เกษตรกรยุคใหม่ “สมาร์ท” ได้แค่ปลายนิ้ว
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยของเทคโนโลยีดิจิทัล มนุษย์จึงมีวิวัฒนาการในการติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยส่งจดหมายผ่านตู้ไปรษณีย์และบุรุษไปรษณีย์เป็นผู้นำส่ง กลับกลายเป็นการส่งความผ่านอินเตอร์เน็ตที่ถึงผู้รับโดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที
กว่า 30 ปีมาแล้วที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของมนุษย์ เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี คศ. 1989 โลกได้เริ่มทำการเชื่อมต่อกันครั้งแรกด้วย คำว่า “เวิลด์ไวด์เว็บ” (World Wide Web: WWW.) ทำให้โลกของเราใกล้กันมากขึ้น ทำให้เป็นยุคที่เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลและถูกเรียบเรียงจนสามารถนำเสนอให้แก่โลกโดยการเข้าถึงต่างๆ ทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงความรู้ข้อมูลต่างๆ และติดต่อสื่อสารได้กันอย่างง่ายยิ่งขึ้น แม้ว่าจะอยู่คนละมุมโลกก็ตาม รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโดยการเข้าถึงข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “สมาร์ทโฟน” (Smartphone) หรือเรียกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีความสามารถเพิ่มเติมนอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือทั่วไป สมาร์ทโฟนถูกมองว่าเป็นคอมพิวเตอร์พกพาที่สามารถเชื่อมต่อความสามารถหลักของโทรศัพท์มือถือเข้ากับโปรแกรมประยุกต์ในโทรศัพท์ (แอปพลิเคชั่น) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตประชากรโลกรวมถึงวงการเกษตรกรรม โดยเกษตรกรรมยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลกนั้นเต็มไปด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเกษตรมากมาย ถูกนำมาใช้พัฒนาวิถีการทำการเกษตร ทำให้อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของเกษตรกรยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งวลีที่หลายท่านคงจะเคยได้ยินบ่อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้คือคำว่า “ดิจิทัล 4.0” ไม่ว่าจะเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ก็ตาม “อุตสาหกรรม 4.0 “ หรือแม้แต่ “เกษตรกรรม 4.0” โดยคำว่า 4.0 มากจากยุคสมัยของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ต้องมีการมีคำจำกัดความของยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ 4.0 ประกอบไปด้วยยุคของเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านต่างๆ ดังนี้
1. Digital 1.0 ยุคเปิดโลกของอินเทอร์เน็ต
ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นของ “Internet” เป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมและการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนจากออฟไลน์ (offline) มาเป็นออนไลน์(online) มากขึ้น เช่น การส่งจดหมายทางไปรษณีย์ก็เปลี่ยนมาเป็นการส่งอีเมล์ E-mail และอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การถือกำเนิดของเว็บไซต์ Website ที่ทำให้เราเข้าถึงทุกอย่างได้ง่ายขึ้นและทั่วถึง การอัพเดตรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบครั้งใหญ่และเป็นวงกว้าง การดำเนินกิจกรรมสะดวกและรวดเร็วฟ
2. Digital 2.0 ยุคแห่งโซเชียลมีเดีย
ยุคที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างเครื่อข่ายติดต่อสื่อสารกันในโลกออนไลน์ที่เรียกว่าเครือข่ายสังคม(Social Network)
3. Digital 3.0 ยุคแห่งข้อมูลและบิ๊กดาต้า /อนาไลท์ติกส์ /คลาวด์คอมพิวติ้ง /แอปพลิเคชัน
ยุคที่มีการใช้ข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลให้เกินประโยชน์ ข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผล จับสาระสำคัญวิเคราะห์ และเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบคลาวค์ (Cloud Computing) มาช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูล การเข้าถึงทรัพยากรข้อมูลตามการใช้งานโดยเราสามารถเข้าถึงข้อมูลบนระบบคลาวด์จากที่ใดก็ได้ผ่านอินเตอร์เน็ตและสามารถแบ่งบันข้อมูลกับผู้อื่น (Shared Services) เป็นการลดต้นทุนและความยุ่งยากเพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงานได้มากขึ้น
4. Digital 4.0 ยุคเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด (Machine-2-Machine)
ยุคที่ความฉลาดของเทคโนโลยีทำให้อุปกรณ์ต่างๆสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างอัตโนมัติ เทคโนโลยีถูกนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อลดภาระของมนุษย์ และเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตัวอย่างของเทคโนโลยียุคนี้ เช่น การสั่งปิด – เปิด หรือสั่งงานต่างๆกับอุปกรณ์ต่างๆผ่านแอพลิเคชั่นโดยไม่ต้องเดินไปกดสวิตซ์ เป็นต้น
ในบทความนี้จึงจะขอนำทุกท่านไปรู้จักกับแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่นำมาประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรแม่นยำ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีการติดตามข้อมูลและสามารถใช้ข้อมูลดิจิทัลในการดำเนินกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็น ด้านการติดตามข้อมูลภูมิอากาศปัจจุบัน ด้านคุณภาพอากาศ ด้านการติดตามปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนหลักหรือปริมาณน้ำรายลุ่มน้ำของประเทศไทยเพื่อรับรู้ข้อมูลและวางแผนการใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ ด้านการติดตามและคาดการณ์สภาพฟ้าฝน ด้านการติดตามการพยากรณ์อากาศในแต่ละระยะเพื่อรับรู้ข้อมูลสำหรับการวางแผนการเพาะปลูก การแจ้งเตือนโรคและแมลงที่จะเกิดขึ้นเบื้องต้น องค์ความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ หรือแม้กระทั่งการติดตามข่าวสารด้านราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรสามารถรับรู้ถึงราคาผลผลิตปัจจุบันได้ ทั้งนี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์แอปพลิเคชั่นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการวางแผนการเกษตรเพื่อพัฒนาไปสู่เกษตร 4.0 โดยนำเอาแอปพลิเคชั่นจากหน่วยงานของรัฐที่เกษตรกร ประชาชนและผู้สนใจสามารถดาว์นโหลดและนำไปใช้ประโยชน์ด้านการวางแผนเพื่อการเกษตรแม่นยำได้ ดังแอปพลิเคชั่นต่อไปนี้
1. HRDIMAPs (iOS + Android)
แอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลแปลง สามารถใช้ประโยชน์ด้านการวัดพื้นที่ การวัดความสูงของพื้นที่เพาะปลูก การคำนวณพื้นที่แปลง คำนวณระยะทางติดตั้งระบบน้ำ การติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงความสามารถในการติดตามพิกัดรายแปลงของเกษตรกร พัฒนาโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
2. HRDI LINE Official Account “ของดีพื้นที่สูง” (iOS + Android)
บัญชี LINE Official ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสถาบันฯ องค์ความรู้บนพื้นที่สูง งานวิจัย สภาพอากาศบนพื้นที่สูง เกษตรกรผู้นำ ราคาผลผลิต บทความงานวิจัย รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และนำไปใช้ต่อได้ รวมถึงสามารถติดต่อสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านพืชได้อีกด้วย
3. ThaiWater (iOS + Android)
แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์อากาศและน้ำของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากโครงการ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 52 หน่วยงานรัฐในประเทศไทย โดยสามารเข้าถึงข้อมูล อาทิ ข้อมูลพายุ ข้อมูลฝน 24 ชั่วโมง ข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลระดับน้ำรายลุ่มน้ำ ข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝน และข้อมูลการคาดการณ์คลื่นชายฝั่ง เพื่อให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไปและผู้สนใจสามารถข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
4. FAHFON (iOS + Android)
แอปพลิเคชันบริการข้อมูลฝนและพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและมีความละเอียดระดับรายพิกัด รายแปลง แก่เกษตรกร ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ลดความเสียหายและสูญเสียจากภัยธรรมชาติ เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ การวางแผนการเดินทาง และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
5. Agri-Map Mobile (iOS + Android)
แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลเชิงสารสนเทศด้านการเกษตร เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและสามารถเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนให้เหมาะสมตามชั้นความเหมาะสมของดิน ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลพร้อมติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการ การเพาะปลูก ผลผลิตด้านการเกษตร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคต สามารถใช้งานได้จากทุกที่ ทุกเวลา
โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมองว่าการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพื่อนำข้อมูลด้านต่างๆ มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการวางแผนการเพาะปลูก การวางแผนการทำระบบน้ำขนาดเล็ก การติดตามสภาพอากาศ รวมถึงการติดตามปริมาณน้ำ โดยนำข้อมูลต่างๆ มาประยุกต์และปรับใช้กับการเกษตร ทำให้สามารถลดอัตราความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและเพื่อสร้างความได้เปรียบในการผลิตพืช ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนสามารถเลือกซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไปหลากหลายระบบปฏิบัติการและมีราคาถูกลงมาก รวมถึงแอปพลิเคชั่นของหน่วยงานรัฐยังคงให้บริการแบบฟรี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลที่ได้อาจต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และยังคงต้องใช้ในพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐาน (สัญญานโทรศัพท์และระบบอินเตอร์เน็ต) เพื่อที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำขึ้น ดังที่กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชั่นด้านการเกษตรต่างๆ สามารถนำมาประยุกต์ได้หลากหลาย เพื่อให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงก้าวไปสู่ “เกษตรกรรม 4.0” นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการการผลิตพืชและสัตว์บนพื้นที่สูงให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ
แหล่งที่มาของเนื้อหา :
เปิดยุค Digital 1.0-4.0, https://marketeeronline.co/archives/24632/. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม, 2567.
ยุคสมัยของดิจิทัล ประเทศไทยอยู่ไหน? ต่างประเทศอยู่ไหน?, https://positioningmag.com/1114251/. ค้นเมื่อ 6 มกราคม, 2567.
เทคโนโลยีสารสนเทศในยุคดิจิทัล, เทคโนโลยีสารสนเทศในยุคดิจิทัล | Information Technology in Digital Era – ระเบียงบรรณปันสาระ (wu.ac.th)/ ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม, 2567.
DIGITAL4.0, https://www.wice.co.th/2018/01/11/digital-4-0-technology/. ค้นเมื่อ 20 มกราคม, 2567.
Pew Research Center. (2023). "Internet/Broadband Fact Sheet." https://www.pewresearch.org/internet/fact-sheet/internet-broadband/
ฟ้าฝน, https://www.fahfon.io/en/home-en/. ค้นเมื่อ 11 มกราคม, 2567.
Agri-map, https://agri-map-online.moac.go.th/ ค้นเมื่อ 13 มกราคม, 2567.
แหล่งที่มาของภาพ :
นวัตกรรมพร้อมใช้. Agrimap-Mobile. https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-mobile-application/agri-map-mobile.html.
ฟ้าฝน. https://www.fahfon.io/application/.
HRDIMAPs. HRDI MAPs แอปดีพื้นที่สูง - องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน.
HRDI LINE ของดีพื้นที่สูง. รู้ยัง สวพส. มี LINE Official Account ชื่อว่า HRDI ของดีพื้นที่สูง (@hrdi): สวพส.