องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“ธนาคารแหนแดงบนดอย”

จากบทความแหนแดงในนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูงและจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่อง“วิธีการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินนาขั้นบันไดโดยใช้แหนแดง” ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โดยมีการใช้แหนแดงร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปลูกถั่วแดงหลวงหลังนา โดยใส่แหนแดง อัตรา 25 กก./ไร่ หลังดำนา 7-15 วัน เพื่อให้ข้าวตั้งตัวได้ก่อน และใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3 กก./ไร่ รักษาระดับน้ำในนาข้าวให้ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร หลังจากนั้นแหนแดงจะขยายตัวเต็มพื้นที่แปลงนาขั้นบันได กลายเป็นแหล่งไนโตรเจนให้กับข้าวนาต่อไป ซึ่งเกษตรกรได้นำองค์ความรู้ไปใช้ในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในนาขั้นบันไดในหลายชุมชน 

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแหนแดงเพิ่มมากขึ้นถึงวิธีการเลี้ยงแหนแดงบนพื้นที่สูงเพื่อเป็นแหล่งธนาคารของแหนแดง รวมถึงประโยชน์ของแหนแดงด้วย


แหนแดง (Azolla spp.) เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กพบอยู่ทั่วไปบริเวณน้ำนิ่ง นิยมนำมาเลี้ยงในนาข้าวสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน เนื่องจากในใบของแหนแดงมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyanobacteria) อาศัยอยู่ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้แหนแดงเจริญเติบโตได้เร็ว นอกจากนี้แหนแดงยังมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง เรียกได้ว่าแหนแดงเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพอย่างดีเลย

ธนาคารแหนแดง

ธนาคารแหนแดง เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะให้ชุมชนมีแหนแดงไว้ใช้สำหรับการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งได้ทดลองการขยายพันธุ์แหนแดงหลายวิธีเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการและการใช้ประโยชน์แหนแดงของเกษตรกรในแต่ละชุมชน ซึ่งสรุปได้ 3 วิธี ดังนี้

1. เลี้ยงแหนแดงในบ่อซีเมนต์

1) เตรียมบ่อซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ปิดฝาที่ก้นบ่อพร้อมเจาะรูระบายน้ำ

2) เติมน้ำลงในบ่อซีเมนต์ หลังจากนั้นใช้ขุยมะพร้าวหรือหยวกกล้วยแช่ทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ เพื่อดูดซับความเป็นด่างจากปูน

3) ปล่อยน้ำเก่าทิ้ง แล้วเติมน้ำในบ่อ 20-30 ซม. เทดินลงไป ประมาณ 5 เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยคอก 0.5 กิโลกรัม พักน้ำให้ตกตะกอน

4) นำแหนแดงสดลงไปในบ่อ ประมาณ 250 กรัม กระจายให้ทั่วบ่อ หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ แหนแดงจะขยายจำนวนจนเต็มบ่อ สามารถตักไปใช้ได้ โดยแบ่งแหนแดงออกเป็น 4 ส่วน ตักไปใช้ 3 ส่วน และคงเหลือแหนแดงไว้ในบ่อ 1 ส่วน เพื่อเป็นแม่พันธุ์ต่อไป

5) เติมปุ๋ยคอกลงในบ่อประมาณ 0.5 กิโลกรัม ทุกๆ 1 เดือน

2. เลี้ยงแหนแดงในกระบะพลาสติก

1) เติมน้ำในบ่อ 20-30 ซม. เทดินลงไป ประมาณ 5 เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยคอก 0.5 กิโลกรัม พักน้ำให้ตกตะกอน

2) นำแหนแดงสดลงไปในบ่อ ประมาณ 200 กรัม กระจายให้ทั่วบ่อ หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ แหนแดงจะขยายจำนวนจนเต็มบ่อ สามารถตักไปใช้ได้ โดยแบ่งแหนแดงออกเป็น 4 ส่วน ตักไปใช้ 3 ส่วน และคงเหลือแหนแดงไว้ในบ่อ 1 ส่วน เพื่อเป็นแม่พันธุ์ต่อไป

3) เติมปุ๋ยคอกลงในบ่อประมาณ 0.5 กิโลกรัม ทุกๆ 1 เดือน

3. เลี้ยงแหนแดงในบ่อดิน โดยเลี้ยงในกระชัง

1) เตรียมกระชัง ขนาด 1x1 เมตร หรือขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ใช้ลอยกระชัง โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้าง และใช้มุ้งตาข่ายสีฟ้าสำหรับทำกระชัง

2) นำกระชังลอยในบ่อน้ำ ที่มีปริมาณพอเหมาะไม่ควรลึกเกิน 40-50 เซนติเมตร

3) ปล่อยแหนแดงลงในกระชัง 100 กรัมต่อกระชัง 1 ตารางเมตร

4) จากนั้น ประมาณ 7 วัน แหนแดงจะเจริญเติบโตจนเต็มกระชัง

ข้อดี-ข้อเสีย ของวิธีการขยายพันธุ์แหนแดง

ประโยชน์ของแหนแดง

1. แหนแดงช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจน เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ต้นทุนการผลิตพืชลดลง

2. ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี

3. ช่วยควบคุมวัชพืชในนาข้าว ลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช

4. สามารถนำแหนแดงมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชได้ โดยเฉพาะพืชผักที่ต้องการปุ๋ยไนโตรเจน หรือนำไปเป็นส่วนผสมของวัสดุเพาะกล้า

5. สามารถนำแหนแดงไปเป็นอาหารสัตว์ ได้แก่ ปลา เป็ดไก่และสุกรได้

ศัตรูพืชของแหนแดง ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หนอนกระทู้ แมลงปากกัด และแมลงปากดูด เป็นศัตรูตัวสำคัญของแหนแดง ซึ่งจะเข้าทำลายโดยการกัดกิน และดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ซึ่งสามารถจัดการศัตรูพืชเหล่านี้ได้โดยการทำมุ้งครอบเพื่อป้องกันหนอนและแมลงเข้าไปวางไข่ และไม่ให้แหนแดงหนาแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้แหนแดงที่อยู่ด้านล่างไม่ได้รับแสง ส่งผลให้เกิดการเน่าและเป็นที่หลบซ่อนของหนอนและแมลงได้



เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : ดารากร อัคฮาดศรี จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และ อาผู่ เบเช สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน