คนรุ่นใหม่ คิดอย่างไรกับการเกษตรบนพื้นที่สูง
ภาพของสังคมเมืองและชนบทคือภาพตัดของความต่าง ทั้งในด้านทางเลือกในการประกอบอาชีพและการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก เราจึงเห็นภาพของผู้คนในชนบทโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเขตเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สูงส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจทำเกษตรในชุมชนบ้านเกิด การรวบรวมความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อำเภออมก๋อยและอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบแรงจูงใจที่ทำให้คนรุ่นใหม่บนพื้นที่สูงสานต่ออาชีพการเกษตร ดังนี้ (1) คนรุ่นใหม่ให้คุณค่าต่ออาชีพที่เป็นนายตัวเอง เนื่องจากมีโอกาสทำตามสิ่งที่ตัวเองฝัน มีอิสระในการกำหนดเวลาทำงาน และได้อยู่กับครอบครัว (2) การได้รับการสนับสนุนทั้งความรู้และกำลังใจจากครอบครัวในการทำเกษตร (3) ครอบครัวมีที่ดินที่เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับทำเกษตรที่คนรุ่นใหม่สามารถสานต่อการเกษตรเดิมของครอบครัวหรือริเริ่มสิ่งใหม่ (4) การทำงานอยู่ที่บ้านเกิดทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึก “มีตัวตน” มากกว่าการออกไปเป็นแรงงานในเขตเมือง และ (5) การได้รับคำแนะนำด้านการผลิตและการตลาดจาก สวพส. และหน่วยงานเครือข่าย
วันนี้พามารู้จักคนรุ่นใหม่ที่บ้านหัวแม่เย็น ในพื้นที่ดอยสามหมื่น ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นายวิริทธิ์พล โชคภัทรชัย หรือ เล อายุ 28 ปี ที่ได้ตัดสินใจกลับมาประกอบอาชีพปลูกกาแฟภายหลังจบการศึกษาระดับชั้น ปวส. สาขาไฟฟ้า เลเป็นผู้ที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับกาแฟเกือบทุกมิติ ทั้งในด้านแหล่งเพาะปลูกที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เลกล่าวว่า...
“กาแฟไม่สามารถปลูกกลางแจ้งแปลงใหญ่แบบข้าวโพดได้ แต่ต้องปลูกใต้ร่มเงาต้นไม้ ที่จะได้ทั้งผลผลิตกาแฟคุณภาพและป่าไม้รอบชุมชน”
การสร้างมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปเป็นสารกาแฟและกาแฟคั่วที่สร้างรายได้มากกว่ากาแฟกะลา การต่อยอดตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงจากประสบการณ์ที่เลได้เคยจำหน่ายสารกาแฟออนไลน์ครั้งแรกในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือพ่อที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตกาแฟกะลาตกต่ำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับลักษณะพิเศษของกาแฟแต่ละสายพันธุ์อย่างจริงจัง
ในฤดูกาลผลิต 2564-2565 เลสามารถผลิตกาแฟกะลารวมทั้งสิ้น 2.4 ตันแบ่งเป็นผลผลิตที่มาจากสวนใหม่ที่ปลูกพันธุ์ Typica ภายใต้ร่มเงาต้นไม้ จำนวน 1.2 ตัน แปรรูปด้วยวิธี Dry Process เป็นสารกาแฟคุณภาพพิเศษจำหน่ายในราคาสูงกว่ากาแฟปกติเกือบสามเท่าตัว และผลผลิตอีกครึ่งหนึ่งมาจากสวนเดิมที่ปลูกกลางแจ้งของพ่อที่มอบให้ดูแลต่อ แม้แปลงปลูกกาแฟที่บ้านหัวแม่เย็นจะอยู่ห่างไกลจากเขตเมือง แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจำหน่าย เพราะเลจะนำผลผลิตกาแฟมาเก็บไว้ที่สถานที่รวบรวมที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านหัวแม่เย็นมากกว่าตัวอำเภอเชียงดาว เพื่อความสะดวกต่อการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าและความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า เลจำหน่ายผลผลิตกาแฟผ่าน Facebook Page ของตนเองในอดีตภายใต้ชื่อ “กาแฟห้วยน้ำดัง” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “Lay Coffee Estate” และผ่านเครือข่ายผู้บริโภคกาแฟคุณภาพพิเศษ
ปัจจุบันเลกำลังทำความฝันของตนให้เป็นจริงคือการมีสวนกาแฟใต้ร่มเงาที่รวบรวมกาแฟสายพันธุ์ดีมาปลูกไว้ และในอนาคตมุ่งหวังให้แปลงกาแฟในบ้านหัวแม่เย็นซึ่งมีระดับความสูง 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเลและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพ ที่ผู้เรียนรู้จะสามารถมีประสบการณ์ตรงกับระบบนิเวศการปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาป่าไม้และกระบวนการผลิต ที่นอกจากจะเป็นช่องทางขยายตลาดกาแฟคุณภาพพิเศษจากบ้านหัวแม่เย็นให้รู้จักแพร่หลายแล้ว จะเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชน การเรียนรู้และการปรับตัวของเลเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ ที่เห็นโอกาสของการสร้างงานที่มีคุณค่าบนพื้นที่สูง โดยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณลักษณะพิเศษของกาแฟบนพื้นที่สูงสู่ตลาดผู้บริโภคเฉพาะ วันนี้ เลเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองจากการเป็นผู้ปลูกกาแฟสู่การเป็นเจ้าของกิจการ “ไร่กาแฟโชคภัทรชัย” ไปพร้อมกับการสร้างครอบครัวเล็กๆ ของเขาให้เติบโตที่บ้านเกิด
การสร้างงานและอาชีพในกลุ่มคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สูงในระยะต่อไป จึงควรมีการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ของเยาวชนและคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สูงทั้งในลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มผลิตสินค้าเดียวกันเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แรงบันดาลใจ และเชื่อมโยงตลาด การพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ให้สามารถปรับตัวรองรับระบบการเรียนรู้และการตลาดยุคใหม่ การส่งเสริมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนข้ามรุ่นในการต่อยอดความรู้ของท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างการรับรู้ของสังคมที่ให้คุณค่ากับงานที่เป็นนายตัวเองในภาคการเกษตร ด้วยการสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและสร้างสรรค์โดยเกษตรกรรายย่อย
เรียบเรียง: เกษราภร ศรีจันทร์ ชัยเจริญ นิติคุณชัย และปภพ จี้รัตน์