การใช้ IoT ยกระดับการผลิตองุ่นให้ปลอดภัย! ลดต้นทุน-ลดสารเคมี รับมือโลกเดือด

ประเทศไทยมีการปลูกองุ่นเป็นไม้ผลเศรษฐกิจมานานมากกว่า 60 ปี จนแพร่หลายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศเนื่องจากเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อยให้ผลตอบแทนสูง อีกทั้งการปลูกองุ่นยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการปลูกองุ่นยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เกิดจากภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการปลูกองุ่น
เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูมากขึ้นเกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ และ IoT (Internet of Things) มาใช้ในระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อช่วยสนับสนุนการวางแผนและการตัดสินใจบนฐานข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง ทำให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ ผลผลิตที่ออกมาตรงตามความต้องการของตลาด ช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน จากการใช้ปัจจัยการผลิตเช่น สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี น้ำ และลดการใช้แรงงานคน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อเกษตรกร ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของต้นองุ่น ข้อมูลด้านสภาพอากาศ และการเกิดโรคและแมลง เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการแจ้งเตือนการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชโดยทำการทดลองในปี พ.ศ. 2566-2567 กับองุ่นพันธุ์ Shine Muscat อายุ 3 ปี ระยะปลูก 3 x 6 เมตร ใช้ค้างแบบผืน จัดทรงต้นแบบตัว T ปลูกในโรงเรือนมุงหลังคาพลาสติก ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ใช้เซนเซอร์ บันทึกข้อมูลสภาพอากาศและคุณสมบัติของดิน เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเข้มแสง และค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน เป็นต้น โดยใช้เซนเซอร์ และระบบเทคโนโลยี IoT มาเก็บข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตขององุ่น จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งและบันทึกแบบเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยี LoRa Gateway และแสดงผลในโทรศัพท์มือถือ
ผลการทดลองพบว่า ช่วงวันที่ 22-30 มีนาคม 2566 มีอุณหภูมิเฉลี่ย 34.99-36.88 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเฉลี่ยอยู่ในช่วง 32.73-42.63 เปอร์เซ็นต์ สัมพันธ์กับการระบาดของเพลี้ยไฟระบาดหนักในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นองุ่นแทงช่อดอก-ติดผลขนาดเล็ก (ภาพที่ 1) ทำให้ผิวผลองุ่นเสียหาย และตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2566 มีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยมากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ นานติดต่อกัน 3 วัน (ภาพที่ 2) สัมพันธ์กับการระบาดของโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายผลในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ติดผลและผลเริ่มนิ่ม ทำให้มีผลผลิตสูญเสียไปถึง 76.85 เปอร์เซ็นต์
ทดสอบการตั้งค่าการแจ้งเตือนในปี พ.ศ. 2567 เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ระบบจะเปิดน้ำอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความชื้นและลดการระบาดของเพลี้ยไฟ และตั้งค่าการแจ้งเตือนเมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยมากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ให้ระบบแจ้งเตือนการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแอนแทรคโนสพบเพลี้ยไฟระบาดในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นองุ่นแทงช่อดอกติดผลขนาดเล็ก และพบโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ ติดผลและผลเริ่มนิ่ม ทำให้มีผลผลิตสูญเสียไป 12.14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่สูญเสียแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่งผลให้มีการสูญเสียของผลผลิตลดลงถึง 64.71 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงลดลงถึง 58.33 เปอร์เซ็นต์
จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยี IoT เข้ามาช่วยในระบบการปลูกองุ่น เพื่อแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตองุ่น ลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อรองรับการปลูกพืชภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยสามารถนำค่าวิกฤตที่ได้จากงานวิจัยนี้มาปรับใช้ในการเปิด-ปิดน้ำ และการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ได้เพียงแค่มีเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่ราคาย่อมเยา ประมาณ 200-300 บาท แต่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อแจ้งเตือน และดำเนินการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา
ผู้เขียน/เรียบเรียงโดย ปัณชพัฒน์แจ่มเกิด และ สุชาดา ธิชูโต
ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน