องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เมล็ดกัญชง คุณค่าที่คู่ควร...สำหรับคุณ

เราจะคุ้นเคยกับเส้นใยที่มาจากต้นกัญชง และสารสกัดจากช่อดอก มากกว่าเมล็ดกัญชงเพื่อการบริโภค ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “คุณค่าทางโภชนาการจากเมล็ดกัญชง” กัน

เมล็ดกัญชง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จัดว่าเป็น Super-food ตามที่เคยเขียนบทความเรื่อง “กัญชงของแม่” ไว้ในปี 2562 เมล็ดกัญชงมีโปรตีน 20-30% ไขมันประมาณ 20-25% และประมาณ 80% ของไขมันมี Essential Fatty Acid หรือ โอเมก้า6:โอเมก้า3 สัดส่วน 3:1 ซึ่งเหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ มีความสมดุลของกรดอะมิโนและมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ประกอบกับมีวิตามินและแร่ธาตุ มีคุณค่าอะไรบ้าง ติดตามกันมาได้เลย

โปรตีน ในเมล็ดกัญชงเป็นโปรตีนชนิด gluten free ที่มีความสามารถย่อยได้ง่าย ซึ่งพบในเมล็ด กัญชงประมาณ 30-35 กรัม/100 กรัม โดยทั่วไปแล้ว คนที่มีสุขภาพปกติควรได้รับพลังงานจากโปรตีน 10-35% ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน คิดง่ายๆ ก็คือ ควรทานโปรตีนให้ได้ 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จึงจะเพียงพอต่อการรักษาปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกายไว้ได้

นักโภชนาการ ให้เมล็ดกัญชงเป็น 1 ใน 10 พืชที่มีโปรตีนสูง ไม่แพ้เนื้อสัตว์ จึงอาจจะนำมาทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ได้ ซึ่ง USDA Food Data Central รายงานปริมาณโปรตีนในเนื้อสัตว์ไว้เช่น เนื้อหมู 27 กรัม/100 กรัม เนื้อไก่ 24.68 กรัม/100 กรัม เนื้อปลา 15 กรัม/100 กรัม

ในปัจจุบัน เทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและรักษ์โลก กำลังขับเคลื่อนตลาดโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) เพราะโปรตีนจากพืช มีปริมาณโปรตีนสูง สามารถแปรรูปให้มีรสชาติได้ใกล้เคียงเนื้อสัตว์หลายชนิด และอาจเป็นเพราะการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติเพิ่มขึ้น อาหารที่ทำจากพืช แตกต่างจากอาหารโปรตีนจากสัตว์และเป็นแหล่งเส้นใยที่ดี

ข้อมูลจาก บริษัท Markets and Markets ประเมินว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ในปี 2563 อยู่ที่ 10.3 พันล้าน USD. มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 7.1 ทำให้ในปี 2568 มูลค่าตลาดจะราว 14.5 พันล้าน USD. โดยภูมิภาคที่เป็นแรงขับดันการเติบโตที่สำคัญคือเอเชียแปซิฟิก

ในประเทศไทย ตลาดโปรตีนทางเลือกยังมีโอกาสเติบโตสูง เทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ มองหาอาหารที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน ตลาดโปรตีนพืชในไทยมีมูลค่า 4,100 ล้านบาท (ปี 2565 ) และคาดการณ์ว่าจะถึง 6,500 ล้านบาทภายในปี 2568 เติบโต 5.1% 

กรดแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic acid, ALA) ซึ่งจัดเป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 (Omega-3 Fatty Acid) พบถึง 15- 20% ในน้ำมันเมล็ดกัญชง การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุนั้น ให้ผลดีต่อสุขภาพ คือ

  • ช่วยลดระดับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
  • ช่วยลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ยากขึ้น
  • มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคความจำเสื่อม

กรดไลโนเลอิก (Linolenic acid) ซึ่งจัดเป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-6 (Omega-6 Fatty Acid) โดยพบมากถึง 54-60% ในน้ำมันเมล็ดกัญชง ให้ผลดีต่อสุขภาพ คือ

  • ลดโอกาสการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด
  •  ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (cholesterol)
  • มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)
  • ลดอาการแทรกซ้อนทางประสาทของผู้ป่วยเบาหวาน อาทิ อาการชาตามปลายมือและปลายเท้า
  • ช่วยรักษาอาการผิดปกติของชายหญิงวัยเจริญพันธุ์ และสตรีวัยทอง เป็นต้น

วิตามินและแร่ธาตุ – เมล็ดกัญชงเป็นแหล่งของวิตามินบี วิตามินอี และแร่ธาตุ ต่าง ๆ เช่น โซเดียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก กำมะถัน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และสังกะสี

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น นักวิจัยและพัฒนาหวังว่า เมล็ดกัญชงเพื่อการบริโภค จะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับผู้บริโภคที่สนใจ สามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากเมล็ดกัญชงจากพื้นที่สูงได้ ในร้านโครงการหลวง หรือช่องทางออนไลน์ได้เสมอ เช่น น้ำมันจากเมล็ดกัญชงสกัดเย็น เซรั่มกัญชง 

แหล่งที่มาของเนื้อหา

https://www.rsmall.com/blog/health_benefits_of_hemp

https://krua.co/food_story/10-high-protien-plant-based-food

http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/thesis/2553/thamonwan_nuangkunta/chapter2.pdf

https://fdc.nal.usda.gov/index.html 

https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1118661#google_vignette

โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein). 2563. สถาบันอาหาร | National Food Institute.

https://fic.nfi.or.th › word.


ผู้เรียบเรียง: ดร.สริตา ปิ่นมณี และ นายเสฎฐวุฒิ วงค์น้อย

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน