องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ประโยชน์จากเปลือกกาแฟ: ปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟ

จากต้นกาแฟหนึ่งต้น ไม่เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากเมล็ดกาแฟที่นำมาคั่วและชงดื่มได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ดอกกาแฟ นำมาทำเป็นชาจากดอกกาแฟ นอกจากนี้ เปลือกจากผลกาแฟที่เรียกกว่า เปลือกกาแฟเชอรี่นั้น ยังนิยมนำมาแปรรูปเป็นชาชงดื่มได้ ที่เรียกว่า คาสคาร่า (Cascara) แต่ยังมีความนิยมน้อย โดยส่วนใหญ่เปลือกกาแฟถือเป็นส่วนที่มักถูกละเลยหรือถูกทิ้งหลังจากกระบวนแปรรูป ปล่อยให้เน่าและทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ ถ้ามีปริมาณมาก ของเหลวที่เกิดจากการเน่าเปลื่อยสามารถทำให้ต้นไม้บริเวณใกล้เคียงตายได้ จากความเป็นกรด หรือทำให้น้ำเน่าเสียได้ หากมีการไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากเปลือกกาแฟเชอรี่แล้วยังมีเปลือกที่ห่อหุ้มเมล็ด หรือ กะลา (Parchment) ที่เหลือใช้จากการสีเอาเปลือกออก ก่อนนำเมล็ดกาแฟ หรือ Green beans ไปคั่ว อย่างไรก็ตาม เปลือกกาแฟทั้ง 2 ประเภทนั้นยังมีคุณค่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายไม่แพ้กับเมล็ดกาแฟ ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์จากเปลือกกาแฟเชอรี่ และเปลือกกาแฟกะลา ดังนี้

  •  เปลือกกาแฟเชอรี่ (Pulp) หรือส่วนนอกสุกที่ห่อหุ้มเมล็ดกาแฟไว้ สามารถนำมาใช้แปรรูปเป็นชาจากเปลือกกาแฟได้ นอกจากนี้ยังใช้เปลือกกาแฟเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
  • เมล็ดกาแฟ หรือสารกาแฟ (Green beans) เป็นส่วนที่นิยมมากที่สุดของต้นกาแฟ นำมาใช้ในการบริโภคมีสรรพคุณในการช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเท่าอาการเจ็บปวดโดยเฉพาะการรักษาไมเกรน มีคาเฟอีนที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท ช่วยในระบบเผาผลาญอาหาร และช่วยลดโอกาศในการเกิดโรคต่างๆ นอกจากนี้กากกาแฟหลังจากการชงกาแฟเสร็จยังสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์สคับผิว หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้
  •  เปลือกกะลากาแฟ (Parchment) สามารถนำมาใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมนำมาขึ้นรูปเป็นกระถางสำหรับปลูกต้นไม้เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางลดการใช้กระถางพลาสติก สามารถนำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่งเพื่อเป็นเชื้อเพลิง หรือไบโอชาร์สำหรับการปรับปรุงดินได้ นอกจากนี้ยังใช้เปลือกกาแฟเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

วิธีการทำกองปุ๋ยหมัก นำวัสดุต่างๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กองปุ๋ยหมัก 1 ตัน จะมีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร หรือสามารถกองวัสดุผลิตปุ๋ยหมักเป็นชั้นสลับกัน ผสมสารเร่งซุปเปอร์พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร นาน 10 - 15 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์ และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลายนำไปรดกองปุ๋ยหมัก และทำการเติมน้ำในกองปุ๋ยให้มีความชื้น ทำการกลับกองปุ๋ยทุกๆ 15 วัน โดยปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟเชอร์รี่จะใช้เวลาในการหมักอยู่ที่ 45 – 60 วัน ส่วนปุ๋ยหมักจากเปลือกกะลากาแฟใช้ระยะเวลาอยู่ที่ 150 – 180 วัน ซึ่งปุ๋ยหมักที่มีการย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์ สามารถสังเกตุเบื้องต้นโดยสังเกตจากลักษณะทางกายภาพ ได้แก่ สีของปุ๋ยหมักมีสีเป็นน้ำตาลเข้มปนดำ กลิ่นของกองปุ๋ยหมักมีกลิ่นหอมเหมือนดิน ไม่มีกลิ่นฉุน และมีอุณหภูมิในกองปุ๋ยหมักที่เย็นลง

โดยจากผลการศึกษา พบว่า การเติมเชื้อจุลลินทรีย์ลงในกองปุ๋ยหมัก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อจุลลินทรีย์ที่ย่อยสลายโดยตรง หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มากับปุ๋ยมูลวัว ส่งผลให้กองปุ๋ยหมักมีกิจกรรมการทำงานของจุลินทรีย์ส่งผลให้อุณหภูมิในกองปุ๋ยสูงกว่ากองปุ๋ยที่ไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเป็นการช่วยทำให้เมล็ดวัชพืชในกองปุ๋ยหมักตายไปในตัว และส่งผลให้มีการย่อยสลายสมบูรณ์เร็วกว่าการไม่เติมจุลลินทรีย์ลงไป และผลที่ได้จากการวิเคราะห์ธาตุอาหารที่สำคัญในปุ๋ยหมักจากเปลือกาแฟเชอรี่ และเปลือกกะลา พบว่า ธาตุอาหารที่พบปริมาณในระดับสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ของปุ๋ยหมัก ได้แก่ ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ธาตุแมงกานีส (Mn) ทองแดง (Cu) และสังกะสี (Zn) ส่วนปริมาณธาตุอาหารฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (K) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และเหล็ก (Fe) พบปริมาณธาตุอาหารอยู่ในระดับต่ำมาก

การนำไปใช้ประโยชน์

1. เป็นวัสดุในการเพาะกล้าและปลูกพืชต่างๆ

2. เป็นวัสดุปรับปรุงดิน

3. สามารถช่วยในการลดการใช้สารเคมีได้ เนื่องจาก

    - ปุ๋ยหมักจากกาแฟเชอร์รี่ 1 ตัน มีปริมาณธาตุอาหาร 

     N (ไนโตรเจน) = 20.77 กิโลกรัม, P (ฟอสฟอรัส) = 1.27 กิโลกรัม, K (โพแทสเซียม) = 3.87 กิโลกรัม

    - ปุ๋ยหมักจากกะลากาแฟ 1 ตัน มีปริมาณธาตุอาหาร 

     N (ไนโตรเจน) = 6.03 กิโลกรัม, P (ฟอสฟอรัส) = 0.77 กิโลกรัม, K (โพแทสเซียม) = 4.4 กิโลกรัม

เรียบเรียงโดย : ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง และนายกฤษณะ ทองศรี สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร่วมกับ นายสมศักดิ์ จีรัตน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน