องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ทั่วถึงและเท่าเทียม Leaving No one in Highlands Behind

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สูงและพื้นที่ภูเขาทั่วโลก

การลดความเหลื่อมล้ำเป็นวาระสำคัญของการพัฒนาในระดับสากลที่องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนลำดับที่ 10 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สูงและพื้นที่ภูเขาทั่วโลก ในการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องการพัฒนาพื้นที่ภูเขา 2019 ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2562 ณ ประเทศออสเตรีย มีผู้เข้าร่วมประชุมจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนกว่า 500 คน ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ภูเขาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม นักวิจัยและนักพัฒนาของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ร่วมนำเสนอกรณีศึกษาของการวิจัยและพัฒนาในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ การฟื้นฟูทรัพยากรดินบนพื้นที่สูงแบบมีส่วนร่วม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วม

 

 

การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงมิติความเหลื่อมล้ำบนพื้นที่สูงของไทยในด้านกายภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม พื้นที่สูงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างไกลจากเขตเมือง และเป็นภูเขาสลับซับซ้อน การเข้าถึงบริการของรัฐในด้านการศึกษาและสาธารณสุขของชุมชนชาวเขากว่า 10 ชาติพันธุ์ ยังไม่ทั่วถึงโดยส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง ไทยพื้นเมือง ม้ง มูเซอ ลัวะ และอาข่า นอกจากนี้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติมีข้อจำกัดเนื่องจากพื้นที่สูงส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าต้นน้ำลำธารและพื้นที่เกษตรกรรมมีความลาดชัน รวมทั้งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ยังได้รับการให้คุณค่าในวงจำกัด ความเหลื่อมล้ำในหลายมิติเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ลดทอนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชนบนพื้นที่สูง เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้เฉลี่ยต่ำและจัดอยู่ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) ของประเทศที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 5,346 บาทต่อคนต่อเดือน


 

การวิจัยและพัฒนาที่ สวพส.ขับเคลื่อนบนหลักการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในชุมชนจำนวน 616 กลุ่มบ้าน 12 จังหวัดในภาคเหนือและตะวันตกของไทย มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่ดีมีสุข โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้โครงการหลวงและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรบนพี่สูงที่เหมาะสมกับภูมิสังคมภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในการวางแผนการผลิตและการตลาด โดยมีองค์ความรู้จากการวิจัยของ สวพส. เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาอาชีพและยกระดับการพัฒนาชุมชน ตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงปลูกข้าวไร่และข้าวโพด ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จังหวัดตาก และโป่งคำ จังหวัดน่าน รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านห้วยน้ำใส ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการนำแผนที่ดินรายแปลง มาเป็นเครื่องมือในการวางแผนระบบน้ำขนาดเล็ก และระบบชลประทานบนพื้นที่สูงเพื่อวางแผนการส่งเสริมอาชีพได้อย่างเหมาะสม

 

การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูงที่ สวพส. มุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถยกระดับการพัฒนาตนเอง บนฐานความรู้และหลุดพ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดของประเทศ จึงสอดคล้องกับทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ของประเทศไทย ในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การพัฒนามีความครอบคลุม ทั่วถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leave no one behind)

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาวเกษราภร ศรีจันทร์ และคณะ