องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บ่าอ้า(เอนอ้าขน)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.

วงศ์   MELASTOMATACEAE

ภาคเหนือ เฒ่านั่งฮุ้ง บ่าอ้า ภาคกลาง เอนอ้า เอนอ้าขน ภาคอีสาน โคลงเคลงขน โคลงเคลงหิน ภาคใต้ -

บ่าอ้าเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม มีขนปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก โคนใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบมีขนแข็งปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 4 กลีบ อับเรณูเรียวยาวปลายเป็นจะงอยรูปตัวเอส (S) ผลแบบแคปซูล รูปคนโฑ มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก

สภาพนิเวศ : พบขึ้นตามที่โล่ง ทุ่งหญ้า และสันเขาที่ชื้นแฉะ สามารถพบได้จนถึงระดับความสูง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : มีสรรพคุณเป็นยา นำรากมาต้มรวมกับรากกูดก๊องและรากเขื่องแข้งม้า ดื่มบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและริดสีดวงทวาร ผลออกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เมื่อสุกกินได้ รสหวาน เมล็ดเป็นเมือกนุ่มๆ

แหล่งที่พบ : พบตามที่โล่งในป่าหลังชุมชนหรือพื้นที่เกษตร

เกร็ดน่ารู้ : ค่อนข้างมีความสับสนในการจำแนกพืชในวงศ์โคลงเคลง โดยเฉพาะสกุลโคลงเคลง (Melastoma) และสกุลเอนอ้า (Osbeckia) เนื่องจากแต่ละชนิดคล้ายกันมาก ทั้งใบและสีของดอก บางพื้นที่ใช้จำนวนกลีบดอกในการจำแนกเบื้องต้น คือ “โคลงเคลงห้า เอนอ้าสี่” มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน แก้คอพอก แก้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด รากใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ