องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ลิ้นมังกร

ชื่อสามัญ  Snapdragon

ชื่อวิทยาศาสตร์   Antirrhinum majus

ลิ้นมังกร จัดอยู่ในวงศ์ Scrophulariaceae ซึ่ง Antirrhinum มาจากภาษากรีกแปลว่าเหมือนจมูก เนื่องจากกลีบด้านล่างดอกยกขึ้นเหมือนจมูกมังกร ถิ่นเดิมอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและอเมริกาเหนือ (นันทิยา, 2545) เนื่องจากเป็นไม้ล้มลุก (annual) โดยทั่วไปมักจะรู้จักและคุ้นเคยในภาพลักษณ์ของไม้ดอกเพื่อใช้ประดับแปลงหรือสวน ปัจจุบันไม้ดอกชนิดนี้มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ขึ้นเพื่อใช้ทำเป็นไม้ตัดดอกในประเทศแถบยุโรป และอเมริกาได้มีการนำเอาลิ้นมังกรมาใช้เป็นไม้ตัดดอกนานกว่า 5 ปีแล้ว เนื่องจากศักยภาพของพันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมทั้งลักษณะดอกที่มีรูปทรงแปลกตาหลากหลายและมีสีสันสวยสดจึงน่าจะเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นพืชที่อายุการปลูกถึงช่วงการบานดอกหรือเก็บเกี่ยวที่สั้น ขั้นตอนการดูแลรักษาไม่ซับซ้อนเมื่อเปรียบเทียบกับไม้ตัดดอกชนิดอื่นๆ พืชชนิดนี้ได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาและวิจัย จนสามารถคัดเลือกพันธุ์และทราบเทคนิคการปลูกเลี้ยงจนถึงขั้นตอนการผลิตเพื่อทดลองจำหน่ายให้กับฝ่ายตลาดแล้ว และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จุดเด่นของพืชชนิดนี้คือการลงทุนต่ำผลตอบแทนน่าพอใจ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

การปลูกลิ้นมังกรให้มีคุณภาพที่ดี ควรเลือกปลูกในสภาพที่มีแดดจัดและอากาศเย็น แต่ลมไม่แรงเพราะจะทำให้ช่อดอกหักง่าย ลักษณะเด่นของลิ้นมังกร คือ ช่อตั้ง ช่อยาว สีสดหลากสี และบานได้นาน (นันทิยา, 2545) ลิ้นมังกรต้องการอากาศเย็น เช่น อุณหภูมิกลางวันประมาณ 21 องศาเซลเซียส และกลางคืนประมาณ 18 องศาเซลเซียส จะเหมาะมาก ถ้าอากาศเย็นไม่พอ จะได้ช่อดอกสั้นและจำนวนดอกต่อช่อน้อย และการปลูกแบบเด็ดยอดจะทำให้ต้นแตกตาข้างให้ช่อดอกมากขึ้น แต่มีขนาดเล็กและสั้นกว่าไม่เด็ดยอด แต่เดิมในช่วงฤดูร้อนของทุกปีเราจะพบดอกที่บานอย่างสวยงาม โดยเป็นการปลูกลงแปลงและต้องการความยาววันในการบานดอก ซึ่งสภาพแวดล้อมอย่างนี้จะทำให้สามารถผลิตไม้ตัดดอกชนิดนี้ได้ตลอดทั้งปี

การตลาด

คุณสมบัติของดอกลิ้นมังกรที่เป็นจุดเด่นน่าจะได้แก่ สีสันสดใส และมีฟอร์มหรือลักษณะของกลีบดอกที่หลากหลาย เนื่องจากการเรียงตัวของช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด (spike) ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อสู่ปลายช่อ เมื่อนำไปใช้งานจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน กล่าวคือดอกย่อยที่ตูมก็สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นดอกบานที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นนักจัดดอกไม้จึงหันมาให้ความสนใจในรูปลักษณ์ของดอก ที่แปลกไปจากไม้ดอกชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยให้งานตกแต่งดอกไม้มีความสวยงาม และแปลกตามากยิ่งขึ้น

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ลิ้นมังกร นอกจากสามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้เมล็ด ซึ่งมีขนาดเล็กและต้องใช้เวลาในการเพาะเมล็ดค่อนข้างนานโดยเฉลี่ยประมาณ 45-60 วัน เนื่องจากโตช้าแล้ว ยังสามารถใช้กิ่งพันธุ์ในการปักชำได้อีกวิธีหนึ่ง ทำได้โดยการตัดแต่งต้นภายหลังการเก็บเกี่ยวโดยตัดให้สูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร เพื่อกระตุ้นให้แตกกิ่งที่สมบูรณ์ จากนั้นนำยอดที่ได้ไปปักชำประมาณ 3 สัปดาห์ ในขี้เถ้าแกลบ ก่อนย้ายต้นกล้าออกปลูกในแปลง

การอนุบาล

ภายหลังการปักชำกิ่ง และรากเกิดอย่างสมบูรณ์แล้วย้ายกิ่งชำลงถุงพลาสติกดำขนาด 4x4 นิ้ว ทำการอนุบาลโดยการเลี้ยงไว้ในบริเวณแปลงหรือในโรงเรือนหลังคาพลาสติกที่พรางแสงด้วยตาข่ายขนาด 70% เพื่อช่วยลดอุณหภูมิและช่วยลดการคายน้ำของต้นพันธุ์ ป้องกันไม่ให้ต้นกล้าได้รับความเสียหายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จนกว่าต้นกล้าจะมีความพร้อมที่จะนำไปปลูกในแปลงเพื่อตัดดอก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์

สามารถทำได้ตลอดทั้งปี โดยการเตรียมต้นแม่พันธุ์และปลูกเลี้ยงในกระถางพลาสติกขนาด 12x 12 นิ้ว ทำการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว และ 4-6 คู่ใบ นำไปปักชำในวัสดุเพาะที่ประกอบด้วย ทราย ขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบ สัดส่วน 1:1:1 โดยนำเอาถาดเพาะเลี้ยงในโรงเรือนที่มีแปลงพ่นหมอก

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก

การเตรียมแปลง

การเลือกพื้นที่แปลงปลูกและการเตรียมวัสดุปลูกให้มีความเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น จะเป็นขั้นตอนของความสำเร็จในการปลูกพืช วัสดุปลูกควรประกอบด้วย วัสดุที่มีอินทรียวัตถุสูงตั้งแต่ 5-15 % ถ้าบริเวณปลูกเดิมเป็นดินเหนียวต้องเพิ่มอินทรียวัตถุให้มากขึ้น เช่น ทราย แกลบดิน อาจใช้ปุ๋ยคอกที่สลายตัวได้ดีแล้วได้บ้าง

การเตรียมดิน

ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกลิ้นมังกร ควรจะเป็นดินร่วนปนทราย และในกรณีที่ดินขาดความสมบูรณ์ควรเติมด้วยวัสดุบำรุงดิน เช่น แกลบดิน ขุยมะพร้าว หรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และควรหว่านด้วยปูนโดโรไมท์สำหรับปรับสภาพของดิน การขุดพลิกดินและการตากดินให้ได้รับแสงแดดประมาณ 2 สัปดาห์จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยกำจัดหรือลดปริมาณศัตรูพืชในดิน ทั้งนี้โครงสร้างของวัสดุปลูกที่โปร่งจะทำให้ส่วนของรากเจริญได้ดี เนื่องจากได้รับอากาศเพียงพอ ควรตรวจสอบ pH ของดินและปรับให้ได้ค่า pH ประมาณ 6-7 ความสามารถในการระบายน้ำที่ดีของวัสดุปลูกและพื้นที่ปลูกมีความสำคัญต้องการปลูกไม้ดอกทุกชนิด

เทคนิคการปลูก

หลังจากการเตรียมแปลงแล้วยกร่องแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร กำหนดระยะระหว่างต้นและแถวโดยใช้ระยะปลูกที่ 25x25 เซนติเมตร ในกรณีที่ต้องการปลูกแบบเด็ดยอด แต่หากต้องการปลูกแบบลำต้นเดี่ยวก็สามารถใช้ระยะปลูกที่ชิดขึ้นได้ คือ ระยะ 15x15 เซนติเมตร ดังนั้นใน 1 ตารางเมตร ก็จะสามารถปลูกได้ 36 ต้น ซึ่งการปลูกแบบต้นเดี่ยวนี้มีข้อดี คือ สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าการปลูกแบบเด็ดยอดได้ถึง 3 สัปดาห์

การพยุงลำต้น

เนื่องจากลิ้นมังกรสามารถเจริญได้สูงกว่า 1 เมตร จึงจำเป็นต้องช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม โดยใช้ตาข่ายที่ถักด้วยเชือกไนล่อนขนาด 0.4 มิลลิเมตร โดยขนาดของช่องตาข่าย 15x15 เซนติเมตร การวางตาข่ายจะวางชั้นแรกให้สูงจากระดับผิวแปลงประมาณ 20-30 เซนติเมตร สำหรับชั้นที่ 2 ชั้นจะขยับตาข่ายค้ำยันที่ระดับความสูงของลำต้นหรือก้านช่อดอกที่ 60-70 เซนติเมตร ได้

การดูแลรักษา

 

การจัดการด้านความเข้มแสงและอุณหภูมิ

ลิ้นมังกรเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแสงที่ค่อนข้างจัด การปลูกลิ้นมังกรให้มีคุณภาพที่ดีควรเลือกปลูกในสภาพที่มีแดดจัดและอากาศเย็น แต่ไม่มีลมแรง มิฉะนั้นช่อดอกจะหักง่าย ลักษณะเด่นของลิ้นมังกร คือ ช่อตั้ง ช่อยาว สีสดหลายสีและบานได้นาน ลิ้นมังกรต้องการอากาศ อุณหภูมิและสภาพอากาศที่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิกลางวันประมาณ 21 องศาเซลเซียส และกลางคืน ประมาณ 18 องศาเซลเซียส จะเหมาะมาก ถ้าอากาศเย็นไม่พอจะได้ช่อดอกสั้น และจำนวนดอกต่อช่อน้อย และการปลูกแบบเด็ดยอดจะทำให้ต้นแตกข้างให้ช่อดอกมากขึ้น แต่มีขนาดเล็กและสั้นกว่าไม่เด็ดยอด

การให้น้ำ

ลิ้นมังกรเป็นพืชที่ต้องการความชื้นอย่างพอเพียงและอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่ชื้นจนทำให้อากาศในดินเสียไป ปัจจุบันจะให้น้ำพร้อมกับปุ๋ยแต่ในช่งที่มีความชื้นสูง (ฤดูฝน) การให้น้ำอาจจะต้องสังเกตความชื้นของวัสดุปลูกว่าพืชต้องการน้ำเมื่อไร เพราะการที่วัสดุชื้นมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุการเข้าทำลายของเชื้อโรคได้

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยที่ถูกต้องสำหรับลิ้นมังกร คือ การให้ปุ๋ยน้ำซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ง่าย การให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สูตรปุ๋ยที่เหมาะสม คือ สูตรปุ๋ย RPF (ไม้หัว) ที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหารดังนี้

- ไนโตรเจน 87.34 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm)

- โพแทสเซียม 19.5 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm)

- ฟอสฟอรัส 28.5 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) (อดิศร, 2539ข)

และผสมธาตุอาหารรอง เช่น เฟตติลอน คอมบี หรือยูลิเนท ด้วยเพื่อป้องกันการขาดหายของธาตุอาหาร

โรคและศัตรูของพืช

โรคที่มักจะเกิดกับลิ้นมังกร ได้แก่ โรคโคนเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อ Rhizoctonia sp. โรคเหี่ยวซึ่งเกิดจากเชื้อFusarium sp. ซึ่งหากระบาดเป็นวงกว้างจะสร้างความเสียหายให้กับแปลงปลูก สำหรับแมลงศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ หนอนม้วนใบ ซึ่งมักจะเจาะเข้าทำลายในระยะที่ดอกตูม และเพลี้ยไฟซึ่งมักเข้าทำลายในระยะที่มีช่อดอก เข้าทำลายกลีบดอกทำให้ดอกเหี่ยว กลีบมีสีน้ำตาล เพลี้ยไฟมักจะระบาดในช่วงที่อากาศร้อน สารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ คอนฟิดอร์ พอสล์ ควรป้องกันการระบาดของเพลี้ยไฟ โดยการควบคุมตั้งแต่ระยะเริ่มแทงช่อดอก

การเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของดอกลิ้นมังกร

โดยช่อดอกเริ่มทีดอกบานบนช่อจำนวน 7-10 ดอก

วิธีการเก็บเกี่ยว

ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่มีความคมและสะอาดตัดช่อดอก ให้สูงจากระดับโคนต้น 20-30 เซนติเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดส่วนก้านช่อดอกที่แก่เกินไป ซึ่งจะทำให้การดูดน้ำและสารละลายที่แช่ดอกไม้ดีขึ้น หลังจากการตัดช่อดอกให้รีบรวบรวมดอกมาทำการคัดเกรดและเข้ากำให้เรียบร้อย จากนั้นแช่ก้านช่อดอกในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง (การตัดดอกแล้วแช่น้ำทันทีจะทำให้เซลล์กรอบ ก้านช่อดอกแตก และช่วงการขนย้ายมาคัดแยกเกรดดอกมักจะหลุดร่วงออกจากก้าน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ควรรีบเก็บเกี่ยวแล้วนำผลผลิตเข้าเก็บที่ร่ม)

การเก็บเกี่ยวและการดูแลรักษา

ลิ้นมังกรสายพันธุ์ที่ใช้ทำเป็นไม้ตัดดอก ควรเลือกตัดในระยะที่ดอกล่างๆ บานครึ่งหนึ่งประมาณ 5-7 ดอก การตัดเร็วไปดอกที่บานทีหลังจะมีขนาดเล็ก และสีไม่สวย หรือการตัดช้าเกินไปดอกล่างก็จะเหี่ยวก่อน โดยลิดใบล่างๆ ประมาณหนึ่งในสามตรงโคนช่อดอกออก การจัดวางก้านช่อดอก จะต้องวางช่อดอกให้ตั้งขึ้นโดยการวางนอนปลายช่อจะโค้งงอขึ้นและไม่คืนอีก ควรเติมสารที่ช่วยให้ดอกบาน

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

เพื่อให้คุณภาพดอกของดอกลิ้นมังกรมีคุณภาพดีหลังเก็บเกี่ยว การใช้สารเคมีเพื่อยืดอายุการใช้งานจะทำให้คุณภาพของดอกลิ้นมังกร เมื่อถึงมือลูกค้าหรือผู้ใช้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยใช่ในสารละลาย 8 HQS ความเข้มข้น 150 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ผสมกับน้ำตาลซูโคสความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ (50 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) แช่ไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส จะทำให้คุณภาพของดอกลิ้นมังกรดียิ่งขึ้นก่อนที่ผลผลิตจะถึงมือลูกค้า

แนะนำพันธุ์พืชใหม่ และการจัดกลุ่มพันธุ์แต่ละฤดู

สายพันธุ์ลิ้นมังกรที่น่าสนใจ

ไม้ดอกชนิดนี้สามารถพัฒนาเพื่อทำเป็นไม้ตัดดอกได้ ทั้งนี้สามารถเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับฤดูกาลผลิต เช่น ในฤดูหนาวสามารถใช้พันธุ์ที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว เช่น กลุ่มพันธุ์ดอกชั้นเดียว ได้แก่ Dragon light yellow, Pink butterfly, Dragon orange และกลุ่มพันธุ์ดอกซ้อน ได้แก่ Double azalea pink, Double azalea bronze และ Double azalea yellow

การแยกประเภทลิ้นมังกรเพื่อตัดดอกตามฤดูกาลต่างๆ

ในต่างประเทศได้มีการแยกประเภทชนิดไม้ตัดดอกที่บังคับการออกดอกที่ตอบสนองต่อการเจริญเติบโตอยู่ 4 กลุ่ม ซึ่งหลักในการเจริญเติบโตและการบานของดอก คือ การตอบสนองต่ออุณหภูมิและความยาววัน

กลุ่มที่ 1 สายพันธุ์ที่ใช้ปลูกในฤดูหนาวและออกดอกก่อนฤดูใบไม้ผลิ มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและออกดอกเร็ว ที่อุณหภูมิที่ 50 องศาฟาเรนไฮต์ (หรือ 10 องศาเซลเซียส) ช่วงระหว่างวันสั้นของกลางฤดูหนาวของพื้นที่ในตอนเหนือ

กลุ่มที่ 2 สายพันธุ์ที่ใช้ปลูกปลายฤดูหนาวถึงใบไม้ผลิ เป็นกลุ่มที่มีการเจริญเติบโตดีกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมข้ามภายในกลุ่ม

กลุ่มที่ 3 สายพันธุ์ที่ใช้ปลูกปลายฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง เป็นกลุ่มที่ปลูกได้ดีที่สุด ออกดอกช้าและบานที่อุณหภูมิที่ 50 องศาฟาเรนไฮต์ (หรือ 10 องศาเซลเซียส) แต่จะมีความสำเร็จมากขึ้นถ้าหากอุณหภูมิกลางคืน 60 องศาฟาเรนไฮต์ (หรือ 15.5 องศาเซลเซียส) ภายใต้สภาพวันยาวและความเข้มแสงมาก

กลุ่มที่ 4 สายพันธุ์ที่ใช้ปลูกในฤดูร้อน อุณหภูมิกลางคืนสูงสุดที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ (หรือ 15.5 องศาเซลเซียส) หรือมากกว่าจะมีผลทำให้เกิดอาการบอดของตาดอก (ดอกไม่บาน) เราจึงคุ้นเคยกับการออกดอกช่วงกลางฤดูร้อน 

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.