ฝ้ายบนพื้นที่สูง
ฝ้ายเป็นเส้นใยธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่กลุ่มหัตถกรรมของชุมชนบนพื้นที่สูงนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แต่มีเพียงบางกลุ่มบางพื้นที่เท่านั้นที่มีการปลูกฝ้ายใช้เอง โดยส่วนใหญ่จะซื้อเส้นด้ายฝ้ายจากตลาดนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ที่ให้สีต่างๆ ตามชนิดของไม้ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ ส่วนการทอผ้าจะเป็นการทอผ้าจากกี่เอวพื้นเมือง และผลิตเป็นเสื้อผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือผลิตเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งการปลูกฝ้ายของชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่จะใช้พันธุ์ฝ้ายพื้นเมือง หรือพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกใช้ต่อๆ กันมาหลายปี ปุยฝ้ายมีสีขาว ปุยมีขนาดเล็ก และให้ผลผลิตไม่มาก เนื่องจากการปลูกฝ้ายของชุมชนจะปลูกแบบหว่านเมล็ดลงบริเวณหัวไร่ปลายนา ไม่ได้มีการดูแลรักษาและไม่ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้ผลผลิตฝ้ายไม่สูง ผลผลิตนั้นมีเพียงพอสำหรับทำเสื้อผ้าใช้เองและมีเหลือจำหน่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สวพส. ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของงานหัตถกรรมบนพื้นที่สูงเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน หากกลุ่มหัตถกรรมของชุมชนบนพื้นที่สูงสามารถปลูกฝ้ายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีความหลากหลายของสีปุยฝ้าย และให้ผลผลิตสูง ก็จะเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้เองภายในชุมชน ไม่ต้องซื้อเส้นด้ายฝ้ายจากข้างนอกเข้าไป สามารถสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์ฝ้ายเพื่อนำไปปลูกทดสอบเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูง จึงมีทั้งพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้แก่พันธุ์ตากฟ้า 3 พันธุ์ตากฟ้า 6 พันธุ์ตากฟ้า 84-4 และพันธุ์ตากฟ้า 86-5 และพันธุ์พื้นเมืองที่มีปลูกกันมากในภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น พันธุ์ฝ้ายสีขาว พันธุ์ฝ้ายสีตุ่ยเข้ม พันธุ์ฝ้ายสีตุ่ยอ่อน พันธุ์ฝ้ายจันทร์ และพันธุ์ฝ้ายพวงมะไฟ ที่นักวิจัยได้สำรวจและรวบพันธุ์มาจาก จังหวัดลำพูน จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร และจังหวัดหนองบัวลำภู และได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีกลุ่มหัตถกรรมของชุมชนที่แปรรูปผลิตภัณฑ์จากฝ้าย
การปลูกฝ้ายบนพื้นที่สูง โดยปลูกฝ้ายในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ปลูกเป็นแถว ระยะปลูกระหว่างแถว 1.5-2 เมตร ระยะระหว่างต้น 0.5 เมตร หยอดเมล็ด 6-7 เมล็ด/หลุม และเมื่อฝ้ายอายุได้ 20-30 วัน ถอนให้เหลือ 1-2 ต้น/หลุม อายุเก็บเกี่ยวฝ้ายตั้งแต่งอกจนถึงแตกสมอของฝ้าย 120-150 วัน และได้จัดให้มีการคัดเลือกพันธุ์ฝ้ายโดยกลุ่มหัตถกรรมได้เข้าไปคัดเลือกพันธุ์ฝ้ายที่ตัวเองต้องการใน ลักษณะของต้น ลักษณะของปุย ลักษณะของสีปุย และผลผลิตที่ได้
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน จ.เชียงใหม่ ได้ปลูกทดสอบพันธุ์ฝ้าย จำนวน 12 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ตากฟ้า 3 ตากฟ้า 6 ตากฟ้า 84-4 ตากฟ้า 86-5 CTO21-1 CTO21-2 CTO66 L10 L21 L25 SNG1 และ SK1-2 จากการคัดเลือกพันธุ์ฝ้ายของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรเลือกลักษณะลำต้นที่ชอบ ได้แก่ L10 ลักษณะปุย L25 และลักษณะสีปุย ได้แก่ CTO21-2 (ขาว) L10 (น้ำตาล) L25 (ขาว) ส่วนผลผลิต ได้แก่ พันธุ์ L25 (335 กก./ไร่) ซึ่งการเก็บเกี่ยวง่ายและให้ผลผลิตสูง
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 13 พันธุ์ ประกอบด้วย ตากฟ้า 3 ตากฟ้า 6 ตากฟ้า 84-4 ตากฟ้า 86-5 L1 L10 L25 SK1 CTO13 CTO21-1 (สีน้ำตาล) CTO21-2 (สีขาว) CTO31 และ HT1 เกษตรกรคัดเลือกลักษณะของต้นที่ชอบ L1 ตากฟ้า 3 และ L10 ลักษณะของปุย L1 และ L10 ลักษณะของสีปุย ได้แก่ L1 (สีน้ำตาลอ่อน) CTO21-1 (สีขาว) ตากฟ้า 3 (สีน้ำตาลเข้ม) และ L10 (สีน้ำตาลอ่อน) ส่วนผลผลิต ได้แก่ พันธุ์ L10 (382 กก./ไร่) L1 (300 กก./ไร่) และ CTO21-1 (206 กก./ไร่) ลักษณะรวงใหญ่ เก็บเกี่ยวง่ายและให้ผลผลิตสูง