องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

โปรแกรมการจัดการศัตรูพืชในการปลูกเสาวรสหวานในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ Climate change มีผลต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของศัตรูพืช ส่งผลต่อความเสียหายต่อผลผลิต ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก เช่น เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย และแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับการส่งเสริมการปลูกเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุงตั้งแต่ปี 2557 โดยการส่งเสริมเสาวรสในช่วงแรก เสาวรสให้ผลผลิตและตอบแทนสูง เป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่ในปัจจุบันเกษตรกรพบปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชมีการระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะโรคไวรัส โรคผลเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. และเชื้อรา Phytopthora sp. ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรร่วงหล่น สูญเสียผลผลิตก่อนเก็บเกี่ยวมากกว่าร้อยละ 50 และพบมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีสภาพอากาศอยู่ในช่วงฤดูฝน อุณภูมิต่ำ มีฝนตกสลับกับอากาศร้อน (เฉลี่ย 20.40-28.55 C ความชื้นสัมพัทธ์ 79.15-88.75 %RH) ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลผลิตจำนวนมาก และเกิดการระบาดเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังพบศัตรูพืชซึ่งสอดคล้องกับระยะการเจริญเติบโตของพืชได้แก่ 1) ช่วงการย้ายปลูก (พฤษภาคม) พบโรคโคนเน่ารากเน่า ตักแตน และจิ้งหรีดกัดกินต้นกล้า 2) ช่วงออกดอก (มิถุนายน) พบเพลี้ยไฟ ไรศัตรูพืช และเพลี้ยหอย 3) ช่วงที่เสาวรสเจริญเติบโตและออกดอก (กรกฎาคม) พบกลุ่มโรคทางใบ เช่น ใบจุด ผลเน่าจากเชื้อราออลเทอนาเรียเกิดที่ใบ และ 4) ช่วงเจริญเติบโต ออกดอก และติดผลรุ่น 1-7 (สิงหาคม-มีนาคม) พบโรคผลเน่าจากเชื้อรา Collectotrichum sp. Fusarium sp. Alternaria sp. และเชื้อรา Phytopthora sp. และโรคแผลสะเกิดหรือสแคบ เป็นต้น

จากการสำรวจศัตรูข้างต้นทำให้เกษตรกรมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงได้ศึกษา และทดสอบนำองค์ความรู้งานวิจัยเรื่องโปรแกรมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในการปลูกเสาวรสหวาน เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับการใช้สารเคมี เพื่อให้ผลผลิตเสาวรสหวานที่ปลอดภัย โดยมีโปรแกรมหรือแผนการจัดการศัตรูพืชในการปลูกเสาวรส ดังภาพ


ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย และแม่สามแลบ ได้นำองค์ความรู้เรื่องโปรแกรม/แผนการจัดการศัตรูพืชในการปลูกเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุงไปใช้ประโยชน์ในปี พ.ศ. 2565-2566 เกษตรกร 4 ราย/พื้นที่ เกษตรกรปลูกเสาวรส 100 ต้น/ไร่ จำหน่ายผลผลิตตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 - มกราคม 2666 รวมสุทธิ 207,237 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยรายละ 51,809 บาท/ราย เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ไม่มีการแผนการจัดการศัตรูพืชเท่ากับ 17,768 บาท เนื่องจากผลผลิตเสียหายจากโรคผลเน่าเสาวรสและศัตรูพืชต่างๆ 

นอกจากโปรแกรมการจัดการศัตรูพืชเพื่อให้เกษตรกรเลือกใช้สารชีวภัณฑ์หรือใช้สารเคมีที่เหมาะสมแล้วนั้น เกษตรกรยังควรต้องมีการจัดการสวนที่ดีร่วมด้วย ดังนี้

1. เตรียมแปลงปลูก ปรับค่า pH ดินด้วยโดโลไมท์ ให้มีค่า pH เป็น 6.2 ซึ่งอยู่ในช่วงที่เหมาะสม (5.5-6.8)

2. เลือกใช้ต้นพันธุ์ หรือต้นเสียบยอดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีความแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง ไม่แสดงอาการไวรัส ลดการเกิดโรค

3. ไม่ควรปลูกเสาวรสในแปลงเดิม ลดการสะสมโรคและศัตรูพืช

4. กำจัดวัชพืชในแปลงอย่างสม่ำเสมอ ลดแหล่งพาหะนำโรค

5. การจัดการสวนที่ดี ได้แก่ การสางใบ ตัดแต่งกิ่ง การปลิดผล และควรนำชื้นส่วนเหลือทิ้งออกจากแปลง

6. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนเพื่อเฝ้าระวังโรค

7. เนื่องจากเสาวรสออกดอกหลายรุ่น ควรระมัดระวังการใช้สารเคมีช่วงออกดอก หากใช้สารมีฤทธิ์รุนแรงจะยิ่งส่งผลให้ดอกร่วง เลือกใช้สารเคมีที่มีกลุ่มสารออกฤทธิ์ต่างกัน

8. โรคจากเชื้อไวรัสไม่มีสารเคมีป้องกันโรค ควรทำให้พืชแข็งแรง เช่น ให้ปุ๋ยหมักและน้ำสม่ำเสมอ อาหารเสริม ธาตุอาหารรอง แคลเซียม โบรอน และเหล็ก เป็นต้น




เรียบเรียงโดย นางสาวธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล นักวิจัย


ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...โครงการพัฒนาระบบการเรียนรู้พื้นที่สูงผ่านระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีดิจิทัล ศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ สำนักยุทธศาสตร์และแผน