องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ความต้องการธาตุอาหารของพริกหวานบนดอยสูง

กลับมาเจอกันอีกครั้งกับความรู้เกี่ยวกับความต้องการธาตุอาหารหรือปุ๋ยของพืชบนพื้นที่สูง...

ในครั้งนี้เราจะมาเล่าถึงความต้องการธาตุอาหารของพริกหวานกัน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักพริกหวานกันก่อนดีกว่า โดยพริกหวานนั้นจัดเป็นพืชในตระกูล Solanaceae เช่นเดียวกับ มะเขือ มะเขือเทศ ยาสูบ และมันฝรั่ง เป็นต้น พริกหวานเป็นพืชข้ามปี มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงรื้อแปลงประมาณ 6-7 เดือน นิยมปลูกฤดูเดียว ผลของพริกหวานมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยม เนื้อหนา มีสีสันสดใสหลากหลายสี แต่ที่เราพบได้ทั่วไปตามท้องตลาดและซุปเปอร์มาเก็ตก็จะเป็นสีเขียว สีแดง และเหลือง รสชาติหวานไม่เผ็ด สามารถรับประทานสด หรือนำมาผัดกับผักชนิดต่างๆ ให้สีสันน่ารับประทานยิ่งขึ้น พริกหวานเป็นพืชที่สร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ของเกษตรกรบนดอย เช่นพื้นที่ป่ากล้วย ขุนสถาน ห้วยน้ำขาว และถ้ำเวียงแก เป็นต้น

จากข้อมูลการส่งมอบผักและมูลค่าที่เกษตรกรได้รับระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2565 พบว่า

พริกหวานมีปริมาณการส่งมอบผลผลิตอยู่ที่ 2,504,311 กิโลกรัม มีมูลค่าสูงถึง 110,641,624 บาท (สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, 2565) พันธุ์พริกหวานที่เกษตรกรนิยมปลูกได้แก่ พันธุ์สไปเดอร์ (สีแดง) ซันนี่ (สีเหลือง) มู่หลาน ออมิลันเต้ (สีเขียว) ผลผลิตที่เกษตรกรสามารถเก็บขายได้ประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น สำหรับการปลูกพริกหวานนั้นเกษตรกรจะปลูกพริกหวานในโรงเรือน โดยใช้ถุงพลาสติกหรือถังพลาสติกที่เจาะรู จำนวน 2 ต้น ต่อถุง ใช้กาบมะพร้าวสับผสมกับขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก มีการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ หรือที่เราเรียกกันว่าปุ๋ย AB ซึ่งมีขายตามท้องตลาด

แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่าจริงๆ แล้วพริกหวานต้องการธาตุอาหารหรือกินปุ๋ยในแต่ละครั้งที่เราปลูกเท่าไหร่ ในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต และพริกหวานสีแดง และสีเหลืองมีการดูดใช้ปุ๋ยเท่ากันหรือไม่ ดังนั้นเพื่อให้ได้คำตอบเราจึงได้ทำการเก็บตัวอย่างต้นพริกหวานทั้งสีแดง และสีเหลือง แล้วนำไปวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารที่พริกหวานดูดเข้าไปสะสมในส่วนต่างๆ ผลปรากฏว่า พริกหวานทั้ง 2 สีมีการดูดธาตุอาหารตลอดฤดูการปลูกไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีการดูดใช้ธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรองมากที่สุด

3 อันดับแรก ได้แก่ ไนโตรเจน (N) โพแทสเซียม (K) และฟอสฟอรัส (P) ในขณะจุลธาตุที่ต้องการมาก 3 อันดับแรกคือ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) และสังกะสี (Zn) ตามลำดับ (ดังตาราง) โดยอาการขาดธาตุเหล็กที่เห็นได้ชัดเจนคืออาการ interveinal chlorosis เกิดที่ใบอ่อนก่อน โดยเนื้อใบมีสีเหลืองและเส้นใบยังคงเขียวและผลมีรูปร่างผิดปกติโดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งจากข้อมูลการดูดใช้ธาตุอาหารพืชดังกล่าว เราสามารถนำมาใช้ในการคำนวณปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพริกหวานได้ สูตรปุ๋ยและผลจากการใช้สูตรปุ๋ยตามปริมาณความต้องการธาตุอาหารพืชจะเป็นอย่างไร จะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปนะคะ


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย :จุไรรัตน์ ฝอยถาวร ดารากร อัคฮาดศรี อาผู่ เบเช นักวิจัย สำนักวิจัย
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน