องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ระบบเกษตรผสมผสาน เพียงหนึ่งคนทำงาน หมุนเวียนปัจจัยใช้เวลาคุ้มค่า

“เกษตรผสมผสาน เป็นระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมแต่ละชนิดเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร ก่อให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบฟาร์ม ประโยชน์ คือ ช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ การเกิดโรคพืชและศัตรูพืชระบาด ลดความผันแปรของราคาผลผลิต ลดรายจ่ายภายในครัวเรือนและการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก” (สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

นางอำภา นาเมือง เกษตรกรหญิงวัย 62 ปี ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกข้าวโพด 10 ไร่ มาเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการทำงานหนักปรับเวลางานเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ดูแลสุขภาพ และอยู่กับครอบครัว หันมาปลูกพืชผักอินทรีย์ควบคู่ไปกับการเลี้ยงหมูหลุมและทำสวนผลไม้เล็กๆ ใช้ประโยชน์จากของเหลือในการปลูกผักอินทรีย์และเลี้ยงหมูหลุม จนกลายเป็นระบบหมุนเวียนปัจจัยการผลิต ลดค่าอาหารหมูและได้วัสดุปลูกผักที่ดีจากคอกหมูเป็นวงจรการผลิตที่เกิดประโยชน์สูงสุด 

  • ใช้เศษพืชผักอินทรีย์เป็นส่วนประกอบหลักในสูตรอาหารหมู
  • เพิ่มความสมบูรณ์ของดินให้พืชด้วยมูลและวัสดุรองก้นหลุมหมู
  • ทำการผลิตภายใต้มาตรฐานอินทรีย์และมาตรฐานโครงการหลวง (RPF)

การบริหารจัดการระบบเกษตรอินทรีย์  ด้วย 1 คนทำงาน

จากข้าวโพดสู่ระบบเกษตรแบบผสมผสานที่มีพืชผักอินทรีย์ในโรงเรือนเป็นรายได้หลักเสริมด้วยหมูหลุมและไม้ผล

  • จัดการคอกหมูขนาดเริ่มต้น 2 ตัว ในพื้นที่ 6-10 ตารางเมตร
  • ปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนและแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ 0.25 ไร่
  • ดูแลแปลงไม้ผล 4 ไร่ ได้อย่างทั่วถึง

ใช้เวลา 7 ชั่วโมง/วัน 

วางแผนการทำงานเป็นกิจวัตรเช้าถึงเย็น (8.00-11.00 น. และ 15.00-17.00 น.) 

  • เปิดระบบน้ำในตอนเช้า ในแปลงผัก 15-30 นาที/วัน ก่อนให้อาหารหมู
  • เตรียมอาหารให้หมูเช้าและเย็น 30 นาที/วัน 
  • ตรวจเช็คแมลง ถอนหญ้า บำรุงต้นผักในโรงเรือน 2-3 ชั่วโมง/วัน
  • เก็บเกี่ยวผัก และขนย้ายไปตัดแต่งที่โรงคัดบรรจุ 2-3 ชั่วโมง ทุกๆ 45-50 วัน
  • แบ่งเวลาว่างจากงานในโรงเรือนดูแลแปลงไม้ผลช่วงเช้าและเย็น (ช่วงแดดร่ม)

ผลตอบแทนต่อปี

ปี 2566 เกษตรกรใช้เงินทุนหมุนเวียน 19,300 บาท สร้างรายได้  126,000 บาท

 ผักอินทรีย์ 2 โรงเรือน รอบอายุเก็บเกี่ยวทุกๆ 50-75 วัน             70,000 บาท

 ไม้ผล (ส้ม คิดเป็น 60% ของผลผลิตทั้งสวน)                           50,000 บาท

 ลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยรองคอกหมูคิดเป็นรายได้เพิ่ม                        3,000 บาท

 ลดค่าใช้จ่ายจากเศษผักที่เหลือจากการตัดแต่งคิดเป็นรายได้เพิ่ม        3,000 บาท

จากระบบเกษตรเล็กๆ สู่ฐานรายได้และเงินออม

หากคิดค่าแรงงานตนเองในการบริหารจัดการงานทั้งระบบ ปีละ 72,000 บาท

หักต้นทุนหมุนเวียนในรอบปี เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ หรือ เงินออม 34,700 บาท/ปี


ข้อมูลอ้างอิง

  • บทความ..ปศุสัตว์อินทรีย์บนพื้นที่สูง...โดย สุคีพ และนริศรา (2565) https://hkm.hrdi.or.th/Knowledge/detail/548
  • ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นางอำภา นาเมือง ผู้นำเกษตรกรบ้านปางหินฝน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : ณฐภัทร สุวรรณโฉม นักวิจัย สำนักวิจัย และ นพดล ดำรงกาญจนกุล หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน สำนักพัฒนา
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน