องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

อนาคตที่สดใส…..อุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงไทย

เส้นใยกัญชงนอกจากเป็นเส้นใยที่มีความยาวที่สุดในบรรดาเส้นใยธรรมชาติแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและป้องกันรังสียูวีได้อีกด้วย ดังนั้นการนำเส้นใยกัญชงมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งที่ใช้วัตถุดิบที่ผลิตเองในประเทศ แม้ในปัจจุบันการปลูกกัญชงในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก โดยในปี พ.ศ.2565-2566 มีการปลูกกัญชงในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงประมาณ 628 ไร่ พื้นที่ส่งเสริมของ สวพส. ประมาณ 287 ไร่ ซึ่งยังถือว่ามีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดไม่มากและยังมีราคาสูง ดังนั้นการแปรรูปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จึงต้องเป็นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของเส้นใยกัญชงได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์ (Medical textile) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงได้ 

สิ่งทอทางการแพทย์นั้นมีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์แบบถักทอ (woven) และแบบไม่ถักทอ (Nonwoven) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงการดูแลสุขภาพและอนามัย ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาและดูแลผู้ป่วย ได้แก่ ไหมเย็บแผล ชุด PPE หน้ากากอนามัย ผ้าปิดแผล ผ้าพันแผล ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เสื้อผ้า ชุดกีฬา และของใช้ในครัวเรือน (ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว พรม) ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรค ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์นี้มีแนวโน้มในการเติบโตทางการตลาดสูง ในช่วงปี ค.ศ. 2020-2024 คาดว่าตลาดโลกจะเติบโต 5% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันตลาดในไทยแม้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยแต่มีรายได้โตสูงถึง 4-6% ต่อปี เมื่อเทียบกับสิ่งทอทั่วไปที่โต 1% ต่อปี (ที่มา Krungthai COMPASS)

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ที่ สวพส. ทดสอบผลิตและพบว่ามีคุณสมบัติที่ดี เช่น หน้ากากอนามัยแบบผ้า ที่ผลิตจากเส้นใยกัญชงผสมฝ้าย ในอตราส่วน กัญชง 20%: ฝ้าย 80% มีคุณสมบัติในการป้องกันแบคทีเรียหลังการซักได้ถึง 100 ครั้ง ป้องกันรังสียูวีเอ (UV-A) และ รังสียูวีบี (UV-B) ได้ถึง 99.95% ป้องกันฝุ่นได้ เนื้อผ้าระบายอากาศและความชื้นได้ดี มีอายุการใช้งานในการซักซ้ำได้มากกว่า 60 ครั้ง

กระดาษกัญชงกรองฝุ่น เมื่อนำมาผลิตเป็นหน้ากากอนามัยจำพวกเส้นใยไม่ถักทอ (non-woven) พบว่า กระดาษกัญชงกรองฝุ่นมีคุณสมบัติทั้งทางกายภาพ และทางกลใกล้เคียงกับหน้ากากกรองฝุ่นอุตสาหกรรมที่ผลิตจากสปองบอน ซึ่งเป็นวัสดุโพลิโพไพลีน ที่นิยมนำมาทำหน้ากากอนามัยในปัจจุบันซึ่งมีการย่อยสลายได้ยากกลายเป็นปัญหาขยะในปัจจุบัน โดยกระดาษกัญชงกรองฝุ่น สามารถกรองอนุภาคขนาด 3 ไมครอนได้ 90.5 % ซึ่งสูงกว่าผ้าสปองบอนที่สามารถกรองอนุภาคขนาด 3 ไมครอนได้เพียง 62.5 % อีกทั้งกระดาษกัญชงกรองฝุ่น ยังมีจุดเด่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งมีพื้นผิวสวยงาม สะอาด ทนทาน แข็งแรง และยังมีสมบัติในการกันน้ำอีกด้วย

แผ่นปิดแผลจากเส้นใยกัญชง มีคุณสมบัติการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอันได้แก่ Staphylococcus aureus (S. aureus) และ Escherichia coli (E. coli) ได้โดยให้ประสิทธิภาพสูงถึง 45-49% เมื่อเทียบกับยาปฏิชีวนะ Gentamycin พร้อมทั้งมีคุณสมบัติทางกายภาพ และทางกลที่เหมาะสม มีค่าการดูดซึมหยดน้ำ ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการดูดซับน้ำเหลือง และเลือดที่ดี

เอกสารอ้างอิง

Krungthai COMPASS: นิรัติศัย ทุมวงษา และภาราดา ริรัตนพงษ์. 6 สิงหาคม 2563. Medical Textile ฟันเฟืองใหม่ของสิ่งทอ: โอกาสและอุปสรรคใน New Normal


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : ดร.รัตญา ยานะพันธุ์ นักวิจัย สำนักวิจัย

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน