ม้าแม่ก่ำ สมุนไพรท้องถิ่นของคนดอย
ม้าแม่ก่ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polygala chinensis L.
ชื่อวงศ์ : POLYGALACEAE
ชื่ออื่นๆ : คำเตี้ย ปีกไก่ดำ หญ้ารากหอม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี รากมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยคล้ายน้ำมันมวย ลำต้น ตั้งตรง สูง 20-70 เซนติเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยว แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 1.5-8 เซนติเมตร ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme) สั้นๆ ออกตามซอกใบ ดอก ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร สีขาว กลีบรองดอกสีเขียว 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สองกลีบข้างแผ่เป็นปีก รูปสามเหลี่ยมแกมเบี้ยว กลีบดอก 3 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบตั้งมีรยางค์คล้ายขนเป็นกระจุกที่ปลาย รังไข่มีขน ผล กลมแบน ขนาดผ่าศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร แตกเมื่อแก่ เมล็ดรูปไข่ มีขนขาวแน่น
นิเวศวิทยาและถิ่นอาศัย : กระจายพันธุ์ในเอเชียเขตร้อนชื้น พบทั่วไปตามป่าดงดิบ หรือป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้น
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การทดสอบขยายพันธุ์ม้าแม่ก่ำด้วยเมล็ด พบว่า การแช่น้ำร้อนจะงอก 60-80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การเพาะปกติ (ไม่แช่น้ำร้อน) เมล็ดไม่งอก
การทดสอบปลูกด้วยกล้าจากป่าธรรมชาติ ปัจจัยทดสอบคือโรงเรือนแบบไม่พรางแสงมุงด้วยพลาสติกใสและโรงเรือนพรางแสงมุงด้วยแสลนเขียว 50 เปอร์เซ็นต์ พบว่า มีการรอดตาย 70 เปอร์เซ็นต์ และ 80เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 2 เดือน ต้นที่ไม่พรางแสงเจริญเติบโตได้ดีกว่า และเมื่ออายุ 8 เดือน ต้นที่พรางแสงเจริญเติบโตได้ดีกว่าในด้านความสูง ความยาวใบ จำนวนข้อปล้อง และจำนวนดอก แต่ต้นที่ไม่พรางแสงเจริญเติบโตได้ดีกว่าในด้านจำนวนใบ จำนวนกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น และความกว้างใบ
สรรพคุณ : ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย ร่างกายทรุดโทรม รักษาอาการหอบหืด ไอ ขับเสมหะเหนียวข้น ทั้งต้น ใช้เป็นยาเดี่ยวหรือผสมลำต้นม้ากระทืบโรง ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิต บำรุงกำลังทางเพศ ทั้งต้น ผสมน้ำมันงา นำมานวดเส้น ราก ต้มน้ำดื่ม บำรุงน้ำนม
ภูมิปัญญาดั้งเดิมถือว่าเป็นยาเพิ่มกำลังของคนไทยใหญ่ (ภาคเหนือ) โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดกันอย่างน้อย 10 วัน จะช่วยบำรุงร่างกายได้ดี เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย ช่วยให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี
ในต่างประเทศมีการใช้และศึกษาวิจัยกันมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน และในจีนเรียกชื่อว่า Yuan Zhi จัดเป็น 1 ใน 50 สมุนไพรที่จีนใช้มากที่สุด ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด กังวล นอนไม่หลับ หวัดไอที่มีเสมหะเหนียวข้น หอบหืด แผล ฝี หนอง น้ำร้อนลวก ชื่อภาษาอังกฤษคือ Indian Senega
การศึกษาทางเภสัชวิทยา : สารสกัดน้ำจากทั้งต้นมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเนื้องอกในหนู และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง
ข้อมูลวัตถุดิบพืชสมุนไพร :
ผลผลิตที่ได้จากการทดสอบปลูกแบบหว่านเมล็ดจะให้ผลผลิตสด 640 กรัม/ตารางเมตร เมื่ออายุ 3 เดือน และอีก 800 กรัม/ตารางเมตร เมื่ออายุ 7 เดือน โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 30 กรัม/ต้น
การใช้ประโยชน์ในชุมชนบนพื้นที่สูง :
1. ชาวบ้านบ้านป่าเกี๊ยะ (ชนเผ่าลาหู่และอาข่า) พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
เรียกชื่อว่า “เตปุยเด” ใช้รากหรือทั้งต้นต้มน้ำดื่ม แก้ลำไส้อักเสบ รักษาโรคกระเพาะอาหาร (ลาหู่) ขับเลือด ขับน้ำคาวปลา (อาข่า)
2. ชาวบ้านบ้านปิพอ (ชนเผ่ากะเหรี่ยง) พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนตื่นน้อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เรียกชื่อว่า “ลาผะ” ใช้ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาแก้ปวดเมื่อย
3. ชาวบ้านบ้านปางมะโอ (คนเมือง) พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ อ.เชียงดาว
จ.เชียงใหม่ ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มหรือผสมร่วมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อยไม่มีแรง
4. ชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.เชียงใหม่ บ้านแม่ตอละ (ชนเผ่ากะเหรี่ยง) ใช้ส่วนใบหรือยอดต้มน้ำดื่ม เชื่อว่าช่วยฆ่าเชื้อโรคในร่างกาย และบ้านกลอเซโล (ชนเผ่ากะเหรี่ยง) ใช้ต้มน้ำดื่มบรรเทาอาการไข้ป่าและไข้เลือดออก
5. ชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บ้านปางมะกล้วย (คนเมือง) ใช้ทั้งต้นผสมในตำรับยาบำรุงกำลัง ดองสุราดื่ม และบ้านกิ่วถ้วยปางมะโอ (ชนเผ่ากะเหรี่ยง) ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มช่วยเจริญอาหาร บำรุงตับและไต
ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มสมุนไพรบ้านกิ่วถ้วยปางมะโอ นำผลผลิตม้าแม่ก่ำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบสมุนไพร/สมุนไพรแห้ง ทดลองจำหน่ายในนามกลุ่ม “เตอะ กอ โฮ๊ะ” ใช้ในชุมชน
เอกสารอ้างอิง:
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2553. คำเตี้ย. [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=213
สันติ วัฒฐานะ และคณะ. 2541. รายงานโครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชสมุนไพรที่ใช้ทำยาดองเหล้าในภาคเหนือของประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. 182 หน้า. (chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://www.nstda.or.th/brt/images/book/R339002.pdf)
มูลนิสุขภาพไทย. 2562. คำเตี้ย สรรพคุณไม่ต่ำต้อย. [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา https:// www.thaihof.org/คำเตี้ยสรรพคุณไม่ต่ำต้/
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 2566. โครงการศึกษาและคัดเลือกพืชสมุนไพรบนพื้นที่สูงที่มีศักยภาพในการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน.
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: อัปสร วิทยประภารัตน์ และพชรธิดา ชมภูทา
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน