เนื้อ) ที่ไม่เพียงพอต่อชาวชนบท ไก่เมื่อมีอายุครบปีตัวเล็ก ตัวแกรน เมื่อมีงานเลี้ยง งานฉลอง ต้องซื้อหามาจากที่อื่น 

6. รายได้จากไก่พื้นเมืองยังต่ำ เพราะ

- แม่ไก่หรือลูกไก่ยังเล็กเกินไปที่จะขาย เมื่อยามราคาดี (หน้าเทศกาล)

- ไก่ตายหรือป่วยเพราะให้อาหารไม่ดีพอ

- ไก่ถูกนำไปใช้ในการบริโภคช่วยเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้ขาดรายได้ (ช่วงนี้ไก่จะราคาดีด้วย)

- ไก่เลี้ยงคนแต่คนไม่เลี้ยงไว้

วิธีการคัดเลือกและผสมพันธุ์ไก่พื้นเมือง

1. เริ่มต้นจากสายพันธุ์ไก่ชนเป็นหลัก เนื่องจากไก่ชนให้ทั้งเนื้อและชนเก่ง รวมทั้งพันธุ์ค่อนข้างนิ่ง คือสม่ำเสมอและที่สำคัญคือ หาได้ง่ายมีอยู่ทั่วไปตามบ่อนหรือฟาร์มไก่ โดยสามารถขอซื้อได้จากเจ้าของไก่ชน โดยคัดเลือกจากตัวที่มีลักษณะดี

2. ควรมีคอกผสมพันธุ์ไว้เฉพาะ โดยมีอัตราส่วนพ่อต่อแม่ไม่เกิน 1:5 หรือถือหลักไว้ว่า ให้ตัวที่ดีที่สุดผสมกับตัวที่ดีที่สุด เท่านั้น อย่าเสียดายไก่ที่มีลักษณะไม่ดี เช่น ขาหรือเล็บหยิกเกิน ให้คัดออกทันที

3. อย่าให้มีการผสมเลือดชิด คือพ่อหรือแม่ผสมลูก หรือพี่น้องคอกเดียวกันผสมกัน ควรมีการเปลี่ยนสายเลือดบ่อยๆ โดยการเสาะแสวงหาพ่อพันธุ์ดีๆ มาเปลี่ยนสายเลือด

วิธีการคัดเลือกและการฟักไข่

ลักษณะการฟักไข่และการเลี้ยงลูกไก่ของแม่ไก่พื้นเมืองเป็นลักษณะทีสำคัญอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลักวิธีการคัดเลือกไข่ฟัก และดูแลแม่ไก่ในระหว่างฟักไข่ สามารถพิจารณาได้ดังนี้

1. ควรเป็นไข่ที่มาจากฝูงพ่อและแม่พันธุ์ดี

2. ภายนอกสะอาด ไข่รูปทรงปกติไม่ร้าว เบี้ยว เปลือกบาง ช่องอากาศหลุดลอย หรืออยู่ผิดที่ มีจุดเลือดโตเป็นต้น

3. ขนาดไข่ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินควร

4. ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 14 วัน โดยเฉพาะในฤดูร้อนอุณหภูมิที่เก็บไข่ฟักควรอยู่ระหว่าง 50-60 องศาฟาเรนไฮต์ ไม่ควรสูงกว่า 65 องศาฟาเรนไฮต์ (18.3องศาเซลเซียส) ความชื้นในห้องเก็บ 80-90 % อาจเก็บไว้ใกล้ๆ ตุ่มน้ำก็ได้

5. ควรมีการเลี้ยงไก่วันละครั้งก่อนแม่ไก่จะฟัก

6. จำนวนไข่ฟักควรอยู่ระหว่าง 10-12 ฟอง ในฤดูร้อนไข่มักฟักออกไม่ดี ดังนั้น ไข่ 1-2 ฟองแรก ควรนำมาบริโภคจะดีกว่า เพราะมีขนาดเล็กกว่าปกติ อายุการเก็บมักจะนานเกิน 14 วัน เชื้อมักไม่ดี และจะเป็นการแก้ปัญหา ไข่ล้นอกแม่ ไปในตัวด้วย

7. ควรเสริมอาหารโปรตีน โดยเน้นใช้วัสดุเศษเหลือทางการเกษตรภายในท้องถิ่น เช่น ใบหรือเมล็ดพืชตระกูลถั่ว แมลง/ตัวหนอนที่มีตามธรรมชาติ เป็นต้น โดยก่อนนำมาใช้ควรทำลายสารพิษที่มีในวัตถุดิบเหล่านั้นเสียก่อน เน้นให้ลูกไก่ช่วงอนุบาล ถึงระยะเติบโตช่วงแรก และช่วงแม่ไก่ก่อนให้ไข่ (หรือช่วงผสมพันธุ์)

8. การผสมข้ามพันธุ์กับพ่อไก่พันธุ์ไข่ จะทำให้ไก่ลูกผสมเพศเมียที่ได้ไข่ดก โดยมีผลผลิตไข่เฉลี่ยประมาณ 120-150 ฟอง/ปี ส่วนลูกไก่เพศผู้ควรนำไปตอน

การตอนแล้วนำไปขุน ทำให้เนื้อไก่มีคุณภาพสูงขึ้น จะทำให้เนื้อนุ่มไม่เหนียวเกินไป เป็นที่ต้องการของตลาดข้าวมันไก่ ราคาจำหน่ายจึงสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้เพิ่มขึ้น อนึ่งวิธีการทำเช่นนี้ ควรใช้วิธีตอนแบบผ่าข้าง คือ เอาอัณฑะของเพศผู้ออกทั้งสองข้าง ขนาดไก่ที่เหมาะสมสำหรับการนำมาตอนควรมีอายุประมาณ 2 เดือน หรือมีขนาดน้ำหนักประมาณ 0.8 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากตอน 2-3 เดือน สามารถนำไปจำหน่ายได้

การผสมข้ามพันธุ์กับพ่อไก่พันธุ์เนื้อ ลูกไก่ที่ได้จะโตเร็ว แต่ไข่ไม่ดก วิธีนี้เหมาะสำหรับการเร่งผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองในช่วงที่ตลาดต้องการ ซึ่งราคาจำหน่ายอาจต่ำกว่าไก่พื้นเมืองแท้

9. ควรทำกรงลูกไก่เพื่อแยกลูกต่างหาก แม่ไก่จะได้ให้ไข่เร็วขึ้น ลูกไก่จะได้รับน้ำ-อาหาร ความอบอุ่น และวัคซีนอย่างสมบูรณ์

10. ที่ให้น้ำ-อาหาร ควรมีให้พร้อม ส่วนอุปกรณ์ป้องกันโรคมีไว้ให้พร้อมที่จะใช้งานได้ทันที

ข้อควรปฏิบัติระหว่างแม่ไก่ฟักไข่

1. แม่ไก่กำลังไข่ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้วัคซีนหรือยาใดๆ ถ้าจะให้ควรให้ก่อนระยะไข่เพราะอาจทำให้แม่ไก่หยุดไข่

2. ถ้าแม่ไก่ไข่มากเกินไป ควรแบ่งไข่ออกไปกินบ้าง การฟักไข่แต่ละครั้ง ควรมีไข่ไม่เกิน 12 ฟอง

3. ควรรู้จักการส่องไข่ เพื่อให้แม่ไก่ฟักเฉพาะไข่ที่มีเชื้อ

4.  เมื่อแม่ไก่ฟักเป็นตัวแล้ว ควรแยกลูกไก่ไปเลี้ยงในกรงกก (คอกอนุบาลลูกไก่) ปล่อยให้แม่เป็นสาวฟื้นตัวได้เร็ว ไข่เร็ว ฟักเร็ว ผู้เลี้ยงจะได้เงินเร็ว

5.  ระยะกกลูกไก่ ควรใช้หัวอาหารหรืออาหารสำเร็จรูปเลี้ยง แล้วค่อยๆ เติมอาหารธรรมชาติเข้าไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 3 สัปดาห์ ก็สามารถปล่อยลูกไก่ลงเลี้ยงแบบพื้นบ้านต่อไป

6.  ระยะกกลูกไก่ 3 สัปดาห์ ทำวัคซีนได้ถึง 4 ครั้ง (ถ้าปล่อยให้แม่กกและเลี้ยงเองตามธรรมชาติรับรองว่าจับทำวัคซีนได้ไม่ครบ)

7.  ลูกไก่ระยะกก ควรดูแลให้ความอบอุ่น น้ำและอาหารอย่าให้ขาด

8.  รังไข่สำหรับแม่ไก่ ควรมีจำนวนพอเพียงกับแม่ไก่ รังต้องสะอาด บางครั้งถ้าใช้ใบตระไคร้หรือเศษใบยาสูบตากแห้งรองรังไข่จะไม่มีไรไก่รบกวน

9.  คอกไก่ควรทำความสะอาดอยู่เสมอ และพ่นยากำจัดไรที่พื้นคอกเป็นประจำเดือนละครั้ง

10. แม่ไก่ที่ให้ไข่และฟักไข่เกิน 4 รุ่นแล้ว ควรคัดออกไป ใช้แม่ไก่ใหม่แทน เพราะแม่ไก่แก่เกินไป ผลผลิตที่ได้ไม่ดีเท่าแม่ไก่รุ่นใหม่

โรงเรือนไก่พื้นเมือง

โรงเรือนนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกที่ควรคำนึงถึง แบบของโรงเรือนควรเป็นแบบที่สามารถทำได้ง่าย สะดวก ราคาค่อนข้างต่ำ เพราะทำจากวัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะสร้างโรงเรือนแบบใด ต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1. ระบายอากาศร้อนได้ อากาศถ่ายเทสะดวก กันลมโกรก และกันฝนสาดได้ดี

2. อากาศในโรงเรือนควรเย็นสบาย ไม่อับชื้น

3. สร้างง่าย ประหยัดเงิน

4. ทำความสะอาดง่าย ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคได้ทั่วถึง

5. สะดวกต่อการเข้าไปปฏิบัติดูแลไก่

ข้อแนะนำในการสร้างโรงเรือน

1. ควรใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ต้นกลมขนาดเล็ก แกลบ ทราย

2. คอกไก่ควรแยกห่างจากตัวบ้านเรือน

3. โรงเรือนมีฝาทั้ง 4 ด้าน ใช้ไม้กั้นห่างกัน 1 นิ้ว หลังคา อาจมุงด้วยหญ้าแฝก ตองตึง และหญ้าคา เทลาดประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส ประตูคนเข้าควรกว้างและสูงให้ผู้เลี้ยงเข้าออกได้สะดวก พื้นโรงเรือนถ้าเป็นคอนกรีตจะทำความสะอาดง่าย ถ้าเป็นพื้นธรรมดาควรถมด้วยทรายหรือดินให้มีระดับสูงกว่าธรรมดา 10 เซนติเมตร ป้องกันน้ำท่วม แล้วรองพื้นด้วยแกลบ ขี้เลื่อย เปลือกถั่ว หรือฟางสับ หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร

4. คอนสำหรับไก่นอน ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้ระแนง จัดเป็นคู่ห่างกัน 1 นิ้ว สูงจากพื้น 1-1.5 เซนติเมตร

5. รังนอนกกลูกของแม่ไก่ควรสูงจากพื้น 40-50 เซนติเมตร ส่วนรังวางไข่ควรอยู่ห่างจากคอนนอนและอยู่ตรงข้ามกัน เพื่อป้องกันไก่ที่ออกไข่ไปนอน และควรทำให้ครบจำนวนแม่ไก่เพื่อป้องกันการแย่งวางไข่

6. บริเวณรอบนอกเล้าไก่ควรทำรั้วกั้นรอบบริเวณ โดยใช้ไม้ไผ่ตีระแนง

7. หมั่นตรวจดูรังฟักอยู่เสมอว่ามีตัวหมัด เหา ไร หรือไม่ หากมีให้เผาไฟเสียป้องกันไม่ให้มันแพร่พันธุ์ต่อไป เพราะไรเป็นศัตรูสำคัญในการบั่นทอนสุขภาพของไก่ หากมีเหา ไรเหลืออยู่ในรัง เมื่อลูกไก่กะเทาะเปลือกออกมา จะถูกตัวเหา ไรกัดกินเลือด ทำให้ลูกไก่เสียสุขภาพไปตั้งแต่ยังเล็กๆ ฉะนั้นขอให้ระวังเรื่องนี้ให้จงหนัก

8. หมั่น ในหน้าร้อน (มีนาคม-เมษายน) แม่ไก่มักจะฟักไข่ออกไม่ดี ควรทำการพ่นน้ำที่ฟักไข่เมื่อแม่ไก่ฟักไข่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ พ่นเช้า-บ่าย จะช่วยทำให้ไข่ฟักออกได้มากขึ้น

แนวทางการเพิ่มผลผลิต

1. ควรคัดเลือกตัวไก่ที่จะนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ โดย 

- คัดพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี เช่น ทรวงอกกว้าง สีเหลืองเข้ม และลึก สง่างาม ดวงตาสดใสเป็นประกาย ขนดกมันงาม แข็งแรง คล่องแคล่วว่องไว เป็นต้น

- ใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ในช่วงอายุที่เหมาะสม ไม่หนุ่มหรือแก่จนเกินไป

- แลกเปลี่ยนหรือซื้อหาพ่อไก่ระหว่างหมู่บ้าน ตำบล ฯลฯ เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด

2. จัดการให้แม่ไก่ฟักไข่และได้ลูกไก่ออกมาเป็นรุ่นพร้อมๆ กัน กระทำได้โดย

- ไม่ให้แม่ไก่ฟักไข่ช่วงหน้าร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ของทุกๆ ปี ไข่ที่ได้ในช่วงนี้ให้นำไปบริโภคหรือจำหน่าย หากแม่ไก่มีพฤติกรรมอยากฟักไข่ ให้นำไปจุ่มน้ำเปียกถึงผิวหนังชุ่มทั้งตัว

- แยกลูกไก่ออกจากแม่เมื่อลูกไก่มีอายุ 7-14 วัน โดยกระทำพร้อมกันหรือไล่เลี่ยทุกแม่ จากนั้นนำแม่ไก่ไปขังรวมกัน และกำหนดตัวพ่อพันธุ์สำหรับใช้ผสมพันธุ์ในแต่ละรุ่น ส่วนลูกไก่นำไปเลี้ยงอย่างดี พร้อมให้อาหารเสริม

- แม่ไก่ที่ขังรวมกันจะเริ่มไข่ใหม่และไข่ในเวลาใกล้เคียงกัน การจัดการโดยการจับแม่ไก่ไปจุ่มน้ำให้เปียกถึงผิวหนังชุ่มทั้งตัว เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยลดพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของแม่ไก่ และช่วยให้ไข่ชุดใหม่เร็วขึ้น ทั้งนี้ควรให้อาหารเสริมร่วมด้วย

- เมื่อแยกลูกไก่ทุกๆ รุ่นจากแม่ไก่ทุกแม่เช่นนี้ตลอดไป จะได้ลูกไก่ออกมาเป็นรุ่นๆ มีปริมาณมากพอที่จะทำวัคซีนแต่ละครั้ง สะดวกต่อการให้อาหารเสริม และใช้ยาควบคุมหรือป้องกันโรคได้ เมื่อคำนวณคร่าวๆ จะได้ลูกไก่ 7 รุ่น/แม่/ปี หรือประมาณ 70 ตัว/แม่/ปี ซึ่งไม่นับรวมกับไข่ที่นำไปบริโภคหรือจำหน่ายในช่วงฤดูร้อ

3. ทำวัคซีนป้องกันโรคตามอายุไก่ เช่น นิวคาสเซิล ฝีดาษ อหิวาต์ โดยให้ถูกต้องทั้งชนิดของวัคซีน ความรุนแรงของเชื้อ และวิธีการทำวัคซีน

4. ถ่ายพยาธิกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง และควรกำจัดหรือทำลายต้นตอของพยาธิภายนอก เช่น หมัด ไร เห็บ ฯลฯ ทุกครั้งที่พบ

วงจรการผลิตไก่พื้นเมือง

ปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

  1. ปัญหาด้านผลผลิตต่ำ มีสาเหตุมาจาก
  2. - ไม่มีการคัดเลือกพันธุ์พ่อแม่ ปล่อยให้ผสมเองตามธรรมชาติ สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ไม่ดีต่อเนื่อง
  3. - การผสมแบบเลือดชิด คือ ผสมระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือพี่กับน้อง เป็นต้น มีผลให้สมรรถภาพการผลิตและการสืบพันธุ์ของไก่รุ่นถัดมาต่ำลง
  4. - ใช้พ่อไก่คุมฝูงนานเกินไป ก่อให้เกิดอัตราการผสมแบบเลือดชิดเร็วยิ่งขึ้น และคุณภาพของน้ำเชื้อพ่อไก่เลวลง จำนวนลูกไก่ที่เกิดจึงมีน้อย
  5. - ใช้แม่ไก่ทำพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย และปล่อยให้ขยายพันธุ์นานเกินไป
  6. - อัตราการไข่และการฟักออกเป็นตัวในช่วงหน้าร้อนต่ำมาก ผู้เลี้ยงมิได้ให้ความสนใจและจัดการดูแลเพิ่มเติม
  7. - ไม่มีการให้อาหารเสริม โดยเฉพาะช่วงแม่ไก่ก่อนออกไข่ และลูกไก่ระยะแรก จึงเกิดความสูญเสียกับลูกไก่จำนวนมาก
  8. - แม่ไก่เลี้ยงลูกนานเกินไป ทำให้ได้จำนวนรุ่นของลูกไก่ต่อปีน้อย
  9. ปัญหาด้านอัตราการตาย มีสาเหตุมาจาก
  10. 2.1 ไก่เจริญเติบโตดี แต่ยังมีการตายเกิดขึ้น อาจเนื่องจาก
  11. - ไม่มีการทำวัคซีน
  12. - ทำวัคซีนไม่ต่อเนื่อง
  13. - ชนิดของวัคซีนไม่เหมาะกับอายุไก่
  14. - ทำวัคซีนไม่ถูกเวลา ตัวไก่ไม่พร้อมต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ในช่วงไก่อ่อนแอ หรือขาดอาหาร เป็นต้น
  15. - เก็บรักษาวัคซีนไม่ดี ทำให้เสื่อมคุณภาพ หรือวัคซีนหมดอายุ
  16. - ไม่มีการให้ยาหรือสุขาภิบาลไก่เริ่มป่วย

2.2 ไก่มีการเจริญเติบโตไม่ดี แคระแกร็น และตายในที่สุด อาจมีสาเหตุจาก

- อาหารตามธรรมชาติขาดแคลน และไม่มีการให้อาหารเสริม

- มีตัวเบียนรบกวน ทั้งภายในและภายนอก

- ผลจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดที่ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน