องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

นายนพดล ปรีชา

เกษตรกรผู้นำ: ด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง: ป่าแป๋
หมู่บ้าน: กิ่วถ้วย-ปางมะโอ

การปรับระบบเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่

นายนพดล ปรีชา ผู้นำเกษตรกร

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


ตำบลป่าแป๋ เป็นแหล่งผลิตเมี่ยงที่สำคัญของอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันผู้บริโภคเมี่ยงลดลง ทำให้เมี่ยงมีราคาไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวสวนเมี่ยง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องนำองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาพัฒนาและต่อยอดงานส่งเสริมการปลูกเมี่ยง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากความยากจน มีอาชีพและรายได้ที่มั่งคงขึ้น 

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ ได้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ตำบลป่าแป๋ โดยนำองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิสังคมของพื้นที่ โดยได้วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและความต้องการของชุมชนก่อนเริ่มดำเนินการ นำแผนชุมชนและแผนการใช้ประโยชน์ที่รายแปลงมาใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพร่วมกับเกษตรกร เพื่อวางแผนการปลูกพืช วางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยในระยะเริ่มต้นได้สร้างโรงเรือนปลูกผักคะน้าฮ่องกง 2 โรงเรือน จากนั้นได้ขยายพื้นที่ปลูกผักภายนอกโรงเรือน เช่น แครอท ฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองมินิ งาขี้ม้อน การปลูกถั่วแขก ถั่วหวาน และถั่วลันเตาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

นพดล ปรีชา เป็นเกษตรกรผู้นำด้านการตลาดและเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกผักโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ มีแปลงสาธิตการปลูกผักในโรงเรือนและนอกโรงเรือน แปลงปลูกพืชไร่ แปลงปลูกหญ้าแฝก แปลงป่าชาวบ้าน และสวนเมี่ยง ให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ และเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องระบบการเพาะปลูกพืชผักที่ดีตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย ด้วยความตั้งใจอยากพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรจึงศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองก่อน จากนั้นได้เข้ารับการอบรมด้านการเพาะปลูกพืชที่ดี (GAP) ของโครงการหลวง ทำให้เข้าใจถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยกับผู้ปลูกและผู้บริโภค แล้วนำมาปรับใช้กับการเพาะปลูกพืชผักในแปลงของตนเอง และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจรายอื่นๆ เกิดการเรียนรู้และการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกด้านอาชีพที่หลากหลาย ทั้งการปลูกพืชผัก ไม้ผล ชา กาแฟ ที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่งคงเพียงพอต่อการดำรงชีพ ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ