ภูมิทัศน์ข้าวยั่งยืน: แนวทางความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
ภูมิทัศน์ข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Landscape) เกิดขึ้นจากแนวคิดการปลูกข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของโลก โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งข้าวถือว่าเป็นอาหารหลักที่เลี้ยงดูประชากรกว่าครึ่งโลก แต่กระบวนการผลิตข้าวกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น ใช้น้ำปริมาณมาก ปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าว และใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ฯลฯ แนวคิดภูมิทัศน์ข้าวยั่งยืนจึงเกิดขึ้นเพื่อบูรณาการวิธีการจัดการระบบนิเวศเข้ากับการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง
มุมมอง “แนวคิดภูมิทัศน์ข้าวยั่งยืน”
ประเทศไทย: ข้าวเป็นรากฐานของวิถีชีวิตไทย เป็นพืชอาหารหลักและพืชที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ภูมิทัศน์นาขั้นบันไดที่สวยงามในพื้นที่ภาคเหนือกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่สำคัญ จากความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวที่มีคุณค่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอด จัดการน้ำ/ปุ๋ยในพื้นที่นาข้าวให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการทำนาเปียกสลับแห้ง (Alternative Wetting and Drying) ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรยั่งยืนหรือการเข้าถึงตลาดที่เป็นธรรม ดังนั้น ภูมิทัศน์การปลูกข้าวไม่ใช่แค่พื้นที่เกษตรกรรมแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ยั่งยืนซึ่งสร้างความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจท้องถิ่น
นานาประเทศ: ข้าวในฐานะอาหารหลักสำหรับประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีบทบาทต่อความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่ใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลผลิตสูง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนาข้าวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดรน ระบบ AI ภายใต้เงื่อนไขพื้นที่การเกษตรจำกัดเกิดการพัฒนาปลูกข้าวในระบบโรงเรือน ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนสำหรับการปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
“โครงการระบบการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบองค์รวม (Inclusive Sustainable Rice Landscapes: ISRL)”
ภายใต้ความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่าง สวพส. กับ GIZ
ระบบการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบองค์รวม คือ แนวคิดการจัดการภูมิทัศน์การปลูกข้าวเชิงพื้นที่ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างความเข้มแข็งทางสังคม โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร เช่น พื้นที่ลาดชัน พื้นที่เสื่อมโทรมไปสู่พื้นที่เกษตรที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย ชุมชนเกิดความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน
GIZ (The Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit) เป็นองค์กรที่ได้รับเงินทุนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลกโดยสนับสนุนทางวิชาการ เทคนิคหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้แนวทางการจัดการภูมิทัศน์ตามแนวคิด “การแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน: Nature-Based Solutions" เป็นสะพานเชื่อมการเข้าถึงแหล่งทุนและโครงการพัฒนาระดับนานาชาติ
แผนงาน “การจัดการภูมิทัศน์การปลูกข้าวเชิงพื้นที่บนพื้นที่สูง”
การใช้เครื่องมือระบบ GIS ในการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองภูมิทัศน์ สร้างขอบเขตการใช้พื้นที่เกษตรตามข้อมูลชะล้างพังทลายของดิน สนับสนุนการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ ส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่เสื่อมโทรม มุ่งเน้นส่งเสริมเกษตรกรและชุมชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนบริหารการจัดการภูมิทัศน์เชิงพื้นที่ เช่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ลาดชันให้อยู่ในรูปแบบขั้นบันได การปลูกพืชแบบผสมผสาน ใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝกและการกักเก็บน้ำใต้ดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านการปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานภาคีเครือข่าย และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความรู้ด้านการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคการเกษตร
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: นางจันทร์จิรา รุ่งเจริญ และนายภูริน สิริโชติชัย
ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน