องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

คาร์เนชั่น

ชื่อสามัญ     Carnation

ชื่อวิทยาศาสตร์  Dianthus caryophyllus

คาร์เนชั่น จัดอยู่ในวงศ์ Caryophyllaceae และเป็นพืชยืนต้นที่มีชีวิตยาวนานหลายฤดู (perennial) คาร์เนชั่นมีลำต้นแตกเป็นพุ่ม กิ่งก้านยาว ต้องมีการพยุงต้นจึงทำให้ก้านดอกตรง ใบของคาร์เนชั่นเรียวยาว มีสีเขียวอมฟ้า ปลายใบแหลมขอบใบเรียบและไม่มีก้านใบ ใบเกิดเป็นคู่โอบรอบข้อ ดอกมีกลีบยาว กลีบดอกเรียงซ้อนกันแน่นโดยมีกลีบรองดอก (calyx) สีเขียวรูปกรวยโอบรัดโคนกลีบไว้ ก้านดอกกลมเรียบหักออกได้ง่าย ข้อตรง คาร์เนชั่นมีสีต่างๆ กลิ่นหอมและบานทน

สายพันธุ์

มูลนิธิโครงการหลวงได้นำพันธุ์พืชคาร์เนชั่นนำเข้าจากบริษัท SHEMI ประเทศอิสราเอล จำนวน 8 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มดอกเดี่ยว คือ Leopardi (สีแดง) Omeggio (สีชมพู) Casper (สีขาว) และ Sahara (สีเหลือง) ส่วนในกลุ่มดอกช่อมีพันธุ์ Poker (สีแดง) Splendid (สีชมพู) Whiter Ashley (สีขาว) และ Lior (สีเหลือง)

สถานที่ผลิตคาร์เนชั่น

หน่วยงานคาร์เนชั่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,450 เมตร

การขยายพันธุ์และการผลิตคาร์เนชั่นตัดดอก

1. การปักชำ นำกิ่งที่ได้ทำการจุ่มสารเร่งรากเช่น เซราดิกซ์ เบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 นำไปปักชำในวัสดุชำ คือ ทราย : ขี้เถ้าแกลบ ในอัตรา 1 : 1 โดยปักชำในถาดหลุมแล้ว นำไปไว้ในโรงพ่นหมอก ใช้สารเคมีป้องกันเชื้อราราด หลังจากนั้นอีก 25 วัน กิ่งชำเริ่มออกรากให้ถอนจากถาดหลุมนำไปปลูกลงแปลงปลูก

2. การเตรียมแปลงปลูก โดยมีส่วนผสมของวัสดุปลูก คือ เปลือกข้าวเก่า : ดิน : ทรายหยาบ อัตราส่วน 2 : 1 : 1 ก่อนทำการปลูกให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา ใส่ในแปลงก่อนปลูกประมาณ 7 วัน

3. การปลูก ทำการปลูกคาร์เนชั่น โดยใช้ระยะปลูก 20 x 20 เซนติเมตร การปลูกไม่ควรให้ลึกเกินไป ซึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการผลิตต้นพันธุ์

การเตรียมพื้นที่และการปลูก

1. ส่วนผสมของวัสดุปลูก มีเปลือกข้าวเก่า : ดิน : ทรายหยาบ อัตราส่วน 2 : 2: 1 และอบดินฆ่าเชื้อโรคด้วยไอน้ำ

2. การเตรียมต้นแม่พันธุ์คาร์เนชั่น นำกิ่งชำที่มีรากปลูกโดยใช้ระยะปลูก 20 x 20 เซนติเมตร การปลูกต้องไม่ปลูกลึกจนเกินไป โดยให้ใบคู่ล่างสุดอยู่ชิดกับระดับผิวดิน หลังจากปลูก 7-10 วัน โดยให้ปุ๋ยยูเรียอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร รดต้นพืชสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งข้าง เมื่อต้นมีอายุได้ 10 สัปดาห์ (2 เดือนครึ่ง) เริ่มเก็บเกี่ยวกิ่งชำไปปักชำโดยเลือกกิ่งที่มีความสมบูรณ์หลังจากเก็บให้พ่นสารป้องกันเชื้อรา

3. การเก็บเกี่ยวและการปักชำ

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ย

หลังจากการปลูกให้ปุ๋ยยูเรียอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร สลับกับการใช้ปุ๋ยน้ำของงานไม้ดอก อัตราส่วนปุ๋ย A และปุ๋ย B อย่างละ 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร

ตารางที่ 1 อัตราการใช้ปุ๋ย/น้ำ 20 ลิตร (ถัง A) น้ำ 20 ลิตร (ถัง B)

 ปุ๋ย                         ถัง A            ถัง B

โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (11-60-0)    40 กรัม           - 

แคลเซียมไนเตรท (15-0-0)            -             100 กรัม

โปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46)       50 กรัม           50 กรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO47H2O)     25 กรัม           - 

ยูนิเลท                      25 กรัม           

การเด็ดยอด

หลังจากการปลูกประมาณ 3-4 สัปดาห์ (1 เดือน) ให้เด็ดยอดออก โดยเหลือคู่ใบ 3-4 คู่ ใบติดอยู่กับต้น

การพยุงต้น

โดยใส่ตาข่ายไนล่อนขนาดช่องตาข่าย 4x4 นิ้ว โดยใส่ประคองความสูงทุกๆ 20 เซนติเมตร

การเด็ดดอกข้าง

หลังจากปลูก เมื่อคาร์เนชั่นเริ่มให้ดอก ถ้าเป็นสายพันธุ์ดอกเดี่ยวให้ทำการเด็ดดอกข้างออกให้หมด เหลือเพียงดอกบนสุดของก้านดอก ส่วนในดอกช่อให้เด็ดดอกกลางออกให้เหลือแต่ดอกข้าง เพื่อการเจริญเติบโตเป็นช่อดอก

ปัญหาที่พบในการปลูกเลี้ยงคาร์เนชั่น

กลีบรองดอกแตก (Calyx Splitting)

อาการกลีบเขียวชั้นนอกที่หุ้มโคนกลีบดอกแตก ทำให้กลีบดอก

โรคและศัตรูพืช

โรคใบจุด (Alternaria leaf spot) 

อาการ ใบมีแผลวงกลมสีน้ำตาล ใบที่มีแผลใหญ่ ปลายใบจะแห้งเหี่ยว ต้นที่มีแผลบนใบมากอาจจะทำให้ใบแห้ง และต้นตายได้

การป้องกัน ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราฉีดพ่น

โรคราสนิม (Rust)

อาการตามลำต้น กิ่ง และใบ จะมีแผลปริแตกเป็นรอยยาว ภายในมีผงสีน้ำตาลแดง ซึ่งฟุ้งกระจายไปตามลมการป้องกันและกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น นูสตาร์ ซาพรอล เป็นต้น

โรคโคนเน่าและรากเน่า (Sclerotium rot)

อาการ ต้นแสดงอาการเหลือง และเหี่ยว เริ่มจากใบล่างก่อน ส่วนของลำต้นที่ติดกับดินจะมีรอยช้ำสีน้ำตาล เมื่ออาการรุนแรงจะแสดงอาการเหี่ยวทั้งต้นและตายในที่สุด

         การป้องกันและกำจัด ใช้สารเคมีเทอร์ราคลอร์ราดลงไปในดิน

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

อาการ ใบจะมีอาการด่าง ลำต้นแคระแกร็น

การป้องกันและกำจัด ไม่มีสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันและกำจัด หากพบให้ทำการขุดเผาทำลาย

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial wilt)

อาการ โรคที่ทำลายท่อน้ำ ท่ออาหารภายในต้นพืช อาการจะแสดงโดยกิ่งก้านจะเหี่ยวทีละกิ่งหรือทีละหลายกิ่ง ถ้าเป็นมากก็จะเหี่ยวในที่สุดต้นก็ตาย

การป้องกันและกำจัด คือ การทำลายต้นที่เป็นโรคโดยการเผาทิ้ง

ปัญหาเรื่องแมลง ได้แก่ เพลี้ยอ่อน ไรแดง เพลี้ยไฟ หนอนเจาะดอก หนอนก้านใบ ตั๊กแตน การป้องกันและกำจัด โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่น

การเก็บเกี่ยว

เก็บในเวลาเช้าจะได้หน่อที่สุด และกิ่งชำตั้งตัวได้เร็ว การเก็บแต่ละครั้งต้องเหลือคู่ใบเดิมไว้กับต้นแม่พันธุ์ 2-3 คู่ใบต่อกิ่ง เพื่อที่ใบจะได้สามารถสร้างหน่อใหม่ได้สมบูรณ์ดังเดิม

การจัดมาตรฐานคุณภาพ

 คาร์เนชั่นดอกเดี่ยว แบ่งเป็น 3 เกรด

             เกรด 1 เส้นผ่านศูนย์กลางดอกไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร ความยาวก้านดอก 50 เซนติเมตร

             เกรด 2 เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 6-6.9 เซนติเมตร ความยาวก้านดอก 40-49 เซนติเมตร

             เกรด 3 เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-5.9 เซนติเมตร ความยาวก้านดอก 30-39 เซนติเมตร

คาร์เนชั่นดอกช่อ แบ่งเป็น 3 เกรด

             เกรด 1 จำนวนดอกที่บานต่อช่อ 6 ดอกขึ้นไป ความยาวก้านดอก 50 เซนติเมตร ขึ้นไป

             เกรด 2 จำนวนดอกที่บานต่อช่อ 5 ดอกขึ้นไป ความยาวก้านดอก 40-49 เซนติเมตร

             เกรด 3 จำนวนดอกที่บานต่อช่อ 4 ดอกขึ้นไป ความยาวก้านดอก 30-39 เซนติเมตร

การใช้สารเคมี

หลังจากตัดดอกและทำการคัดคุณภาพแล้ว การแช่สารละลายเพื่อช่วยเร่งการบานของดอกและยืดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นสารละลายประกอบด้วยเกลือเงินไนเตรท (AgNO3) 50 มิลลิกรัม/ลิตร 8 HQC 200 มิลลิกรัม/ลิตร และน้ำตาลกลูโครส 70 กรัม/ลิตร

หลังจากคัดคุณภาพของดอกตามมาตรฐานเกรดแล้วให้ทำการเข้ากำ โดยเข้ากำละ 10 ดอก/กำ ทั้งในดอกเดี่ยวและดอกช่อ โดยใช้สำลีหุ้มปลายก้านและใส่ถุงพลาสติกใส่ขนาดพอดีกับขนาดของกำและใส่ถุง สลิปห่อหุ้มดอกไว้และแช่ในสารละลายจนครบระยะเวลา หลังจากนั้นบรรจุลงกล่องดอกขนาดสำหรับบรรจุดอกคาร์เนชั่น


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.