องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปลูกกาแฟช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

สภาวะโลกร้อนเกิดจากหลายปัจจัยที่ทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ และวงโคจรของโลก และปัจจัยภายใน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของก๊าซในชั้นบรรยากาศ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า ปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Effect แนวทางหนึ่งในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นสามารถดำเนินการได้ 4 รูปแบบ คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการสาธารณะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณเส้นทางสัญจร การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่ออรรถประโยชน์ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน (ถิรายุ และคณะ, 2563) ซึ่งกาแฟเป็นพืชชนิดหนึ่งที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชนได้ เนื่องจากกาแฟสามารถปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นอื่นๆ ได้ โดยการปลูกกาแฟอะราบิกาในไทยนั้นมีการปลูกหลายรูปแบบ ได้แก่ การปลูกกาแฟแบบเชิงเดี่ยว การปลูกร่วมกับไม้ผล การปลูกร่วมกับไม้ยืนต้น หรือการปลูกกาแฟภายใต้ร่มไม้ป่าธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบการปลูกกาแฟภายใต้ร่มไม้ป่าธรรมชาตินั้น ส่งผลให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพในด้านขนาดของเมล็ดดีกว่าการปลูกรูปแบบอื่น และยังสามารถช่วยสร้างรายได้เพิ่มจากการเก็บของป่า หรือนำเศษไม้ไปทำฟืนอีกด้วย เป็นการลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนในการผลิตกาแฟ ร่วมถึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศเอาไว้ได้ เป็นแนวทางในการช่วยให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า (วิชญ์ภาส และคณะ, 2560; วารุณี และคณะ 2553; ประชา และคณะ, 2560; Bote and Struik, 2011)

กาแฟจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มปริมาณคาร์บอนในระบบการเกษตร โดยกักเก็บคาร์บอนไว้ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) (Coltri et al., 2013) และเชื่อว่าพื้นที่เกษตรกรรมเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการดูดซับ CO2 ได้ในปริมาณมาก (Albrecht and Kandji, 2003) ดังนั้นกาแฟจึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกันภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

การทราบถึงการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตกาแฟนั้น สามารถช่วยในการจัดการ และบรรเทาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรได้ และมีการยอมรับในภาคอุตสาหกรรม โดยประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานกาแฟโดยใช้การประเมินวงจรการปลดปล่อยและดูดซับ CO2 จากภาคการผลิตกาแฟ ตัวอย่างเช่น การประเมินวงจรในระบบการแปรรูปกาแฟที่ละลายน้ำได้ ซึ่งดำเนินการโดย Nestlé ระบุว่าตลอดวงจรการผลิตกาแฟคั่ว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 35 kg. CO2-equivalent (CO2-e) (Humbert et al. 2009) นอกจากนี้ Tchibo (2008) รายงานว่าในวงจรการผลิตกาแฟนั้นเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน 8.4 kg CO2-e kg−1 โดยสามารถแบ่งได้เป็นเกิดขึ้นจากการคั่วกาแฟ 55 % เกิดขึ้นระหว่างการเพาะปลูกและการแปรรูปในฟาร์ม และระหว่างการบริโภค 30 % ส่วนที่เหลืออีก 15 % เป็นผลจากการขนส่ง การแปรรูป และการกำจัดของเสีย ซึ่งในการวิเคราะห์นี้ไม่รวมการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการหมักกาแฟและการสร้างน้ำเสียที่เกี่ยวข้อง (Van Rikxoort, H. et.al. 2014) ซึ่งในการวิเคราะห์ของทั้ง Nestlé และ Tchibo ไม่ได้พิจารณาถึงประโยชน์เชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศกาแฟประเภทต่างๆ เนื่องจากระบบการผลิตกาแฟมีตั้งแต่ระบบกลางแจ้งไปจนถึงภายใต้ร่มเงาของป่า (Moguel and Toledo 1999; Somarriba et al. 2004) ซึ่งปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในพืชพรรณอาจแตกต่างกันอย่างมาก ตัวอย่างเช่น Hergoualc'h et.al. (2012) รายงานการกักเก็บคาร์บอนในการปลูกกาแฟเชิงเดี่ยวพบว่ามีการกักเก็บคาร์บอนอยู่ที่ 14.1 Mg ha−1 เมื่อเทียบกับการปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาไม้ Inga พบว่ามีการกักเก็บคาร์บอนในระบบอยู่ที่ 32.4 Mg ha−1 ดังนั้นประเภทของระบบที่ผลิตกาแฟจึงมีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโดยรวม

สวพส. ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกพื้นที่สวนกาแฟของเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อทำการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนของต้นกาแฟในระบบการปลูกที่แตกต่างกันจำนวน 5 ระบบ ได้แก่ ระบบการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ป่าธรรมชาติ การปลูกภายใต้ร่มเงาป่าสนสามใบ การปลูกภายใต้ร่มเงาระบบวนเกษตร การปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ผลเมืองหนาว (พลัม) และรูปแบบการปลูกแบบกลางแจ้ง โดยวางแปลงศึกษาขนาด 20x20 เมตร จำนวน 3 ซ้ำ ในแต่ละระบบปลูก คัดเลือกแปลงที่มีอายุต้นกาแฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4 – 5 ปี ซึ่งข้อมูลขนาดความโตของต้นกาแฟ และไม้ให้ร่มเงา ในปีที่ศึกษาถือเป็นข้อมูลปีฐาน จากการศึกษาพบว่า แปลงปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาไม้ผลเมืองหนาวมีความหนาแน่นของประชากรต้นกาแฟสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 694 ต้นต่อไร่ และเมื่อรวมกับจำนวนกิ่งที่มีการแตกนางในระดับความสูงที่ต่ำกว่าความสูง 15 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งต้นเพื่อใช้ในการคำนวน พบว่า มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 1,534 ต้นต่อไร่ ส่งผลให้ต้นกาแฟที่ปลูกในแปลงนี้มีการสะสมมวลชีวภาพ และคาร์บอนในต้นกาแฟสูงสุดเฉลี่ยรวมเท่ากับ 0.65 ตันต่อไร่ และ 0.30 ตันต่อไร่ ตามลำดับ

ในด้านการสะสมมวลชีวภาพของต้นไม้ให้ร่มเงาในระบบปลูกกาแฟ (โดยไม่รวมระบบการปลูกกลางแจ้ง) พบว่า จำนวนต้นไม้ให้ร่มเงาในแต่ละระบบปลูกไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ในด้านการกักเก็บมวลชีวภาพ และการกักเก็บคาร์บอน พบว่า การปลูกภายใต้ร่มเงาป่าธรรมชาติ มีการกักเก็บสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 29.22 / 14.49 ต้นต่อไร่ รองลงมาได้แก่การกักเก็บในระบบการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้สนสามใบ ระบบการปลูกภายใต้ร่มเงาระบบวนเกษตร และการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ผลเมืองหนาว (พลัม) โดยมีค่าเฉลี่ยการกักเก็บมวลชีวภาพ และการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 24.49 / 12.15 ตันต่อไร่, 5.64 / 2.80 ต้นต่อไร่ และ 0.16 / 0.10 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ส่วนระบบปลูกกลางแจ้งไม่มีการกักเก็บมวลชีวภาพของไม้ให้ร่มเงาในระบบ



เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย นายกฤษณะ ทองศรี เจ้าหน้าที่โครงการฯ  สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน