องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ถั่วขาว

ถั่วขาว (Nevy bean)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Phaseous vulgaris L.

ถั่วขาว (White Kidneys Beans, Navy bean) เป็นชื่อที่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงทรงอนุมัติให้ใช้และทรงสนับสนุนให้มีการส่งเสริมควบคู่ไปกับถั่วแดงหลวง ถั่วขาวเป็นพืชตระกูลเดียวกับถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า ถั่วแขก และถั่วพู ถั่วขาวเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีตันกำเนิดในพื้นที่สูงแถบประเทศแม็กซิโก กัวเตมาลา ต้องการอากาศหนาวเย็นในช่วงการเจริญเติบโต ส่วนในประเทศไทยมีการปลูกถั่วขาวในพี้นที่โครงการหลวง ได้แก่ พันธุ์ปางดะ 2 ที่สามารถปลูกได้ดีและให้ผลผลิตสูง

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

เหมือนถั่วแดงหลวง และถั่วแขก กล่าวคือ เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว ทรงต้นเป็นพุ่มเตี้ย และทอดยอดเป็นบางพันธุ์ ใบเป็นชุดประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยอาจกว้างหรือแคบขึ้นอยู่กับพันธุ์ มีระบบรากแก้วหยั่งลึกลงดิน ดอกออกเป็นช่อ มีลักษณะเช่นเดียวกับดอกถั่วทั่วๆไป โดยธรรมชาติเป็นพืชผสมตัวเอง ภายหลังการผสมพันธุ์ฝักจะเจริญออกมายาว ฝักอาจกลมหรือแบน ประกอบด้วยเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดสีขาว ลักษณะกลมมีขนาดเล็กกว่าเมล็ดถั่วแดงหลวง ถั่วขาวมีจำนวนโครโมโซม 22 โครโมโซม ( 2n=2x=22) เท่ากันกับถั่วแดงหลวงและถั่วแขก

คุณค่าทางโภชนาการ

ถั่วขาวมีคุณค่าทางโภชนาการอาหารที่จำเป็น เช่น คาร์โบไฮเดรต วิตามิน มีกากและเส้นใยอาหารและมีสารช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่า-อะไมเลส ทำให้ลดการสะสมแป้งในร่างกาย การใช้ประโยชน์ของถั่วขาว ได้ถูกนำมาแปรรูปทางด้านอุตสาหกรรมและอาหารพร้อมบริโภคต่างๆ หลากหลาย เช่น ถั่วขาวในกาแฟและโกโก้ ซุปครีมถั่วขาว ถั่วขาวผสมคอลลาเจน ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ หรือจะเป็นเมล็ดแห้งก็พบเช่นกัน จากการวิเคราะห์ cooked bean ในประเทศกัวเตมาลา พบว่า มีโปรตีน 24.9 % ไขมัน 0.7% และเส้นใย 2.8%

การนำเมล็ดถั่วขาวมาสกัดด้วยน้ำ พบสาร ฟาซิโอลามิน (Phaseolamin) ในส่วนของโปรตีนที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ แอลฟา-อะไมเลส (alpha-amylase) ซึ่งทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดตร ทำให้อาหารประเภทแป้งที่เราบริโภคเข้าไปไม่เปลี่ยนเป็นสภาพน้ำตาลทั้งหมด โดยสารฟาซิโอลามินในถั่วขาวนี้มีฤทธิ์ในกระบวนการย่อยแป้งเป็นน้ำตาลถึง 66 % แล้วขับถ่ายแป้งออกมาทั้งหมด ที่เหลืออีก 34 % นั้น เอนไซม์จะย่อยน้ำตาลอย่างอิสระเช่นเดิม แป้งที่เราบริโภคเข้าไปจึงไม่ถูกดูดซีมเข้าสู่ร่างกายทั้งหมด การสะสมของไขมันที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปของน้ำตาลจึงลดลงด้วย เมื่อร่างกายได้รับพลังงานลดลง จึงดีงเอาไขมันที่สะสมไว้มาเผาผลาญ ทำให้ไขมันในร่างกายลดลงด้วย

การปลูกถั่วขาว

การปลูกถั่วขาว ดินที่ปลูกควรมีความอุดมสมบูรณ์และมีการระบายน้ำได้ดี ไม่เป็นกรดจัด ดินที่ใช้ปลูกได้ผลผลิตดีควรมีระดับความเป็นกรด (pH) 6.5 – 6.8 ระยะปลูกระหว่างหลุมและระหว่างแถวควรจะอยู่ประมาณ 25 x 50 เซนติเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ดีประมาณ 10 กิโลกรัม/ไร่ โดยหยอดหลุมละ 4 – 5 เมล็ด

โครงการวิจัยและพัฒนาถั่วพื้นที่สูง มูลนิธิโครงการหลวงได้นำถั่วขาวมาพัฒนาและศึกษาพันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกบนพื้นที่สูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โดยทดลองปลูกที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว ระหว่างปี 2541 – 2547 พันธุ์ถั่วขาวที่ศึกษาได้แก่ พันธุ์ปางดะ1 ปางดะ2 ปางดะ3 และปางดะ4 จากการศึกษา พบว่า ผลผลิตเฉลี่ยของทั้ง 5 ฤดูปลูกของถั่วขาวแต่ละพันธุ์แตกต่างกันระหว่างพันธุ์ ถั่วขาวพันธุ์ปางดะ1 ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 238.6 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือสายพันธุ์ปางดะ2 ปางดะ4 และปางดะ3 แต่ละพันธุ์มีอายุการเก็บเกี่ยวเฉลี่ยทั้ง 5 ฤดูกาลปลูก 67 - -82 วัน โดยที่พันธุ์ปางดะ4 มีอายุการเก็บเกี่ยวนานที่สุด รองลงมา ได่แก่ พันธุ์ ปางดะ1 2 และ3 แต่ในปัจจุบันพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกคือ ปางดะ2 และฤดูปลูกที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม

แหล่งที่มา ดร. สุมินทร์ สมุทคุปติ์

ลักษณะประจำพันธุ์

ฤดูปลูกที่เหมาะสมต่อการปลูกคือช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม ลำต้น จำนวนข้อ/ต้นเฉลี่ย 7.7 ข้อ จำนวนกิ่ง/ต้นเฉลี่ย 5.3 กิ่ง ความสูง 80.3 ซม. ดอก ดอกมีสีขาว เริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 34-38 วันหลังปลูก ผล อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60-100 วัน จำนวนฝัก/ต้นเฉลี่ย 9.5 ฝัก เมล็ด เมล็ดมีสีขาว ขนาดใกล้เคียงกับพันธุปางดะ 1 และปาดะ ผลผลิตของพันธุ์ปางดะ 2 ปานกลางถึงค่อนข้างสูงเฉลี่ย 107 กิโลกรัม/ไร่ และในบางปีให้ผลผลิตสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ปางดะ 1 และปางดะ 4 น้ำหนักเฉลี่ย/ 100 เมล็ด 18 กรัม คุณภาพของเมล็ดพันธค่อนข้างสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ปางดะ 1 ประมาณ 64 % ในปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก

อ้างอิง :

แผ่นพับการปลูกพืชไร่บนพื้นที่สูง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย

เว็บไซต์ http://www.royalprojectthailand.com/2000004

เว็บไซต์ http://www.rdi.ku.ac.th/seed/pangda2.html#a1

สุมินทร์ สมุทคุปติ์.2543.แนวทางการวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาการผลิตพืชตระกูลถั่วบนพื้นที่สูง.โครงการวิจัยและพัฒนาถั่วบนพื้นที่สูง , มูลนิธิโครงการหลวง , เชียงใหม่ ,80 หน้า.

สุมินทร์ สมุทคุปติ์.2549.วิจัยและพัฒนาถั่วบนพื้นที่สูง : รายงานวิจัยฉบับสมบรูณ์ , มูลนิธิโครงการหลวง , เชียงใหม่.130หน้า