ปุ๋ยหมักช่วยลดเผา ช่วยเรามีตังค์(อย่างไร)
พื้นที่สูงของประเทศไทยมีจำนวน 54.97 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัดของประเทศ มีความสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา 4,205 กลุ่มบ้าน ประชากรประมาณ 1,070,354 คน เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและเก็บหาของป่าเพื่อสร้างรายได้เสริม ซึ่งการทำเกษตรตามวิถีและความเชื่อดั้งเดิมนำไปสู่การบุกรุกคุกคามพื้นที่ป่ามากสุดในพื้นที่ภาคเหนือ สูงถึง 651 แห่ง จากทั้งหมด 1,384 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ ให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อรายจ่ายครัวเรือนที่เกิดขึ้นในสภาวการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ การทำไร่หมุนเวียน การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชผัก เช่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ซึ่งนับเป็นสาเหตุสำคัญของการเผา โดยการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวไร่หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวิธีที่ง่าย ใช้แรงงานน้อย ใช้ต้นทุนและเวลาน้อยที่สุด แต่สร้างปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดเช่นกัน โดยปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่เกษตรสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวม 147,250.46 ไร่ และเหลือเศษพืชจากกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวน 85,258.01 ตัน หากไม่จัดการอย่างเหมาะสมจะก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานต่างๆได้สร้างกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่(Area Based)หลากหลายวิธี เช่น ไถกลบต่อซังในพื้นที่ราบ ทำคันปุ๋ย(Compost dist)ในพื้นที่ลาดชัน ทำฟางอัดก้อนในจุดโม่เศษพืช ทำชีวมวลอัดเม็ดเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในพื้นที่ลาดชันให้เหมาสมกับสภาพพื้นที่ รวมไปถึงการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งการผลิตปุ๋ยหมักจัดได้ว่าเป็นทางออกที่ยั่งยืนในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดการเผา ไม่เพียงแต่ช่วยลดมลภาวะเท่านั้นแต่ยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
ปุ๋ยหมัก เกิดจากกระบวนการหมักปุ๋ย เป็นกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์หลายชนิดภายใต้สภาวะที่มีสารอาหาร ความชื้น อุณหภูมิ และปัจจัยอื่นๆที่เหมาะสมต่อการทำงานของจุลินทรีย์มากที่สุดจนได้ผลผลิตที่มีความตงตัว มีค่าอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโดรเจนต่ำ ไม่มีกลิ่น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมได้ และต้องคำนึงถึงคุณภาพให้เหมาะแก่การนำไปใช้ด้วย วัสดุที่ใช้ในการหมักปุ๋ยส่วนใหญ่จะเป็นพวกสารอินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และมักเป็นวัสดุที่เหลือจากเกษตรกรรม ได้แก่ เศษใบไม้ มูลสัตว์วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เศษฟาง ใบพืช วัชพืชต่างๆหลังจากการหมักวัสดุเหล่านี้แล้วปุ๋ยหมักจะมีคุณสมบัติในการบำรุงและปรับปรุงดินต่อไป
จากผลวิเคราะห์สุ่มตัวอย่างปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในปี พ.ศ.2567 ที่มีการผลิตปุ๋ยหมักโดยได้ซังข้าวโพดเป็นส่วนผสมหลัก พบว่ามีปริมาณอินทรียวัตถุสูงมาก
เมื่อเทียบกับปุ๋ยหมักจากชานอ้อยและปุ๋ยหมักแกลบดำ และยังมีธาตุอาหารอื่นๆที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าปุ๋ยหมักจากเศษซังข้าวโพดนอกจากจะลดการเผาแล้ว ยังมีธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมสามารถนำไปปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ต่อไปได้
การจัดการเศษพืชที่เหลือจากการเกษตรโดยการทำปุ๋ยหมัก ใช้ปรับปรุงคุณภาพดินและเพิ่มผลผลิตพืชอย่างยั่งยืนในชุมชนบนพื้นที่สูง ทั้งนี้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ทั้ง 44 แห่ง ได้นำเศษพืชที่เหลือจากเก็บเกี่ยวผลผลิตมาทำปุ๋ยหมัก จำนวน 2,660 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.12 ของปริมาณเศษพืชทั้งหมด ช่วยลดปริมาณเศษพืชที่อาจจะถูกเผาทิ้งและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ จำนวน 2,660 ตัน ลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ถึง 944.16 tonC ที่สำคัญคือการผลิตปุ๋ยหมักสามารถช่วยในการลดต้นทุนในการปลูกพืชโดยเฉพาะพืชผักที่ปลูกระบบการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย(พืชผักอินทรีย์-Organic)ด้วยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีแต่ใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากเศษพืชวัสดุในชุมชนทดแทน ด้วยวิธีการดังกล่าวเกษตรดรสามารถจำหน่ายผลผลิตพืชผักอินทรีย์ได้ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร จากการใช้ปุ๋ยหมักในกระบวนการผลิตพืชตามระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 41,774,812 บาท ในปี 2567(ฝ่ายตลาด สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ดังเช่น ชุมชนบ้านป่าบงงามบน,บ้านสันโค้ง,บ้านเล่าชีก๋วย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 1,200 ไร่ มีเศษข้าวโพดแห้งเหลือทิ้งไม่น้อยกว่า 694.8 ตัน แต่ชุมชนและหน่วยงานต่างๆในพื้นที่สามารถที่จะผลิตปุ๋ยหมักจัดการเศษพืชในชุมชนได้เพียง 130 ตัน ซึ่งปุ๋ยหมักดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตพืชผักในระบบอินทรีย์ สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ 1,551,134 ล้านบาท ตอบโจทย์ในพื้นที่การส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืน ปรับระบบการทำเกษตรที่ประณีต ในลักษณะ” ทำน้อยได้มาก “ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ในด้านการปลูกพืชผักระบบเกษตรอินทรีย์เฉลี่ย 270,000 บาท/ครัวเรือน ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการดำเนินการ ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ตระหนักถึงปัญหาเศษพืชที่มีปริมาณ หากเกิดการเผาจะส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมาก จึงร่วมมือกับชุมชน หน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่น สถานศึกษา ถ่ายทอดความรู้การจัดการเศษพืชด้วยวิธีทำปุ๋ยหมัก พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมักปรับปรุงดินและเพิ่มผลผลิตผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์บนพื้นที่สูงต่อไป