องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บ่าขม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pittosporopsis kerrii Craib

วงศ์  ICACINACEAE

ภาคเหนือ  บ่าขม บ่าขี้จุ๊ มะขม   ภาคกลาง  มะขม

ภาคอีสาน            -       ภาคใต้   -

บ่าขมเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก ตามเปลือกต้นชั้นนอกบางเรียบ สีน้ำตาล มีรูอากาศกระจายทั่วไปเนื้อไม้สีขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปรี ขนาด 4-7 x 10-21 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมถึงยาวโคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ด้านหน้าใบสีเขียวเป็นมัน หลังใบสีเขียวนวล ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ 7-9 เส้น แต่ละเส้นอยู่ห่างกัน ดอกเป็นช่อกระจุกกลมออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง สีเขียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉกตื้น สีเขียว กลีบดอก 5 กลีบ แยกหรือติดกันที่ฐาน แต่ละกลีบเรียวยาว ปลายแผ่ขยายออก เกสรเพศผู้มีก้านชูอับเรณู กว้างแต่เรียวคอดใต้อับเรณู ผลสดเมล็ดเดียว ผิวเรียบเกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง เมล็ดกลมสีขาวผลสดเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร ปลายผลมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ ลักษณะเป็นติ่งแหลม

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นในป่าดิบ แสงแดดรำไร

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ด้านอาหาร : เมล็ดมีรสขม นิยมนำมาต้มกินกับลาบ หรือลวกจิ้มน้ำพริก ผลออกช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน เนื้อผลมีรสขม ชาวปางมะโอนิยมนำผลอ่อนมาต้มหรือลวกกินกับลาบ น้ำพริก และยำหน่อไม้ ส่วนผลแก่นำมาต้มกินกับข้าวเหนียว หรือกินเล่นเป็นอาหารว่าง

แหล่งที่พบ : พบทั่วไปตามสวนรอบบ้าน ป่าธรรมชาติ และสวนเมี่ยง