องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ศัตรูหน้าร้อน ศัตรูน่ารู้

การทำเกษตรอินทรีย์เป็นการทำเกษตรด้วยหลักธรรมชาติโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีหรือสารพิษในการระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ การควบคุมแมลงโดยวิธีชีวภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดการใช้สารเคมีในการเกษตร และการใช้วิธีการเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ การปลูกผักเป็นที่นิยมของเกษตรกรเนื่องจากมีระยะเวลาการผลิต เก็บเกี่ยว ตลอดจนให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วกว่าพืชชนิดอื่นๆ แต่ในฤดูร้อนมักพบการระบาดของศัตรูพืช เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงส่งผลให้ศัตรูพืชขยายพันธุ์และระบาดได้มากขึ้น ซึ่งการเข้าทำลายของศัตรูพืชส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต ทำให้ผลผลิตลดลง คุณภาพไม่ดี และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง โดยแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพืชตระกูลกะหล่ำ ผักกาดและตระกูลสลัดที่เข้าทำลาย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน ด้วงหมัดผัก และหนอนกระทู้ผัก

1. เพลี้ยอ่อน (Aphid) เป็นแมลงที่มีปากดูดขนาดเล็ก สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องผสมพันธุ์และมีวงจรชีวิตสั้น เพลี้ยอ่อนสามารถเข้าทำลายได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ซึ่งมีการเข้าทำลายตั้งแต่ระยะกล้าจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยส่วนใหญ่เพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณยอด ใบอ่อน และใบแก่ ส่งผลให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ใบที่ถูกทำลายเหลือง แคระแกรน ใบบิด และหงิกงอ โดยชนิดผักที่เพลี้ยอ่อนเข้าทำลาย ได้แก่ พืชตระกูลกะหล่ำ ผักกาด เช่น กระหล่ำปลี คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดขาวปลี และพืชตระกูลสลัด

วิธีการป้องกันกำจัดในการปลูกพืชอินทรีย์

1. ฉีดพ่นด้วยสารจากเมล็ดสะเดาบด 15-20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นวันเว้นวันหรือ 2-3 วัน 

2. ฉีดพ่นด้วยน้ำหมัก พีพี 3 อัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

3. ฉีดพ่นด้วยสบู่อ่อนป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อน 300 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

4. ใช้ชีวภัณฑ์ใช้พีพี-เบ็บ (เชื้อราบูวาเรีย บัสเซียน่า) พ่นทางใบและโคนต้น อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

5. ใช้ชีวภัณฑ์ใช้พีพี-เบ็บ (เชื้อราบูวาเรีย บัสเซียน่า) ทางดิน โดยพรวนดินแล้วโรยพีพี-เบ็บ อัตรา 100 กรัมต่อตารางเมตร

6. ฉีดพ่นเชื้อราเชื้อราบูวาเรีย บัสเซียน่า (บูเวริน ชีวภัณฑ์การค้า) พ่นทางใบ อัตรา 80-150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีพพ่นซ้ำทุกๆ 5-7 วัน

หมายเหตุ: การใช้ชีวภัณฑ์ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นและหลีกเลี่ยงช่วงที่มีแสงแดดจัด

2. ด้วงหมัดผัก (Flea Beetle) มี 2 ชนิด คือ ชนิดแถบลายและชนิดสีน้ำเงิน ด้วงหมัดผักมักวางไข่บริเวณโคนต้นพืชและตามพื้นดิน ดังนั้นการกำจัดต้องกำจัดทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนในดินด้วย โดยส่วนใหญ่มักพบด้วงหมัดผักแถบลาย ตัวอ่อนกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผัก ส่งผลให้พืชผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต ส่วนตัวเต็มวัยตัวเต็มวัยมีปากแบบกัดกิน กัดกินผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน นอกจากนี้ยังกัดกินผิวลำต้น โดยชนิดผักที่ด้วงหมัดผักเข้าทำลาย คือ พืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กระหล่ำปลี คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดขาวปลี ผักกาดหัว ผักกาดฮ่องเต้ และผักกาดกวางตุ้ง เป็นต้น

วิธีการป้องกันกำจัดในการปลูกพืชอินทรีย์

1. ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาหารสลับหมุนเวียน เพื่อลดการสะสมของด้วงหมัดผัก

2. การไถตากดิน 7-10 วัน เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน

3. การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อลดจำนวนตัวเต็มวัยของด้วงหมัดผัก

4. ฉีดพ่นด้วยน้ำหมัก พีพี 3 อัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

4. ใช้ชีวภัณฑ์ใช้พีพี-เมทา (เชื้อราเมทาไรเซียม แอนิโซเพลีย) พ่นทางใบ อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

5. ใช้ฟีโรด้วงหมัดผัก แขวนฟีโรด้วงหมัดผักกับกับดักกาวเหนียว หรือกับดัก โดยติดตั้งกับดักห่าง 3-4 เมตร และวางให้ตำแหน่งอยู่สูงกว่าระดับความสูงต้นพืช 10-20 เซนติเมตร

6. ฉีดพ่นเชื้อราเมทาไรเซียม แอนิโซเพลีย (เมทาซาน ชีวภัณฑ์การค้า) พ่นทางใบ อัตรา 100-200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีพพ่นซ้ำทุกๆ 5-7 วัน

หมายเหตุ: การใช้ชีวภัณฑ์ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นและหลีกเลี่ยงช่วงที่มีแสงแดดจัด

3. หนอนกระทู้ผัก (Common cutworm) เป็นแมลงศัตรูพืชที่เข้าทำลายพืชผักหลายชนิด โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ โดยหนอนที่ฟักออกมาจะแทะผิวใบด้านล่างเหลือแต่ผิวใบด้านบน ทำให้ใบผักมีลักษณะโปร่งใสคล้ายร่างแห เมื่อหนอนโตเต็มวัยกัดกินใบพืชผักรุนแรงขึ้นจนกระทั่งทั่วพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตลดลงและรายได้ของเกษตรกรลดลง

วิธีการป้องกันกำจัดในการปลูกพืชอินทรีย์

1. ไถดินตากแดดไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบกลุ่มไข่หรือหนอนให้ทำลายทิ้ง

2. ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติที่พบเข้าทำลายหนอนกระทู้ผัก เช่น แตนเบียน มวนพิฆาต

3. ใช้ชีวภัณฑ์ใช้พีพี-เมทาพ่นทางใบ อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

4. ใช้ชีวภัณฑ์ใช้พีพี-เมทาทางดิน โดยพรวนดินรอบโคนต้น โรยพีพี-เมทา อัตรา 100 กรัมต่อตารางเมตร

5. ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส (เซ็ทพ้อยท์ ชีวภัณฑ์การค้า) อัตรา 80-100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

เริ่มพ่นป้องกันตั้งแต่สำรวจเห็นกลุ่มไข่ของหนอน หรือในขณะที่หนอนเพิ่งฟัก และฉีดพ่นซ้ำทุกๆ 3-7 วันจนกว่าหนอนจะหยุดระบาด

หมายเหตุ: การใช้ชีวภัณฑ์ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นและหลีกเลี่ยงช่วงที่มีแสงแดดจัด

ดังนั้น การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในหน้าร้อน เกษตรกรควรรู้การใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถจัดการกับศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


แหล่งที่มาของเนื้อหา

ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ น้ำหมัก พีพี3 พีพี6 สบู่อ่อน พีพี-เบ๊บ พีพี-เมทา ฟีโรด้วง      หมัดผัก ผลิตโดย โรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง

เบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร. หนอนกระทู้ผัก. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล:  https://www.opsmoac.go.th/

chachoengsao-warning-files-401191791008.

เพชรดา อยู่สุข. 2566. คู่มือการปลูกผักอินทรีย์. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 95 น.

สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2560. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: https://eto.ku.

ac.th/neweto/e-book/plant/herb_gar/pakkadhom.pdf. (28 กุมภาพันธ์ 2567).

Capinera, J.L. 2004. Encyclopea of Entomology. Kluver Academic Publishers, Netherlands.    

2400 pp.

สารชีวภัณฑ์. ระบบออนไลน์. แหล่งข้อมูล : https://www.allkaset.com/สารชีวภัณฑ์/


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นายณัฐพล กามล นางสาวกฤติยาณี วรรณภิระ และนางสาววรัญญา บุญเรือง นักวิจัย สำนักวิจัย สวพส.
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน