องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มาทำความรู้จักกับ Nature-Based Solutions (NbS) และ Ecosystem-Based Adaptation (EbA)

Nature-based Solutions (NbS) และ Ecosystem-based Adaptation (EbA) เป็นแนวทางที่ใช้ธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย NbS เน้นการใช้ธรรมชาติในการสร้างระบบที่ยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วน EbA เน้นการปรับตัวโดยการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศในการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แนวคิด Nature-based Solutions (NbS) ถูกนำเสนอครั้งแรกโดย International Union for Conservation of Nature (IUCN) ในปี 2009 เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ โดย NbS มุ่งเน้นการบูรณาการธรรมชาติในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ในขณะที่ Ecosystem-based Adaptation (EbA) ได้รับการส่งเสริมโดย United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) และ Convention on Biological Diversity (CBD) โดยเน้นการใช้ระบบนิเวศเพื่อปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์ในระดับนานาชาติ เช่น โครงการ REDD+ และการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ประเทศไทยได้นำแนวทาง NbS และ EbA มาใช้ในนโยบายและโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG) ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีการดำเนินงานสอดคล้องกับแนวทาง NbS และ EbA โดยมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพื้นที่สูงทางภาคเหนือ มีความสำคัญในฐานะแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่มีพืชพรรณท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งแนวทาง NbS และ EbA สามารถช่วยสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างการประยุกต์แนวทาง NbS และ EbA ด้านความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง

1. การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างแหล่งอาหารของชุมชน (Food Bank) เช่น ชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก ต.แม่พริก อ. แม่สรวย จ. เชียงราย เป็นตัวอย่างของการใช้แนวทาง NbS ในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการปลูกพืชและเห็ดท้องถิ่น เช่น เห็ดตับเต่า

เห็ดเผาะ เห็ดแดง และพืชสมุนไพรท้องถิ่น รวมถึงพืชที่ปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น มะแขว่น หวาย และลิงลาว เป็นต้น พื้นที่ดังกล่าวยังถูกพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการดำเนินงานนี้ช่วยลดรายจ่ายของชุมชนและสร้างรายได้เสริม รวมทั้งช่วยลดการเผาป่าที่ส่งผลต่อปัญหาหมอกควันและ PM 2.5

2. การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านปางมะโอ ต. แม่นะ อ. เชียงดาว และบ้านป่าแป๋ ต. ป่าแป๋ อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีการประกอบอาชีพที่เกื้อกูลกับป่า ซึ่งเป็นระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยการปลูกพืชใต้ร่มเงาป่า เช่น ชาอัสสัม กาแฟอะราบิกาและพืชสมุนไพร ซึ่งการปลูกพืชเหล่านี้ใช้ระบบอินทรีย์ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศในป่าและช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้น สามารถเพิ่มรายได้ของชุมชน รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 3,924 ไร่ นอกจากนี้ รวมทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากพืชท้องถิ่นและพืชสมุนไพร เช่น ชาอัสสัม ชาชงสมุนไพร น้ำมันนวดสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

3. การเพาะเลี้ยงเห็ด ท้องถิ่นและเห็ดเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร เช่น ชุมชนบ้านห้วยขี้เหล็ก ต. วาวี อ. แม่สรวย จ. เชียงราย เป็นตัวอย่างของการใช้ EbA ในการเพาะเลี้ยงเห็ดไมคอร์ไรซา เช่น เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า และเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดสกุลนางฟ้านางรม เห็ดขอนขาว และเห็ดหูหนู ซึ่งช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในป่า ลดการเผาป่า และเป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงเห็ดแบบครบวงจร

ประโยชน์ที่ได้รับจาก NbS และ EbA

NbS และ EbA เป็นเครื่องมือสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูง โดยการผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยสร้างความยั่งยืนในทุกมิติและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ดังนี้

1. เศรษฐกิจ

o  เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยการจำหน่ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชท้องถิ่น

o  ลดรายจ่ายครัวเรือนจากการพึ่งพาอาหารในท้องถิ่น

2.สังคม

o  สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

o  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. สิ่งแวดล้อม

o  ลดปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 จากการเผาเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรและการเผาป่า

o  เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า


แหล่งที่มา

IUCN, 2020

https://buildersproject.eu/news/3/nature-based-solutions

https://pub.norden.org/temanord2024-519/2-background-on-nature-based-solutions-.html

https://setsustainability.com/libraries/1151/item/nature-based-solution-nbs-


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ 

ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน