องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กล้วยป่า

 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Musa acuminate Colla

วงศ์   MUSACEAE

ภาคเหนือ กล้วยป่า กล้วยลิง กล้วยหม่น กล้วยแดง ภาคกลาง กล้วยป่า  ภาคอีสาน กล้วยป่า ภาคใต้ กล้วยเถื่อน

กล้วยป่าเป็นไม้ล้มลุก มักขึ้นเป็นกลุ่ม ทุกส่วนมียาง มีเหง้าแตกหน่อได้ ลำต้นเทียมขนาดใหญ่ ประกอบด้วยกาบใบที่อัดกันแน่น ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ดอก (หัวปลี) ออกเป็นช่อห้อยลงคล้ายงวง บานจากส่วนโคนลงมาหาปลายช่อปลี ผลกลมโค้งงอ มีเนื้อน้อย สีขาว เมล็ดจํานวนมาก สีดํา ผนังหนาและแข็ง 

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นเป็นกลุ่มในดินที่อุ้มน้ำ บริเวณริมลำธารที่มีความชื้นสูง

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดและแยกหน่อ

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : กล้วยป่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี โดยนำมาปรุงอาหารได้สารพัด เช่น หยวกกล้วยนำมาแกงใส่ไก่ กระดูกหมู หรือปลาแห้ง ยำใส่ปลากระป๋อง กินกับน้ำพริกได้ทั้งดิบและสุก หรือนำมาตำกับมดแดง ส่วนหัวปลีนำมาชุบแป้งทอด ห่อนึ่งใส่เนื้อหมู หรือยำกับเนื้อไก่ นอกจากนี้กาบต้นแห้งนำไปขายเพื่อทำกระดาษสา

แหล่งที่พบ : พบทั่วไปตามที่ชุ่มชื้น แหล่งต้นน้ำ หรือริมห้วยรอบชุมชน

เกร็ดน่ารู้ : กล้วยป่าเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ สามารถกักเก็บน้ำ แล้วระบายสู่ลำธารในช่วงฤดูแล้งได้ดี