องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พันธุ์พืชท้องถิ่นกับความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนชาติพันธุ์ในเขตภาคเหนือของประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์มีวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป สำหรับสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนชาติพันธุ์ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจากการทำ “เกษตรพอเพียง” มาสู่ “การผลิตเพื่อการค้า” นำมาสู่การพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากภายนอกมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชอาหารที่มีความหลากหลายของชุมชนลดน้อยลง ส่งผลให้องค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ระหว่างคนแล ะธรรมชาติมีช่องว่างมากขึ้น(1)

การปรับเปลี่ยนมาสู่ “การผลิตเพื่อการค้า” พันธุ์พืชท้องถิ่นของชุมชนชาติพันธุ์ถูกเก็บไว้ตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อช่วยในการรักษาและขยายพันธุ์ไม่ให้สูญหาย ซึ่งพันธุ์พืชท้องถิ่นนอกจากจะทนฝนทนแล้งแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของระบบนิเวศในแปลงเกษตรผสมผสานกันโดยให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง โดยมีการหมุนเวียนให้ได้บริโภคตลอดทั้งฤดูกาล จึงทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนตลอดทั้งปี(1) จากการรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกฉบับปี 2567 (Global Report on Food Crises : GRFC 2024) โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เปิดเผยว่าประชากรเกือบ 282 ล้านคนใน 59 ประเทศ และเขตแดน ประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร อีกทั้งยังเผชิญกับความหิวโหยเฉียบพลันในระดับที่สูง โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก ปีที่ผ่านมาถึง 24 ล้านคน เป็นผลมาจากความขัดแย้ง เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง(2) นอกจากสถานการณ์ดังกล่าวแล้วยังมีปัจจัยและสาเหตุต่างๆที่ส่งผลต่อความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่นของชุมชนชาติพันธุ์ เนื่องจากในปัจจุบันแนวโน้มของความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ลดลง มีสาเหตุมาจาก….(1)

1. ลักษณะแปลงเกษตรของชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความลาดชัน มีการชะล้าง พังทลายสูง และการปลูกพืชซ้ำที่เดิมทำให้ไม่ได้ผลผลิต เนื่องจากดินเสื่อมสภาพ

2. การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในไร่ข้าว และข้าวโพด จากการเข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และประหยัดเวลาในการทำการเกษตร แต่สารเคมีเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้พันธุ์พืชท้องถิ่นสูญหาย เนื่องจากถูกกำจัดไปพร้อมกับวัชพืชในแปลงเกษตร

3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดโรคระบาดและแมลงเข้าทำลายในพื้นที่การเกษตร

4. การพึ่งพาตลาดภายนอกมากขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน ชุมชนจึงนิยมซื้ออาหารจากภายนอกมาบริโภค ทำให้ความนิยมในการปลูกพืชผักบริโภคเองในชุมชนลดน้อยลง

5. หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมบุกเบิกที่ดินทำกิน บุกร้างถางพง โดยที่ชุมชนกำหนดขอบเขตกันเอง สถานการณ์ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เริ่มเข้ามาดูแลเรื่องขอบเขตที่ดินทำกิน และ ส่งเสริมระบบการเกษตรที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่าการทำไร่แบบดั้งเดิม

6. การคุกคามของพืชเศรษฐกิจเข้ามามีบทบาทสำคัญกับระบบการผลิตของชุมชนที่เน้นเรื่องของ การปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้ชุมชนต้องผลิตภายใต้กลไกของการส่งเสริมทั้งของ   กลุ่มทุน และนโยบายของภาครัฐ เช่น การประกันราคา การชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งการปลูกพืชเศรษฐกิจต้องใช้พื้นที่ในการผลิตเป็นจำนวนมาก และต้องผลิตให้ทันกับความต้องการของตลาด การปลูกพืชอาหารในชุมชนจึงลดน้อยลง

7. การลดลงของความหลากหลายของพืชอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะพืชอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การใช้สารเคมี การเปลี่ยนพื้นที่ผลิตอาหารเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว   ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพาอาหารจากตลาดภายนอกมากขึ้น

8. การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินที่ชุมชนหลายพื้นที่ยังไม่มีความมั่นคง เพราะยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิและการจัดการที่ชัดเจนเรื่องแนวเขตที่ดินทำกิน

9. ปัญหาระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืนด้วยระบบการตลาดที่รุกคืบเข้ามาในชุมชน เช่น เมล็ดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่ถูกนำมาจำหน่าย และส่งเสริมให้ปลูกในชุมชน ซึ่งเป็นพันธุ์พืชที่ไม่สามารถใช้ในการขยายพันธุ์ หรือเก็บรักษาไว้ทำพันธุ์ต่อได้ ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่พันธุ์พืชพื้นบ้านจะถูกทดแทนจากพันธุ์พืชต่างถิ่น เหมือนเช่นชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่ไม่สามารถรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นไว้ได้

10. การสืบทอดภูมิปัญญาด้านการรักษาทรัพยากรและการรักษาพืชอาหาร สถานการณ์ชุมชนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ ประชากรในวัยแรงงานเริ่มที่จะออกไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ มากขึ้น ทำให้ไม่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาเรื่องของการรักษาทรัพยากรและพืชอาหารในชุมชน รวมถึงประเด็นการรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ยังไม่ได้มีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบทำให้การสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นลดน้อยลง องค์ความรู้บางเรื่องเริ่มที่จะสูญหายไปจากชุมชน

11. การขาดนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่ยังไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาพันธุกรรมพื้นบ้าน และรักษาพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของ ชุมชนอย่างยั่งยืน

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลที่จะช่วยเชื่อมโยงให้ชุมชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของ    การรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น เพื่อรักษาฐานความมั่นคงทางอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น จึงได้มีการศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง รวมทั้งสร้างชุมชนตัวอย่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และต่อยอดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยการมุ่งหาพืชที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือสภาวะโลกร้อน รวมถึงรองรับการแข่งขันทางการตลาด และมีเป้าหมายเพื่อยกระดับพืชท้องถิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งอนุรักษ์ ฟื้นฟูฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูงเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG model ซึ่งมีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2566 ในพื้นที่ 8 จังหวัด 118 ชุมชน และ 10 ชาติพันธุ์ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ ดังนี้

· เกษตรกรบนพื้นที่สูง จำนวน 20 ชุมชน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน และ ตาก มีอาชีพทางเลือกจากการเพาะปลูกพืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพ จำหน่ายเป็นวัตถุดิบขั้นต้นและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งในระดับครัวเรือนและเชิงพาณิชย์

· สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน 67,141,845 บาท เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง

· เกษตรกรนำองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงเห็ดไมคอร์ไรซามาเสริมแหล่งอาหารและฟื้นฟูระบบนิเวศ สามารถช่วยลดการเผาป่า แก้ปัญหาหมอกควันบนพื้นที่สูงได้มากกว่า 1,800 ไร่

·     เกิดพื้นที่ต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน (Food bank) จำนวน 10 แห่ง และขยายผลสู่ชุมชนเครือข่าย จำนวน 103 ชุมชน มีสมาชิก 4,573 ครัวเรือน


นอกจากนี้ยังส่งผลให้ชุมชนบนพื้นที่สูง มีความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) จากความหลากหลายของพืชพรรณท้องถิ่น สามารถขยายผลงานภายใต้โมเดลธนาคารอาหารชุมชนสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง รวม 118 กลุ่มบ้าน คิดเป็น 19.15% จากพื้นที่เป้าหมาย 616 กลุ่มบ้าน ทำให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีภาพอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี

แหล่งอ้างอิง

(1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. มปป. คุณค่าทางเศรษฐกิจของพันธุ์พืชท้องถิ่น กรณีศึกษา

ชุมชนชาติพันธุ์ 5 ชาติพันธุ์. วนิดาการพิมพ์. เชียงใหม่: หน้า 1-118.

(2) แพรวพรรณ สิริเลิศ. 2567. รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกปี 2567 เผยโลกเผชิญกับ ‘ความไม่มั่นคงทาง

อาหาร’ เหตุจากความขัดแย้ง – สภาพอากาศสุดขั้ว – เศรษฐกิจย่ำแย่. สืบค้นจาก: https://www.sdgmove.com/2024/05/01/global-report-on-food-crises-2024/


เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ นางสาวศิริรัตนาพร หล้าบัววงค์ และนางสาวธัญลักษณ์ นนทะศรี

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน