วันสตรีสากล 2567 ผู้นำสตรีท้องถิ่น ก้าวย่างของความเท่าเทียม
วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล (International’s Women Day) ที่ส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG) เป้าหมายที่ 5 การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ วันนี้ชวนมาพบกับผู้นำสตรีท้องถิ่นที่จังหวัดตาก
กำนันประพิศ โพธิราช อายุ 58 ปี เป็นกำนันตำบลเชียงทอง ที่มีพื้นที่ครอบคลุม 13 หมู่บ้าน และเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาผึ้ง-ศรีคีรีรักษ์ ที่มีประชากร 3,426 ครัวเรือน 10,159 คน โดยเป็นคนไทยพื้นราบ 72% คนเมือง 17% ม้ง 7.62% ลีซอ 3.07% ไทย-ลาว 0.10% และอื่นๆ 0.15%1
ในปี พ.ศ. 2516 กำนันประพิศ เป็นคนไทยพื้นราบ ย้ายตามครอบครัวมาจากอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มาอาศัยอยู่บ้านเด่นวัว ในตำบลเชียงทอง โดยทำอาชีพปลูกผักและมันสำปะหลัง จากการที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้มีโอกาสได้เห็นตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จและเข้มแข็งหลายแห่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่หมู่ที่ 4 บ้านเด่นวัว ของตำบลเชียงทอง เพราะอยากมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของตนเองให้ก้าวทันชุมชนอื่นและมีส่วนร่วมลด
ความเหลื่อมล้ำในชุมชน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศ ซึ่งในขณะนั้นชุมชนบ้านเด่นวัวยอมรับบทบาทผู้หญิงน้อยมาก จึงต้องพิสูจน์ตนเองจากการทำงาน อสม. การร่วมพัฒนาชุมชน และการเป็นผู้ใหญ่บ้าน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2565 ได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลเชียงทอง และทำหน้าที่จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนของคนในครอบครัวและให้โอกาส การได้เห็นตัวอย่างผู้นำหญิงคนก่อน การทำงานอย่างทุ่มเทและเสียสละจนเกิดการยอมรับ รวมถึงการปฏิบัติกับทุกกลุ่มในชุมชนด้วยความเสมอภาค
กำนันประพิศได้ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจในการพัฒนาชุมชนที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเป็นเกษตรผสมผสาน การใช้ขบวนการองค์กรชุมชนเพื่อทำให้คนในชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สามารถอยู่ร่วมกันได้และมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง การบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงาน
การยอมรับบทบาทผู้หญิงของคนในชุมชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำคุ้มบ้าน ผู้นำและคณะทำงานกลุ่มต่างๆ ได้ ผู้หญิงมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในครอบครัวและชุมชนได้ โดยผู้หญิงในตำบลเชียงทองมากกว่าครึ่งมีส่วนร่วมในการหารายได้ให้ครอบครัวจากอาชีพภาคการเกษตร 29% รองลงมาคือการรับจ้าง 24% และงานส่วนตัว 10% รับราชการและเป็น อสม. 2% และ 0.06% กำนันประพิศกล่าวว่าเป้าหมายการพัฒนาชุมชนในระยะต่อไป คือ การบูรณาการความร่วมมือกับ สวพส. อบต. และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการสร้าง
คนรุ่นใหม่ในการร่วมอนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนข้ามรุ่น
จากความได้เปรียบที่อยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอวังเจ้า ทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลได้ง่าย ผู้หญิงในชุมชนบ้านเด่นวัว สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ 83% ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนผู้หญิงที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการใช้สื่อออนไลน์ได้ 84%1 ซึ่งเป็นโอกาสการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับอาชีพและรายได้ การพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่มผู้หญิง การสร้างแรงบันดาลใจ การเชื่อมโยงตลาด และการพัฒนาผู้ประกอบการสตรีในระยะต่อไป
กำนันประพิศกล่าวว่า สิ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถพัฒนาตนเองสู่การมีส่วนร่วมใน
การสร้างอาชีพและรายได้ได้ คือการติดกับดักความคิดและความเชื่อแบบเดิมที่มองว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน ดังนั้น การที่ผู้หญิงได้รับโอกาส การสนับสนุน ความเข้าใจจากคนในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งการก้าวผ่านความกลัวของสตรีเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวย่างสู่ความเท่าเทียม
1ที่มา: ระบบฐานข้อมูลโครงสร้างประชากรบนพื้นที่สูง (สำมะโนประชากร พ.ศ. 2566) โดยสำนักวิจัย ร่วมกับสำนักพัฒนา ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)