องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

โทรศัพท์มือถือมีความหมายอย่างไรต่อความเท่าเทียม

โทรศัพท์มือถือมีความหมายอย่างไรต่อความเท่าเทียม


ภาพที่ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือในเขตเมืองถือเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 6 ของการดำรงชีพ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าโทรศัพท์มือถือจัดเป็นตัวชี้วัดความเท่าเทียมของหญิงชายตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 5 ที่นอกจากจะมุ่งเน้นการยุติการกระทำและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงแล้ว ยังมุ่งส่งเสริมการมีสิทธิที่จะพัฒนาตนเองและเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ของผู้หญิง 


ทำไมการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้หญิงและผู้ชายจึงเป็นเครื่องมือวัดความเท่าเทียม?

เนื่องจากโทรศัพท์มือถือจัดเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวที่สามารถใช้ในการติดต่อสื่อสาร เข้าถึงความรู้ ชุมชนในสังคมออนไลน์ การตลาดสมัยใหม่ และการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งโทรศัพท์มือถือในที่นี้หมายถึงโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ การมีโทรศัพท์มือถือจึงหมายถึงโอกาสที่ผู้หญิงจะสามารถสื่อสารและเข้าถึงความรู้ได้อย่างทั่วถึง โดยตัวชี้วัด SDGs กำหนดการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้หญิงต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป


สัดส่วนการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้หญิงและผู้ชายในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน1 พบว่าปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 7.5 ล้านราย และเพิ่มขึ้นเป็น 75.5 ล้านราย หรือ 100% ในปี พ.ศ. 2554 และจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ2 ปี พ.ศ. 2563 ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ประมาณ 63.8 ล้านคน พบผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 60.5 ล้านคน (95%) เมื่อจำแนกตามเขตการปกครอง พบว่าอยู่ในเขตเทศบาล 96% และนอกเขตเทศบาล 94% เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพมหานครมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงที่สุด 97% รองลงมา คือ ภาคกลาง 95% ส่วนภาคเหนืออยู่ที่ 94% นอกจากนี้จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ3 พบว่าผู้หญิงมีการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพิ่มขึ้น โดยปี พ.ศ. 2562 มีสัดส่วนผู้หญิงอายุที่ 6 ปีขึ้นไป ใช้อินเตอร์เน็ต 66% เพิ่มขึ้นจาก 51% ในปี พ.ศ. 2559 และในปี พ.ศ. 2561 สัดส่วนผู้หญิงที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ 51% และผู้ชาย 49%


สถานการณ์การใช้โทรศัพท์มือถือของผู้หญิงบนพื้นที่สูงเป็นอย่างไร?

จากรายงานผลการวิจัย4 กลุ่มสตรีในสถานีฯ/ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 12 แห่ง ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ เมี่ยน คนไทยพื้นเมือง อาข่า และจีนยูนนาน จำนวนทั้งสิ้น 1,823 คน พบว่ามีคนใช้โทรศัพท์มือถือ 1,495 คน โดยในจำนวนนี้มีคนใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน 1,375 คน หรือคิดเป็น 92% และเกือบทั้งหมดนอกจากการรับสายและโทรออกแล้ว กลุ่มสตรีส่วนใหญ่ 40% ยังใช้โทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงแหล่งความรู้ ความบันเทิงจากยูทูป และการเชื่อมโยงสังคมออนไลน์ด้วยเฟสบุ๊ก นอกจากนี้มีการฟังเพลงออนไลน์ 18% การสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ 17% การตรวจสอบข้อมูลดินฟ้าอากาศ 9% การทำธุรกรรมทางการเงิน 7% รวมถึงการถ่ายรูปและค้าขายออนไลน์ 1% 


ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาแบบโครงการหลวงนอกจากจะส่งเสริมให้กลุ่มสตรีมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนแล้ว ยังเสริมสร้างโอกาสของหญิงชายที่เท่าเทียมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน แต่ความท้าทายของการพัฒนาในระยะต่อไปคือไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ แต่ทำอย่างไรให้กลุ่มสตรีสามารถใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนในการเข้าถึงความรู้ เครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงการเชื่อมโยงสู่การตลาดสมัยใหม่ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง 


เขียนและเรียบเรียงโดย : ณัฐวรรณ ธรรมสุวรรณ์ ภาพ: ปนัดดา วงศ์ชยางกูร และ ภาวิณี  คำแสน



แหล่งข้อมูล:

1Nielson. (2554). พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน. วันที่สืบค้น 21 ตุลาคม 2555. จาก i7.in.th, เว็บไซต์: http://i7. in.th /smartphone-user-habit

2สรุปผลที่สำคัญ สำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

3เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4รายงานผลการศึกษาบทบาทสตรีชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนในชุมชนโครงการหลวง 12 แห่ง (สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง แม่แฮ แม่แพะ แม่สาใหม่ ห้วยลึก

ป่าเมี่ยง ห้วยโป่ง ห้วยน้ำขุ่น ปังค่า ผาตั้ง และพระบาทห้วยต้ม) โดยสำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร่วมกับงานสังคม การศึกษา และสาธารณสุข ฝ่ายงานวิจัยและพัฒนา มูลนิธิโครงการหลวง, พ.ศ.2564