องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานบนพื้นที่สูง

การเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรบนพื้นที่สูงในหลายพื้นที่จะเป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม โดยชนิดสัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ ไก่ สุกร โค กระบือ รวมไปถึงการเลี้ยงปลาหรือกบในบ่อน้ำที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว เกษตรกรมักจะเลี้ยงร่วมกับการทำการเกษตรอื่นๆ ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงแบบง่ายๆ บางรายเลี้ยงแบบปล่อย บางรายเลี้ยงแบบสร้างโรงเรือนให้สัตว์และแบ่งสัดส่วนสัตว์แต่ละชนิดไว้อย่างชัดเจน โครงการศึกษาและพัฒนารูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานที่เหมาะสมกับบริบทบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ทำการศึกษารูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงโดยการศึกษาพบว่ามีรูปแบบที่เหมาะสมสามารถใช้เลี้ยงในแต่ละพื้นที่ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบที่ 1 การเลี้ยงไก่เนื้อ+สุกร+ไก่ไข่ ไก่เนื้อโดยใช้ลูกไก่อายุ 1 วัน จำนวน 50 ตัว สำหรับสุกร ใช้ลูกสุกรหย่านมจำนวน 3 ตัว และไก่ไข่สาว อายุ 20 สัปดาห์ จำนวน 30 ตัว

รูปแบบที่ 2 การเลี้ยงไก่ไข่+สุกร+ปลาหรือกบ โดยใช้ไก่ไข่สาวอายุ 20 สัปดาห์ จำนวน 30 ตัว สำหรับสุกรใช้ลูกสุกรหย่านมจำนวน 3 ตัว และปลา จำนวน 500 ตัว

*หมายเหตุสายพันธุ์สัตว์ 1. ไก่เนื้อ สายพันธุ์ลูกผสมสามสาย 2. สุกร สายพันธุ์ลูกผสม สุกรดำหรือขาวแล้วแต่ความต้องการของพื้นที่ 3.ไก่ไข่สายพันธุ์ทางการค้าไข่เปลือกสีน้ำตาล 4. ปลา สายพันธุ์บิ๊กอุย      5.กบ สายพันธุ์พื้นเมือง

ซึ่งการเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้รายวันจากการขายไข่ในชุมชน และนำมาบริโภคในครัวเรือน โดยเฉลี่ยแม่ไก่จะให้ไข่อยู่ในช่วง 50-95% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโภชนะจากอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ขณะที่การเลี้ยงไก่เนื้อ รายละ 50 ตัวพบว่าที่อายุไก่ 16 สัปดาห์มีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 1,300 กรัม/ตัว อัตราการเติบต่อเฉลี่ยต่อตัวต่อวัน เท่ากับ 10.13 กรัม/ตัว/วัน อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวเท่ากับ 4.68 ขายได้ กิโลกรัมละ 120-150 บาท และส่วนหนึ่งนำมาบริโภคในครัวเรือนได้ โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาท สำหรับการเลี้ยงสุกร พบว่า การเลี้ยงสุกรระยะเวลา 4 เดือน อัตราการเติบต่อเฉลี่ยต่อตัวต่อวัน เท่ากับ 0.62 กก./ตัว/วัน อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวเท่ากับ 2.48 มีรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายสุกรมีชีวิต 3,000-5,000 บาทต่อตัว โดยเกษตรกรจะเลี้ยงไว้ใช้ประโยชน์ต่างกันในแต่ละพื้นที่ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ การเลี้ยงปลาดุก ระยะเวลา  3 เดือนสามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารในครัวเรือนและขายในพื้นที่ กิโลกรัมละ  60-80 บาท

   โดยสัตว์แต่ละชนิดสามารถเริ่มเลี้ยงได้ในทุกเดือน ซึ่งการเลี้ยงจะสิ้นสุดตามระยะเวลาจากเดือนที่เริ่มเลี้ยง แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเลี้ยงไก่เนื้อควรจะเลี่ยงการเลี้ยงในช่วงที่ฝนตกหนัก โดยเมื่อเลี้ยงรุ่นแรกแล้วให้มีการพักเล้าเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคและตัดวงจรการสะสมของเชื้อโรคในโรงเรือนก่อนนำรุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง เช่นเดียวกับสุกร ในขณะที่การเลี้ยงไก่ไข่ สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ต่างกับการเลี้ยงปลาและกบที่ควรคำนึงถึงฤดูการเช่นเดียวกัน เนื่องจากในฤดูหนาวกบจะมีการเจริญเติบโตค่อนข้างต่ำและมีอัตราการสูญเสียสูง ดังนั้นจึงไม่นิยมเลี้ยงกบในฤดูหนาวมากเท่าไหร่

ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆสามารถนำรูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ ชนิดสัตว์ ซึ่งนอกจากเกษตรกรมีรายได้เพิ่มทั้งรายวัน รายเดือนและรายปี อีกทั้งยังมีอาหารโปรตีนไว้บริโภคในครัวเรือน รวมถึงสามารถใช้ปุ๋ยคอกจากการเลี้ยงสัตว์มาใช้ประโยชน์หมุนเวียนภายในระบบ เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รองรับความเสี่ยงจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง BCG Model ได้อีกด้วย