องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ชาดี...ที่ป่าแป๋

ป่าแป๋เป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการปลูกชาเมี่ยงหรือชาอัสสัม ซึ่งในอดีตชาวบ้านนิยมกินเมี่ยง* จึงทำให้ชาเมี่ยงเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี ต่อมามีการอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นเพื่อเก็บใบชาเมี่ยงขาย และบุกเบิกขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มมากขึ้นจนป่าแป๋กลายเป็นชุมชนป่าเมี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน ชาอัสสัมเป็นพืชที่ชอบร่มเงา เจริญเติบโตร่วมกับป่าไม้ได้เป็นอย่างดี และดูแลรักษาง่าย ไม่มีโรคและแมลงทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้สารเคมีเกษตร จึงมีความปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรเองและผู้บริโภค

มีงานวิจัยเกี่ยวกับชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง (Camellia sinensis var. assamica) จำนวนมากเกี่ยวกับสรรพคุณเพื่อสุขภาพ หรือคุณประโยชน์ของชาที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมไขมันในเลือด ฯลฯ ทำให้ผู้บริโภคหันมาดื่มชากันเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกชาอัสสัมที่ตำบลป่าแป๋ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาอัสสัมแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย และในปัจจุบันยังได้มีการรับรองมาตรฐานชาอัสสัมอินทรีย์ไปแล้ว 31 แปลง 1,490 ไร่ (รหัสรับรอง กษ 03-9000-50-990-055996) ซึ่งวัตถุดิบใบชาอัสสัมอินทรีย์ที่มาจากแหล่งปลูกที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและจะเป็นจุดขายที่สำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลป่าแป๋อีกทางหนึ่ง

ในระยะที่ผ่านมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และสารสำคัญในชาอัสสัมจากพื้นที่สูงต่างๆ ที่มีอายุต้นแตกต่างกันสำหรับใช้เป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดสำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจชาอัสสัมบนพื้นที่สูง พบว่า ชาอัสสัมมีสารสำคัญกลุ่มคาเทชิน ได้แก่ Catechin, Epicatechin และ  Epigallocatechin (EGCG) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ร่างกายแก่ช้าลง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เบาหวาน ไขมันในเลือด และความดัน เป็นต้น ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดใบชาที่ได้จากต้นชาที่อายุน้อยกว่า 50 ปี มีปริมาณสารกลุ่มคาเทชิน และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสูงกว่าใบชาที่มีอายุต้นมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

นอกจากการเก็บใบเมี่ยงขายแล้วยังได้มีการนำมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ชายอด และผลิตภัณฑ์จากชา เป็นต้น ชาเมี่ยงหรือชาอัสสัมจึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีโอกาสและศักยภาพ ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและยังสามารถปลูกร่วมกับป่าไม้ด้วย 

* เมี่ยง (Pickled tea leaves) หมายถึง การนำใบชากึ่งอ่อนกึ่งแก่มามัดรวมกันเป็นก้อนแล้วนำไปนึ่ง จากนั้นเรียงในถังหมัก นิยมนำมาขบเคี้ยวหลังอาหารเพื่อดับคาวหรือแก้เลี่ยน อีกทั้งยังนิยมอมเมี่ยงเพื่อช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย แก้ง่วง ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหาย และยังใช้เลี้ยงแขกในงานพิธีต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่งงาน หรือขึ้นบ้านใหม่อีกด้วย นอกจากนี้เมี่ยงยังมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อ โดยมีการใช้เมี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสักการะ ใช้ในพิธีกรรม การสะเดาะเคราะห์ รวมทั้งไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ เป็นต้น

องค์ความรู้งานวิจัยโดย กรรณิกา ศรีลัย และกชพร สุขจิตภิญโญ นักวิจัย สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน