องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ข้าวโพดหวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์   Zea mays var. rugosa

ชื่อสามัญ   Sweet corn (bicolor)

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ข้าวโพดจัดอยู่ในตระกูล Poaaceae (Graminae) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ปลูกฤดูเดียว ลักษณะลำต้นเป็นปล้องสีเขียว มีจำนวน 8 – 20 ปล้องแข็งแรง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 4 เซนติเมตร สูงประมาณ 150 – 220 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเรียวคล้ายใบหญ้า ซึงประกอบด้วยตัวใบ ก้านใบ และหูใบ  สำหรับ สี ขนบนใบ ขนาดของใบจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

โดยทั่วไปดอกตัวผู้จะบานก่อนดอกตัวเมียและพร้อมจะผสมภายใน 1 – 3 วัน และทยอยบานทีละคู่ใช้เวลา 2 – 14 วัน ดอกตัวเมียมีลักษณะเป็นฝักจากแขนงสั้น ๆ บนข้อที่มีใบใหญ่สุด แขนงดังกล่าวประกอบด้วยใบ 8 – 13 ใบ เจริญเป็นกาบหุ้มส่วนของดอกตัวเมีย และหุ้มฝัก (husk) ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะคล้ายเส้นไหม เจริญออกมาด้านส่วนปลายฝัก ประกอบด้วยเมือกเหนียวเพื่อดักจับละอองเกสร

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ข้าวโพดหวานจัดเป็นพืชที่ให้พลังงานสูงและมีปริมาณโปรตีนรองจากถั่วลันเตา ถั่วแขก และกระเทียม นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่สูง เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และไทอามีน นอกจากนี้พันธุ์ที่มี สีเหลืองมาก ๆ จะมีวิตามินเอสูง   การใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น นึ่งหรือย่างทั้งฝัก นึ่งแล้วฝานผสมกับมะพร้าวขูดน้ำตาลทรายเล็กน้อย เกลือป่นทำเป็นข้าวโพดคลุกรับประทานเป็นอาหารว่าง ทำน้ำนมข้าวโพด ฝานดิบผสมกับเนื้อหมูสับ ไข่ แป้งสาลีแล้วทอดเป็นทอดมันข้าวโพด เป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

ข้าวโพดหวานสองสีเป็นพืชที่ต้องการอากาศอบอุ่น อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกและการเจริญเติบโตควรอยู่ระหว่าง 21 – 30 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามอุณหภูมิที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในช่วง 16 – 24 องศาเซลเซียส การปลูกในสภาพอุณหภูมิสูง อัตราการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นแป้งสูง (Polysaccharides) กระแสลมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ และอุณหภูมิสูงจะทำให้เกสรไม่สมบูรณ์ อัตราการผสมเกสรต่ำหากสภาพแปลงปลูกมีความชื้นสูงเมล็ดอาจจะเน่าได้ หรือสภาพความชื้นสูงหรือต่ำเกินไป จะมีผลต่อการเจริญเติบโต ข้าวโพดหวานเป็นพืชวันสั้น ในสภาพที่ช่วงวันยาว (มากกว่า 13 ชั่วโมง/วัน) จะจำกัดการเจริญของดอกในบางสายพันธุ์

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน

1. ไถพลิกดินตากแดดอย่างน้อย 7 วัน เพื่อกำจัดเชื้อโรคพืชและแมลงในดิน

2. หากสามารถตรวจเช็คค่า pH ของดินได้จะช่วยในด้านการเติบโตของข้าวโพด โดยค่า pH ควรอยู่ในช่วง 6 – 6.5 หากสภาพดินเป็นกรดคือต่ำกว่า 6ให้เติมปูนขาวหรือดินโดโลไมค์ ในอัตรา 100 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพดิน หลังจากนั้นควรใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกช่วยปรับสภาพดินในอัตรา 2 – 5 กก./ตร.ม. ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพดินและผสมปุ๋ยเคมี สูตร 16 – 20 – 0 อัตรา 25 – 50 กก./ไร่ หากสภาพดินเป็นดินทราย ควรจะใช้ปุ๋ย สูตร 15 – 15 – 15 แทนปุ๋ย16 – 20 – 0

การเตรียมกล้า

1. เพาะกล้าอย่างประณีตในถาดหลุมเมื่อมีอายุ 7 วันแล้วย้ายปลูก

2. หากเพาะกล้าในแปลงเพาะโดยการหว่านเมล็ดในแปลงเพาะแล้วใช้แกลบดำกลบ ควรมีวัสดุคลุมแปลงเพื่อเพิ่มความชื้นและลดความร้อนในช่วงกลางวัน

3. การหยอดเมล็ดในแปลงปลูก ควรบ่มเมล็ดก่อนโดยการใช้ผ้าชุบน้ำให้เปียกและห่อเมล็ดไว้ 1 คืนให้รากเริ่มงอก แล้วนำไปหยอดในแปลงปลูกลึกประมาณ 1 เซนติเมตร และรดน้ำให้ชุ่มประมาณ4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกแทงต้นพ้นดิน

 ข้อควรระวัง

1. ควรคลุกเมล็ดด้วยเอพรอน 35 เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง และ

2. ฉีดพ่นเซฟวิน 85 ป้องกันมดและแมลงทำลายเมล็ด

3. หากใช้การหยอดเมล็ดในแปลงปลูกใช้วิธีถอยหลังแล้วหยอดเมล็ด ไม่ควรเหยียบแปลงที่หยอดเมล็ดแล้ว

4. หากปลูกช่วงฤดูร้อนควรมีการแช่เมล็ดใน GA จะช่วยเพิ่มเกษสรตัวผู้

การปลูก

1. ระยะปลูก (ต้น x แถว) 25 x 75 ซม.(5.3 ต้น/ตร.ม) จัดใบให้หันไปในทางเดียวกัน ทำมุมกับแปลง 45 องศา ทั้งนี้เพื่อให้มีการผสมเกษรได้ดีขึ้น เมื่อย้ายปลูกได้ 7 วัน

- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ใช้ 2 สูตร 21 – 0 – 0 หรือ 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กก./ไร่ โดยการละลายในน้ำ 80 ลิตร รดบริเวณโคนต้นหรือใช้วิธีการหยอดที่โคนต้น

- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อย้ายปลูกได้ 20 – 25 วัน พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชและทำการคลุมโคน หลังจากนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญมากเพราะข้าวโพดกำลังเริ่มสร้างช่อดอกเกสรตัวผู้ภายในลำต้นและระบบรากกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ควรที่จะรบกวนระบบรากมากนักอาจจะทำให้ต้นเหี่ยวและชะงักการเติบโตได้

2. เมื่อข้าวโพดมีอายุได้ 30 – 40 วัน ต้นจะมีการแตกแขนง หน่อข้างลำต้นให้เด็ดออกให้เหลือฝักบนเพียง 1 ฝัก และควรตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีการเข้าทำลายของโรคราน้ำค้าง ราสนิมและการเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้นและฝัก

3. เมื่อมีอายุได้ 45 – 50 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้ายและให้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะหากขาดน้ำ ต้นข้าวโพดจะหยุดการสร้างฝักเมล็ดส่วนปลายฝักจะฟ่อทันที

ข้อควรระวัง

1. ควรทำการกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยและคลุมโคน

2. ควรปลูกเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดไม่ต่ำกว่า 1 งานขึ้นไป

การให้น้ำ ควรปล่อยน้ำเข้าแปลงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หากพืชขาดน้ำจะทำให้การผสมเกสรไม่ดี ฝักที่ได้คุณภาพต่ำ  การติดเมล็ดไม่สม่ำเสมอ

การให้ปุ๋ย

- ใช้ปุ๋ยสูตร 16 – 20 – 0 ในอัตรา 25 – 50 กก./ไร่ ในขั้นตอนการเตรียมดิน

-  ใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 ในอัตรา 25 – 50 กก./ไร่ หลังปลูก 7 วัน

- ใช้ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 ในอัตรา 25 – 50 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดมีอายุ 25 วัน

- ใช้ปุ๋ยสูตร 13 – 13 – 21 ในอัตรา 25 – 50 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดมีอายุ 45 วัน

ข้อพิจารณา

1. ในดินทรายการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15

2. การจะใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 หรือไม่ ขอให้พิจารณาความสมบูรณ์ของข้าวโพดเป็นสำคัญ

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเมื่อมีอายุ 16 – 20 วันหลังจากที่ข้าวโพดผสมเกสร ลักษณะเปลือกเมล็ดไม่หนาเกินไปการเก็บเกี่ยวก่อนกำหนดจะทำให้ข้าวโพดหวานอ่อนเกินไปและมีน้ำหนักฝักน้อย ในขณะที่การเก็บอายุมากเกินไป ถึงแม้จะได้น้ำหนักฝักมากขึ้น แต่เปลือกเมล็ดจะหนา และข้าวโพดเสียคุณภาพ

ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องทำการนับวันที่ข้าวโพดออกไหม แล้วถึงทำการกำหนดวันเก็บเกี่ยว โดยนับจากวันออกไหม 16 – 20 วันขึ้นอยู่กับพันธุ์ของข้าวโพดหวาน จะพบว่าพันธุ์ลูกผสมมีช่วงการออกดอกสม่ำเสมอจะทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว เมื่อถึงกำหนดการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะสัมพันธ์กับความอ่อน – แก่ ขนาด รูปร่าง รสชาติและน้ำหนักของข้าวโพดหวาน ส่วนการเก็บก่อนการจำหน่ายฝักสด หรือก่อนการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ข้าวโพด

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวโดยใช้มีด ในระยะที่เหมาะสม

2. ตัดก้านให้เหลือ 20 เซนติเมตร

3. บรรจุในตะกร้าพลาสติกตามยาว

4. ลดอุณหภูมิเฉียบพลัน โดยใช้ Forced – air cooling เหลือ 2 องศาเซลเซียส

5. ขนส่งโดยรถห้องเย็นที่ 1 องศาเซลเซียส

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ มีความแก่เหมาะสม มีเปอร์เซ็นต์ของแข็งที่ละลายน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 13 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเต่ง เมื่อบีบจะมีน้ำสีขาวคล้ายน้ำนม สีของเมล็ดสม่ำเสมอทั้งฝัก และเมล็ดเต็มจนถึงปลายฝัก เปลือกหุ้มฝักมีเขียวอ่อน สด ไม่มีตำหนิใดๆ สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง  1. ฝักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวไม่น้อยกว่า 18 เซนติเมตร

      2. มีเมล็ดแตกเป็นสีน้ำตาล ที่บริเวณปลายฝักได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ฝักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 – 5.5 เซนติเมตร มีความยาวไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร

      2. มีเมล็ดแตกเป็นสีน้ำตาล ที่บริเวณปลายฝักได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ฝักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร

      2. บริเวณโคนฝักและปลายฝักอาจมีเมล็ดไม่เต็มได้ แต่ต้องมีส่วนที่ติดเมล็ดยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป

      3. มีเมล็ดแตกสีน้ำตาลที่บริเวณปลายฝักได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง ข้าวโพดหวานในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. ลอกเปลือกออกเหลือหุ้มฝักประมาณ 2 – 3 ชั้น ตัดก้านและปลายฝักออก (ไหมและปลายแกนที่ไม่มีเมล็ด)

2. บรรจุถุงพลาสติกเจาะรู หรือใช้พลาสติกโพลีไวนีลคลอไรด์ (PVC) ห่อ

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 98 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 5 – 8 วัน (ไม่ควรเก็บรักษาข้าวโพดหวานไว้ในที่มีอุณหภูมิสูงเพราะจะสูญเสียความหวานเร็วมาก)

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์