ผักอินทรีย์ต้องการธาตุอาหารเท่าไหร่กันนะ??
ในตอนนี้ จะพาทุกคนไปดูว่าผักอินทรีย์ที่เราปลูกกันบนดอยเค้ากินปุ๋ยอะไรเท่าไหร่กันจ้า โดยผักอินทรีย์ที่เราได้ศึกษาเป็นผักอินทรีย์ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดกวางตุ้ง เบบี้ฮ้องเต้ คะน้าฮ่องกง และกะหล่ำปลีหวาน ซึ่ง 3 ชนิดแรก เกษตรกรจะปลูกในโรงเรือนขนาด 180 ตารางเมตร มีจำนวน 4,500 ต้นต่อโรงเรือน ทำการใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก ตอนเตรียมดิน ครั้งที่ 2 โรยปุ๋ยหมักบนแปลงอีกครั้งหลังปลูกประมาณ 10 วัน นอกจากนี้ จะพ่นน้ำหมักขี้ไก่หลังปลูก 7 วัน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ส่วนกะหล่ำปลีหวาน เกษตรกรจะปลูกนอกโรงเรือน โดยพื้นที่ 400 ตารางเมตร จะปลูกกะหล่ำปลีหวานได้ 3,000 ต้น เกษตรกรจะใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เช่นกัน โดยจะใส่ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก รองก้นหลุม และเมื่อกะหล่ำปลีหวานมีอายุ 1 เดือน และพ่นปุ๋ยอินทรีย์ทางใบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ต่อไปเรามาดูกันสิว่า ผักอินทรีย์แต่ละชนิดเค้าดูดธาตุอาหารไปใช้เท่าไหร่ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บผลผลิต แล้วแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารตัวไหนมากกว่ากัน ไปดูกันเลย
จากตารางความต้องการธาตุอาหารของผักอินทรีย์จะพบว่า ผักอินทรีย์ทั้ง 4 ชนิด ต้องการโพแทสเซียมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ตามลำดับ แต่จากผลวิเคราะห์ดินในแปลงปลูกผักอินทรีย์พบว่ามีปริมาณธาตุอาหารเหล่านี้สูงแล้ว แต่บางครั้งพืชไม่สามารถดึงมาใช้ได้ เนื่องมาจากความเป็นกรด – ด่างของดินไม่เหมาะสม นอกจากนี้ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่สูญเสียได้ง่าย จึงต้องใส่ปุ๋ยหมักเพิ่มเติมในแปลงเพื่อรักษาปริมาณธาตุอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของพืช ซึ่งปุ๋ยหมักที่เกษตรกรทำเองส่วนใหญ่มีปริมาณไนโตรเจนสูงมากว่า 1 % และควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารพืชอย่างน้อย 2 -3 ปีต่อครั้ง
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และ ดารากร อัคฮาดศรี
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน