หอมญี่ปุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium fistulosumL.
ชื่อสามัญ Bunching onion
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป หอมญี่ปุ่นจัดอยู่ในตระกูล Alliaceae ลักษณะทั่วไปประกอบด้วย รากซึ่งเป็นระบบ fibrous root และ root hair ลำต้นจริงจะมีลักษณะเป็นแผ่นอยู่ระหว่างรากและใบ ใบมีลักษณะเป็นหลอดยาว คล้ายใบหอม ขนาดใหญ่ มีจำนวน 6 – 7 ใบต่อต้น โดยใบนอกจำนวน 4 ใบ จะเป็นใบแก่ ใบอ่อนจะอยู่ด้านในจำนวน 2 – 3 ใบ ลำต้นเทียม คือ ส่วนของกาบใบ (scape) ทำหน้าที่สะสมอาหารเป็นส่วนที่นำมาบริโภคซึ่งจะขยายตัวตามยาว โดยทั่วไปลำต้นเทียมสูง 25 – 75 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 7 เซนติเมตร ดอกอาจผสมตัวเองหรือผสมข้ามกับ A. cepa หรือ fistulosum ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการแยกกอ
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ส่วนที่นำมาบริโภคคือลำต้นเทียมที่มีลักษณะกลมยาวสีขาว ประกอบด้วย provitamin A และ C ในสภาพอุณหภูมิต่ำ จะประกอบด้วยน้ำตาลและโปรตีนสูงสายระเหยในพืชตระกูลหอมส่วนใหญ่คือ propyl disulfide และ methyl propyl disulfide สารกระตุ้นต่อมน้ำตา (lachrymator inducing compound) คือ thiopropanal sulfoxide
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
ดินที่เหมาะสมควรร่วนซุย หรือร่วนปนทราย หน้าดินลึก ระบายน้ำได้ดี และอินทรีย์วัตถุสูง ไม่สามารถเจริญได้ดีในดินที่เป็นกรดจัด pH ที่เหมาะสมคือ 6.0 – 6.8 ในดินที่มี pH ต่ำ ควรใส่ปูนขาวปรับสภาพดิน ต้นหอมปกติจะไม่ลงหัว แต่ในกรณีที่มีช่วงแสงยาวกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน และมีอุณหภูมิสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส หัวจะเจริญแต่จะมีขนาดเล็กไม่เกิน 10 เซนติเมตร และเมื่อผ่านอุณหภูมิต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส และช่วงแสงสั้น พืชจะแทงช่อดอก ส่วนในเขตร้อนดอกจะไม่เจริญ สภาพแปลงปลูกควรได้รับแสงอย่างเต็มที่
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า ควรเพาะกล้าแบบประณีตในถาดหลุม
การเตรียมดิน ให้ขุดพลิกดินตากแดดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อฆ่าเชื้อในดิน กำจัดวัชพืช หากสภาพดินเป็นกรด ควรใส่ปูนขาวอัตรา 100 – 200 กิโลกรัม/ไร่
การปลูก หลังจากเตรียมแปลงปลูกเรียบร้อยแล้ว ก่อนปลูกควรรดน้ำให้แปลงมีความชุ่มชื้นแล้วทำการปลูกโดย ขุดร่องลึก 30 ซม. ห่างกัน 80 ซม. เลือกต้นกล้าที่มีขนาดเท่ากันปลูกก่อนในแปลงเดียวกัน กลบดินรดน้ำให้ทั่วแปลง
การให้น้ำ กระเทียมต้องการน้ำควรมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูการปลูก ในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ถ้าฝนตกไม่พอ ควรให้น้ำเพิ่มเติม หรือใช้สปริงเกอร์ให้น้ำแบบฝอยช่วย
การให้ปุ๋ย หลังปลูก 20 วัน โรย 21 – 0 – 0 และ 15 – 15 – 15 อัตรา 20 กรัม/ตร.ม. ลงในร่องปลูก แล้ว กลบดิน พูนโคน อายุ ได้ 40 วัน โรยปุ๋ย 1 5 – 15 –15 แล้วกลบดินพูนโคนต้นถึงระดับใบล่าง
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 90 วันขึ้นไป หรือเมื่อส่วนของลำต้นเทียม (ส่วนกาบใบสีขาว) ยาวประมาณ 18 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2 เซนติเมตรขึ้นไป
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวโดยการถอนจากดิน ลอกกาบใบนอกสุดออกเพื่อทำความสะอาด
2. ทำความสะอาดส่วนที่ติดดินออก
3. ตัดส่วนของรากทิ้ง ให้เหลือประมาณ 0.5 เซนติเมตรจากโคนต้น
4. ถ้าผักเปียกน้ำ ควรผึ่งให้แห้ง ระวังอย่าให้ใบแตก
5. บรรจุลงถุงพลาสติกเจาะรู ถุงละ 8 กิโลกรัม ต้นควรมีใบอวบสีสด
6. ลดอุณหภูมิเฉียบพลันให้เหลือ 1 - 2 องศาเซลเซียส ขนส่งโดยรถห้องเย็น
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ : คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ลำต้นเทียมตรงมีสีขาว ไม่แตกแขนง ต้นแน่น แข็ง สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. ลำต้นเทียมมีความยาว 20 – 25 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 - 3 เซนติเมตร
2. มีใบแตกหรือหักได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีตำหนิใดๆ ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. ลำต้นเทียมมีความยาว 15 – 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 2.5 เซนติเมตร
2. ลำต้นเทียมอาจโค้งได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีใบแตกหรือหักได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีตำหนิใดๆ ได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. มีลำต้นเทียมขนาดเท่ากับชั้นสอง
2. มีคุณภาพอื่นเหมือนชั้นสอง
3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง : หอมญี่ปุ่นที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเตรียมสู่ตลาด
1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ
2. บรรจุถุงพลาสติกทรงกระบอกเจาะรู
การเก็บรักษา : อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 3 – 4 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์