องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การบริหารจัดการขยะอาหารของครัวเรือนบนพื้นที่สูง

ปัจจุบันการบริโภคอาหารของคนไทยบนพื้นที่สูงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยมีการปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภค 76.68% (เฉลี่ย 3-5 ไร่/ครัวเรือน) และไม่ได้ปลูกข้าว (ซื้อข้าวสำหรับบริโภค) 23.32% ซึ่งมีปริมาณข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคตลอดทั้งปี 65.49% เหลือบริโภค 24.44% บางครอบครัวมีปริมาณข้าวไม่เพียงพอสำหรับบริโภค 10.07% (ขาดแคลน 1-2 เดือน 3.73%, 3-4 เดือน 4.29% และมากกว่า 5 เดือน 2.05%) ในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบสำหรับนำมาทำกับข้าวมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ ร้านขายของในชุมชน ผักที่ปลูกไว้ หาจากแหล่งธรรมชาติ สัตว์ที่เลี้ยงไว้ และตลาดในเมือง 

สำหรับการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food loss and Waste) ของประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน มีเพียงสถิติปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชม โดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 25.70 ล้านตัน/ปี หรือ 70,411 ตัน/วัน กระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเมื่อเทียบกับจํานวนประชากรตามทะเบียนราษฏร์ปี 2565 ของกรมการปกครองเฉลี่ยเท่ากับ 1.07 กิโลกรัมต่อคน/วัน โดยภาคเหนือมีปริมาณขยะมูลฝอย 4,585 ตัน/วัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2565) เป็นขยะอินทรีย์ (ขยะอาหาร) 16.34% (สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1, 2565) ดังนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดย สุมาลี และคณะ (2566) ได้สำรวจปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชนบนพื้นที่สูง พบว่า มีปริมาณขยะอินทรีย์ (ขยะเศษอาหาร) 461 กก./ชุมชน/วัน คิดเป็น 43.21% นอกจากนี้ในปี 2566 จิราวรรณ และคณะ ได้สำรวจข้อมูลขยะอาหารเหลือทิ้งของชุมชนบนพื้นที่สูง (Food Waste) ประกอบด้วย “ข้าว” และ “กับข้าว” ที่บริโภคในครัวเรือน พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ

ครัวเรือนบนพื้นที่สูง (3-5 คน/ครัวเรือน) มีปริมาณอาหารเหลือจากการบริโภคในกลุ่มอาหารหลักประเภทคาร์โบไฮเดรต: ข้าว 336.60 กก./ครัวเรือน/ปี (29.29%) โดยครัวเรือนบริบทชุมชนใกล้เมืองและชุมชนห่างไกลเมือง จะเก็บอาหารเหลือจากการบริโภคไว้อุ่นบริโภคในมื้อเช้าของวันถัดไป 33.17% และ 25.24% ตามลำดับ ให้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 0.77% และ 0.46% ตามลำดับ เนื่องจากทำเผื่อไว้เพื่อไม่ให้ข้าวหมดระหว่างวัน ประกอบกับมีความเชื่อว่าต้องหุงหรือนึ่งข้าวเผื่อเหลือเผื่อขาด ในส่วนของการบริโภคในกลุ่มอาหารประเภทกับข้าว มีปริมาณอาหารเหลือจากการบริโภค 305.93 กก./ครัวเรือน/ปี (27.97%) โดยครัวเรือนบริบทชุมชนห่างไกลเมืองจะเก็บกับข้าวที่เหลือจากการบริโภคไว้ในตู้เย็นเพื่อนำไปอุ่นบริโภคในมื้อเช้าของวันถัดไป และให้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 13.07% และ 12.45% โดยไม่เททิ้ง ในขณะที่ครัวเรือนบริบทชุมชนใกล้เมืองจะเก็บกับข้าวที่เหลือจากการบริโภคไว้ในตู้เย็นเพื่อนำไปอุ่นบริโภคในมื้อเช้าของวันถัดไป 14.34% ให้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 15.33% และเททิ้งเป็นขยะอาหาร (Food Waste) 116.07 กก./ครัวเรือน/ปี (10.29%) เนื่องจากทำกับข้าวเผื่อไว้เพื่อไม่ให้กับข้าวหมดระหว่างวันโดยทำกับข้าวเพิ่มใหม่ในแต่ละมื้อ

ทั้งนี้ การบริหารจัดการอาหารเหลือจากการบริโภคของครัวเรือนบนพื้นที่สูง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มอาหารหลักประเภทคาร์โบไฮเดรต: ข้าว ของครัวเรือนบริบทชุมชนใกล้และชุมชนห่างไกลเมือง 857.27 และ 840.85 kgCO2e/kg/ปี/ครัวเรือน ตามลำดับ และในกลุ่มอาหารประเภทกับข้าวของครัวเรือนบริบทชุมชนใกล้และชุมชนห่างไกลเมือง 832.64 และ 715.37 kgCO2e/kg/ปี/ครัวเรือน ตามลำดับ

แนวทางการบริหารจัดการขยะอาหารเหลือทิ้งของครัวเรือนบนพื้นที่สูง เพื่อลดปัญหาขยะอาหาร

และวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ลดการปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการปล่อยก๊าซมีเทนจากขยะอาหารเหลือทิ้ง โดยเรียงจากความสำคัญของทางเลือกจัดการอาหารเพื่อการลดปริมาณขยะอาหารที่ควรดำเนินการมากไปยังทางเลือกที่ควรดำเนินการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด 

เอกสารอ้างอิง

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2565. รายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2565. กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 224 หน้า.

จิราวรรณ ปันใจ  เพชรดา อยู่สุข  ดนัย บุณยเกียรติ  ชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน  ณัฐพล กามล และวิมลรัตน์

พรรณเรืองรอง. 2566. โครงการศึกษากระบวนการผลิตและสิ่งเหลือทางการเกษตรจากระบบการเกษตรและพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 263 หน้า     

สุมาลี เม่นสิน ภัทราพร จิ๋วอยู่ วัลภา อูทอง ศุภัชญา ปัญญาธง. 2566. โครงการศึกษาและพัฒนากระบวนการจัดการขยะมูลฝอยครัวเรือนและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบนพื้นที่สูง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 137 หน้า     

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่). 2565. รายงานสรุปผลการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ชุดที่ 3. สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่). 62 หน้า.


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย นางสาวจิราวรรณ ปันใจ ดร.เพชดา อยู่สุข และนางสาววิมลรัตน์ พรรณเรืองรอง

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน