องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แอสเทอร์

ชื่อวิทยาศาสตร์    Aster sp.

ชื่อสามัญ      แอสเทอร์ (Aster)

พืชในสกุล Aster มีอยู่ด้วยกัน 600 species จัดอยู่ในวงศ์ Asteraceae คำว่า แอสเทอร์ มาจากภาษากรีกที่แปลว่า star เนื่องจากดอกมีลักษณะแบบ head กลีบดอกกระจายออกไปคล้ายดาว แอสเทอร์มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น Starworts, Michaelmas daisies หรือ Frost flowers แอสเทอร์ส่วนใหญ่พบทางตอนเหนือของอเมริกา บางชนิดพบไปถึงทางตอนใต้ของอเมริกา ยุโรปและชีย แต่พบมากที่สุดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประทศสหรัฐอเมริกา และบริเวณใกล้เคียงกับประทศแคนดานา ซึ่งพบมากกว่า 65 ชนิด

แอสเทอร์เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ใบมีขนาดเล็ก แอสเทอร์ส่วนใหญ่เป็นพืชหลายฤดูมีเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้นที่เป็นพืชล้มลุกหรือพวก biannials แอสเทอร์ 1 ดอกประกอบด้วยใจกลางดอกที่มีขนาดเล็กสีเหลือง บางครั้งก็มีสีส้ม ม่วง หรือขาว เรียกว่า tubular flower ส่วนกลีบดอกรอบๆที่บานออกมามีสีต่างๆ เรียกว่า ray flower มีตั้งแต่สีน้ำเงิน ม่วงซึ่งมีหลายเฉดสี แดง ชมพู หรือขาว แต่ ray flower ไม่มีสีเหลือง tubular flower เป็นดอกที่มี 2 เพศ คือมีทั้ง pistil และ stamens ส่วน ray flower เป็นหมัน

แอสเทอร์พันธุ์ป่าทางตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ Aster sagittfolius มีลักษณะใบเหมือนลูกศร A. cordifloius เป็นแอสเทอร์ที่มีดอกสีน้ำเงิน และ A. shortii เป็น Short s aster แอสเทอร์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ A. pilosus เป็นแอสเทอร์ที่มีขน A. novae-angliae เป็นแอสเทอร์พันธุ์ใหม่ของประเทศอังกฤษ และ A. ericoides เป็นแอสเทอร์ประเภทไม้พุ่ม ส่วนแอสเทอร์ที่มีหนามเจริญเติบโตอยู่ในทะเลทราย แอสเทอร์สามารถนำมาใช้เป็นประดับแปลงหลายชนิดเป็นลูกผสม และนิยมปลูกกันมาก China sater (Callistephus cinensis) เป็นพีชในกลุ่ม Compositae ซึ่งมีความใกล้ชิดกับแอสเทอร์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เป็นพืชล้มลุกมักออกดอกช่วงปลายฤดูร้อนดอกมีขนาดใหญ่ถึง 13 เซนติเมตร

ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีศูนย์ฯ และสถานีฯ ทั้งหมด 36 ศูนย์ แต่ละศูนย์ฯมีสภาพพื้นที่ต่างกัน จึงต้องคัดเลือกไม้ดอกให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะส่งเสริม เพื่อปลูกไม้ดอกให้มีคุณภาพดีและมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยเฉพาะพื้นที่ต่ำ เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 500 เมตร ได้ส่งเสริมปลูกดอกเบญจมาศเป็นหลักแต่สามารถผลิตได้เฉพาะในฤดูหนาว ดังนั้นจังสั่งซื้อพันธุ์ดอกแอสเทอร์จากบริษัท Denziger ประเทศอิสราเอลมาปลูกทดสอบและนำออกสู่งานส่งเสิมเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร และเพิ่มความหลากหลายของชิดไม้ดอกมูลนิธิโครงการหลวง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ศูนย์ฯห้วยลึก ส่งเสริมการปลูกดอกแอสเทอร์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม และเริ่มตัดดอกตั้งแต่เดือนสิงหาคม-มีนาคม ซึ่งจะได้ดอกที่มีคุณภาพดีโดยช่วงเดือนดังกล่าวมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 93 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากตัดดอกในเดือนเมษายนสภาพอากาศร้อนจะทำให้ดอกแอสเทอร์มีคุณภาพลดลงไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แอสเทอร์ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ชื้นหรือแฉะและต้องการแสงมากในช่วงการเจริญเติบโต

การตลาด

ดอกแอสเทอร์เป็นไม้แซมที่ใช้ในการจัดร่วมกับดอกไม้ชนิดอื่น เช่น ดอกเบญจมาศ กุหลาบ ดังนั้นความต้องการของตลาดจึงไม่มากเท่าที่ควร การขยายงานส่งเสริมจึงจำกัดปริมาณให้ได้ตามที่ตลาดต้องการเท่านั้น แต่ดอกแอสเทอร์ยังคงสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจให้กับเกษตรกร

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ดอกแอสเทอร์สามารถทำได้หลายวิธี คือ เพาะเมล็ด แยกกอ และการปักชำ ในงานส่งเสริมปลูกดอกแอสเทอร์ของศูนย์ ห้วยลึก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหน่อเนื่องจากได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีขั้นตอนในการผลิตดังนี้

การผลิตแม่พันธุ์

แยกกอหรือตัดหน่อไปชำจากต้นแม่พันธุ์เดิมที่ปราศจากโรคและแมลง หลังจากออกรากนำมาปลูกลงกระถางประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ต้นมีความแข็งแรง แล้วนำลงปลูกในโรงเรือนพลาสติก เพื่อป้องกันฝนและเพื่อให้ได้หน่อที่มีคุณภาพ และทำการเด็ดยอดเพื่อให้แตกหน่อใหม่ หลังจากปลูกแม่พันธุ์ 1 เดือน จึงเด็ดหน่อใหม่ที่แตกออกมาไปชำเพื่อปลูกตัดดอกต่อไป

การปักชำ

- ใช้กรรไกรตัดหน่อที่แตกออกมาใหม่ของต้นแม่พันธุ์ มาริดใบออกให้เหลือ 3-5 ใบ ไม่รวมยอด ทั้งนี้หน่อที่จะนำมาปักชำต้องมียอดทุกหน่อ แล้วตัดปลายใบทิ้ง 1 ใน 3 ส่วน เพื่อลดการคายน้ำ ตัดโคนหน่อส่วนที่แข็งออกจุมด้วยฮอร์โมนเร่งราก แล้วนำไปแช่

- วัสดุชำประกอบด้วยทราย และขุยมะพร้าวหรือขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1ต่อ 1 ผสมให้เข้ากัน

- ใส่วัสดุชำที่ผสมแล้วในถาดหลุม นำหน่อที่เตรียมไว้ปักชำลงในถาดหลุมลุกประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วนำไปวางบนชั้นในโรงเรือนที่มีระบบน้ำฝอย และซาแรนพรางแสงเพื่อลดการคายน้ำ

- หลังจากชำประมาณ 15 วัน กิ่งชำจึงออกรากและพร้อมที่จะนำไปปลูกเพื่อตัดดอก

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก 

การเตรียมแปลงปลูก

หลังจากไถพลิกหน้าดินตากแดดแล้ว จึงใส่วัสดุปรุงดินประกอบด้วยเปลือกข้าว ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอย่างละ 1 ปี๊บ ต่อ 1 ตารางเมตร และปุ๋ยรองพื้น (0-46-0) ปริมาณ 5-10 กิโลกรัมต่อ 100 ตารางเมตร แล้วไถพรวนอีกครั้ง การส่งเสริมของศูนย์ฯ ห้วยลึก ได้ส่งเสริมปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน การปลูกดอกแอสเทอร์เพื่อตัดแต่งดอกเป็นการปลูกนอกโรงเรือน ประกอบกับดินเป็นดินเหนียว ดังนั้นต้องมีการยกแปลงเพื่อช่วยระบายน้ำไม่ให้น้ำขังในแปลงปลูก อันเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดโรคของต้น โดยแปลงปลูกมีความกว้าง 1 เมตร ความยาวตามความเหมาะสมพื้นที่ปลูกของเกษตรกรแต่ละราย

เทคนิคและวิธีการปลูก

ระยะปลูกดอกแอสเทอร์ คือ 30x30 เซนติเมตร โดย 1 ตารางเมตร สามารถปลูกได้ 16 ต้น ก่อนปลูกควรขึงซาแรนพรางแสง 50-60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดความร้อนของแสง ทำให้ต้นกล้าสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้นประมาณ 7 วัน หลังปลูกต้นกล้าจะตั้งตัวได้จึงนำซาแรนออกปลูกโดยขุดหลุมแล้วถอนต้นกล้าที่ชำไว้ออกจากหลุม ระวังอย่าให้วัสดุชำแตกเพราะจะทำให้ต้นกล้าตั้งตัวช้า นำต้นกล้าที่ชำไว้ออกจากถาดหลุมที่เตรียมไว้ ความลึกในการปลูกให้เท่ากับระดับของวัสดุชำในถาดหลุม ถ้าหากปลูกลึกเกินไปจะทำให้ต้นกล้าเน่าได้ง่าย และถ้าหากปลูกตื้นเกิดไปจะทำให้ต้นกล้าล้ม แล้วรดน้ำให้ดินกระชับโคนต้น

การดูแลรักษา 

การจัดการหลังการปลูก

- หลังจากปลูกแล้ว 1 เดือน จึงเด็ดยอดเพื่อให้แตกหน่อใหม่

- เมื่อหน่อยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ให้เลือกหน่อที่สมบูรณ์ไว้ 2-4 หน่อต่อต้นที่เหลือให้ตัดทิ้ง เพื่อความสมบูรณ์ของต้นและช่อดอก

- หลังจากแตกหน่อแล้วเริ่มให้ไฟ เพื่อให้หน่อใหม่ยืดยาวกลายเป็นช่อดอกโดยให้ไฟด้วยหลอดทังสเตนขนาด 100 วัตต์ ติดต่อ 3 ชั่วโมงต่อคืน เป็นเวลาประมาณ 25-30 วัน หรือจนกว่าช่อดอกจะยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จึงปิดไฟและอย่าให้มีแสงไฟส่องเข้าแปลงปลูกเนื่องจากจะทำให้ดอกแอสเทอร์ไม่บาน หลังจากปิดไฟแล้วประมาณ 20-30 วัน จะสามารถตัดอกรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากตัดดอกรุ่นที่ 1 หมด ให้ได้ตัดแต่งหน่อที่เหลือออกให้หมดโดยตัดให้โคนต้นเพื่อให้เกิดหน่อใหม่ แล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับ 4.1.2 และ4.1.3 การปลูกดอกแอสเทอร์ 1 ครั้ง จะตัดดอกได้ 2 รุ่น

การให้ปุ๋ย หลังจากปลูก 7 วัน จึงให้ปุ๋ยน้ำสูตร CMU/RPF สูตรสำหรับแอสเทอร์รด 3 ครั้ง/สัปดาห์ จนกว่าจะเห็นสีดอกจึงงดการให้ปุ๋ย

โรคและศัตรูพืช 

โรคที่สำคัฐของแอสเทอร์ที่พบมากได้แก่ โรคทางดิน

โรคโคนเน่า

เกิดจากเชื้อราในดินRhizoctonia sp., Sclerotium rofsii, Fusalium sp.

อาการ บริเวณโคนเน่าเป็นสีน้ำตาลที่ให้ต้นเหี่ยว และแห้งตาย

การป้องกันกำจัด ก่อนเตรียมแปลงปลูกควรตากดินไว้ 15-20 วัน และถ้าหากพบต้นที่เป็นโรคให้ขุดออก แล้วราดด้วยสารเคมี เช่น คาร์บอกซิน หรือเทอร์ราคลอร์-ซุปเปอร์เอ็กซ์

โรคดอกไหม้ เกิดจากเชื้อรา Botrytis sp.

อาการ ปลายใบเน่า

การป้องกัน เมื่อพบการเกิดโรคให้ใช้สารเคมี คือ บอร์โดมิกเจอร์ เอ็มแซด

แมลงที่สำคัญขอวดอกแอสเทอร์ ได้แก่ พวกหนอนกัดกินยอดในช่วงหนอ่ใหม่ และเพลี้ยไฟเข้าทำลายช่วงออกดอก

การป้องกันกำจัด โดยใช้สารเคมี เช่น พอสกรีน คอนฟิดิร์ ตามลำดับ

การให้น้ำ

เนื่องจากการปลูกดอกแอสเทอร์ เป็นการปลูกนอกโรงเรือนประกอบเป็นช่วงฤดูฝนถ้าหากฝนตกติดต่อกันหลายวัน แปลงปลูกต้องมีการระบายน้ำที่ดีเพื่อป้องกันโรคเน่าเนื่องจากมีน้ำหนักมากเกินไป ถ้าหากฝนไม่ตกการให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอและทั้งแปลงปลูก

การเก็บเกี่ยว 

ระยะการเก็บเกี่ยวและเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว

ตัดดอกเมื่อดอกย่อยบานประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ก่อนการตัดดอกควรรดน้ำแล้วรอให้ใบและดอกแห้งเสียก่อนจึงค่อยตัดดอก ถ้าหากดอกเบียกน้ำเมื่อนำไปเข้ากำอาจทำให้ใบ และดอกเน่าได้ การตัดดอกควรตัดช่วงที่อากาศไม่ร้อน เพื่อดอกจะได้ไม่เหี่ยวเนื่องจากการคายน้ำมาก

วิธีการเก็บเกี่ยว

1. การตัดดอกควรตัดให้ชิดโคนต้น

2. นำดอกที่ตัดแล้วมารูดใบล่างออก 15-20 เซนติเมตร ป้องกันใบล่างเน่าเมื่อแช่น้ำยา ยืดอายุดอกไม้หรือน้ำ

3. คัดแยกดอกตามเกรด โดยเข้ากำๆละ 10 ก้าน ตัดดอกที่เป็นเนื้อไม้ออกอีกประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อให้ก้านดอกสามารถดูดน้ำยายืดอายุอกไม้หรือน้ำได้ดี แล้วรัดด้วยยางรัดใส่ลงในถุงพลาสติกแล้วนำไปแช่ในน้ำยาเพื่อยืดอายุดอกไม้

สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว

การตัดดอกควรตัดขณะที่อากาศไม่ร้อน คือ ช่วงเช้าหรือเย็น ถ้าหากดอกบานในช่วงที่มีอากาศร้อนควรใส่ซาแรนเพื่อลดความร้อนจากแสงแดด หลังจากตัดดอกควรคัดบรรจุและแช่ในน้ำยายืดอายุดอกไม้โดยเร็ว เพื่อดอกจะได้มีอายุการใช้งานที่นาน

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 

น้ำยายืดอายุดอกไม้ของแอสเทอร์ ประกอบด้วย

1. เกลือเงินไนเตรทเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/ลิตร

2. กรดซิตริก 75 มิลลิกรัม/ลิตร

3. น้ำตาลซูโครส 100 มิลลิกรัม/ลิตร

หลังจากเข้ากำดอกแอสเทอร์แล้วให้รับนำดอกแช่ในน้ำยายืดอายุดอกไม้ทันที จากนั้นนำเข้าห้องเย็นที่อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่งโมงก่อนส่งจำหน่าย ถ้าหากยังไม่ส่งจำหน่าย ให้เปลี่ยนน้ำยาเป็นน้ำสะอาด เก็บไว้ในห้องเย็นรอส่งจำหน่าย


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.