องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

โลกใบเดียวของฉันและเธอ

ลูกโซ่ความร้อนแรง

สิบกว่าปีมานี้ อุณหภูมิตลอดเดือนเมษายนของหลายจังหวัดสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส ตรงกับสำนวนไทยว่า ร้อนตับแตก !!! แท้จริงแล้วคำนี้ไม่ได้หมายถึง ตับที่เป็นอวัยวะ แต่พูดถึงใบต้นจากที่เย็บเรียงติดกันเป็นตับสำหรับใช้มุงหลังคาบ้านถูกแดดเผาจนแห้งและแตก ผู้เขียนเลยคิดต่อไปว่า “แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร” เพราะตอนนี้แสงอาทิตย์ทรงพลังขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเวลา 11.00-15.00 น.

ผู้กระทำผิดยืนหนึ่ง

ทุกข้อมูลกล่าวตรงกันว่า “คนทำลายสมดุลก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มบรรยากาศโลก” จนอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น เกิดสภาพอากาศแปรปรวน และผลเสียด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น

·     ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากแหล่งรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ผลิตผลสินค้าเกษตรและประมงลดลง นักวิชาการเตือนภาคเกษตรอาจเสียหายมูลค่ากว่า 2.85 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 25881/

·     เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากคลื่นความร้อน คนจำนวนหลายล้านสูญเสียโอกาสการทำงาน ไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัว คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน

·     ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ ภัยแล้ง ไฟป่า พายุโซนร้อน น้ำท่วมใหญ่ และการพังทลายของชั้นดิน รวมถึงการระบาดของโรคติดต่อ และโลกสูญเสียความมั่นคงด้านอาหาร

ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ

ก๊าซเรือนกระจกเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ ผลสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของคนทำให้รู้ว่า บริเวณเขตเมืองมักปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของโรงงานอุตสาหกรรมและควันท่อไอเสียรถ ไม่แตกต่างกับการฝังกลบกองขยะมูลฝอยขนาดมหึมา ขณะที่การทำเกษตรผิดวิธีและการบุกรุกเผาป่าพบในเขตพื้นที่สูงซึ่งปัจจุบันกลายเป็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ทั้งนี้ก๊าซเรือนกระจกที่พบมากและทุกคนต้องช่วยกันควบคุมมีจำนวน 7 ชนิด2/ ได้แก่

·     คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide): CO2

·     มีเทน (Methane): CH4

·     ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide): N2O

·     กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)

·     กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs)

·     ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride) : SF6

·     ไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen trifluoride) :NF3

 

ชุมชนดอย…ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน

พื้นที่สูงของไทยมีประมาณ 55 ล้านไร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กว่า 1 ล้านคน มีสภาพยากจนและการคมนาคมยากลำบาก3/ วิธีการสื่อสารเรื่องราวนี้ให้กับคนบนดอยจึงสร้างความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากผลการสุ่มสำรวจชุมชน 4,205 กลุ่มบ้าน ช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 พบการเผาพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกว่า 1,400 จุดความร้อน เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จำนวนมาก และ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน การขังน้ำในนาข้าว 91,000 ไร่ ตลอดฤดูการปลูกสร้างก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซต์ที่มีศักยภาพทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ 28 และ 265 เท่า เช่นเดียวกับการกองสิ่งปฏิกูลสัตว์เกือบ 7,000 ตัว บริเวณฟาร์ม นอกจากนี้หลายชุมชนยังพบกองเปลือกกาแฟเชอรี่ เปลือกและซังข้าวโพดที่รอการเผาร้อยละ 18.6 คิดเป็นก๊าซเรือนกระจก 893,591 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า ซึ่ง 1 ตันมีขนาดเท่ากับบอลลูน 1 ลูก อย่างไรก็ตามปัจจัยความสำเร็จ คือ จิตสำนึก หากไม่เกิดปัญหาและไม่เดือดร้อน ชุมชนส่วนใหญ่จะละเลย ความจริงนี้นำไปสู่การสร้างแนวคิดใหม่ คือ “กระตุ้นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานกับการสร้างภาพอนาคตลูกหลาน” และ “อาชีพจากการดูแลสิ่งแวดล้อม” ประกอบด้วย 5 ไอเดีย

1)   ให้ข้อมูลและข่าวสารครัวเรือนโดยสร้างความเข้าใจด้วยกลยุทธ์เพิ่มช่องทางรับรู้เชิงประจักษ์

2)   กระตุ้นแรงจูงใจด้วยกลยุทธ์สร้างชื่อและสร้างรายได้จาก “วิถีชีวิตคาร์บอนต่ำ”

3)   ดำเนินกิจกรรมและปรับปรุงงานด้วยกลยุทธ์เรียนรู้จากการปฏิบัติและพัฒนาทักษะต่อเนื่อง

·   การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

·   การฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว

·   การจัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม

·   การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง

·   การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดคุ้มค่า

4)   ประเมินผลด้วยกลยุทธ์บรรลุระดับขั้นความสำเร็จ (ผลการดำเนินงานเทียบแผนปฏิบัติงาน)

5)   ขยายผลกิจกรรม "ลดการปล่อย" และ "เพิ่มการดูดกลับ" ก๊าซเรือนกระจกด้วยกลยุทธ์สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานระดับภูมิภาค 

29 รางวัลความสำเร็จ

ผลประเมินแสดงให้เห็นว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชุมชนตัวอย่างลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และป่าต้นน้ำกักเก็บคาร์บอนมีค่าเฉลี่ย 10,933.83-27,774.38 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ต้นไม้ 1 ต้น สามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้เพียงพอสำหรับ 2 คนต่อปี ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 9-15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า และลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูก 2-4 องศาเซลเซียส3/ กล่าวได้ว่าหากไม่ส่งเสริมกิจกรรมนี้จะมีก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศไม่น้อยกว่า 8,839.79 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี หรือ 1.39 ต่อปีต่อคน (ฐานข้อมูลปี พ.ศ. 2564) นอกจากนี้ยังเกิดผลประโยชน์ด้านอื่นด้วย

1)   ระดับครอบครัวและชุมชน

·   ช่วยรักษาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ

·   ลดโอกาสการสูญเสียทรัพย์สิน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้หลักของคนบนพื้นทีสูง

·   มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยจัดการเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ระดับหนึ่ง

·   เสนอผลงานเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนสำหรับการพัฒนาและต่อยอดกิจกรรม

2) ระดับประเทศและโลก

·   สร้างรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวบนพื้นที่สูงภาคเหนือ

·   ลดภาระงบประมาณภาครัฐในแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่มีต้นทุนสูงปีละกว่า 400 ล้านบาท

·   สร้างความสมดุลของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ

·   ลดความรุนแรงของการเกิดมหันตภัยทางธรรมชาติและความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้

ดังนั้นการขยายผลงานนี้ไปยังชุมชนพื้นที่สูงอื่น จึงมีส่วนอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศที่เกิดผลลัพธ์ชัดเจน