องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ยกระดับพลับ.. ไม่ให้อาภัพอีกต่อไป

พลับ เป็นไม้ผลยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และมีการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น อีกทั้งยังปลูกเป็นป่าเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เนื่องจากต้นพลับเป็นพืชที่ทนแล้ง ดูแลรักษาง่ายและมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เช่น วิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน โฟเลต คลิปโทแซนทิน ไลโคปิน และลูทีน เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความแก่ การเกิดริ้วรอย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และยังมีแคลอรี่และไขมันต่ำอีกด้วย

จากการรายงานปัญหาการผลิตและจำหน่ายพลับในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ป่าเกี๊ยะใหม่ส่วนใหญ่ปลูกพลับมานานกว่า 25 ปี มีเกษตรกรปลูกพลับใน 8 หมู่บ้าน พื้นที่ปลูกกว่า 1,285 ไร่ มีปริมาณผลผลิตมากกว่า 200 ตันต่อปี ในช่วงแรกมีพ่อค้าขึ้นมารับซื้อผลผลิตพลับสดในพื้นที่ในราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท แต่ต่อมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 2019 ทำให้ไม่มีพ่อค้าขึ้นไปรับซื้อผลผลิต ประกอบกับผลผลิตพลับเสียหายระหว่างการขจัดความฝาดด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และการขนส่งมากกว่า 50% เกษตรกรจึงไม่สามารถจำหน่ายลูกพลับได้ ส่งผลให้เกษตรกรทิ้งแปลงพลับและตัดทำลายต้นพลับทิ้ง และมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น อาโวคาโด มะม่วง กะหลํ่าปลี ผักกาดขาว และข้าวโพด เป็นต้น ในปัจจุบันยังคงมีเกษตรกรที่ปลูกพลับจำนวน 27 ราย จาก 3 หมู่บ้าน มีปริมาณผลผลิตพลับในปี พ.ศ. 2566 ประมาณ 100 ตัน และในปี พ.ศ. 2566 ไม่มีการเก็บผลผลิตพลับจากแปลงเลย เนื่องจากไม่มีตลาดรับซื้อผลผลิต

ทางเลือก และอาจจะเป็นทางรอดของเกษตรกรชาวสวนพลับบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ นอกจากจำหน่ายเป็นผลผลิตสดแล้ว นำมาแปรรูปเป็นพลับอบในรูปแบบของการหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปเข้าตู้อบ โดยในปีนี้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านป่าเกี๊ยะ-น้ำรู” เพื่อดำเนินการแปรรูปผลผลิตการเกษตรสำหรับเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยในปีนี้ได้มีการนำลูกพลับสดที่คัดเกรด (น้ำหนักผล 130 กรัมขึ้นไป) มาบรรจุในถุงสูญญากาศ (ถุงละ 4 ผล น้ำหนักรวม 570-600 กรัม) นำมาใช้ในการขจัดความฝาด และช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลูกพลับสด นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูปภายใต้กระบวนการผลิตตามมาตรฐาน GMP โดยนำลูกพลับมาอบแบบหั่นชิ้น (1 ผล หั่นเป็น 6 ชิ้น) แล้วนำไปอบในตู้อบที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 180 นาที จากนั้นลดอุณหภูมิลงเหลือ 65 องศาเซลเซียส อบต่ออีกเป็นเวลา 180 นาที ในช่วงสุดท้ายอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส จนพลับที่อบมีสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อใส เมื่อบีบจะนุ่มหนุบหนับ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 120-150 นาที ขึ้นอยู่กันขนาดของชิ้นพลับ แล้วจึงนำมาบรรจุในถุงสุญญากาศ เพื่อคงสภาพของพลับอบแห้งในการรอจำหน่ายต่อไป จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ลูกพลับสด 10 กิโลกรัม เมื่อปอกเปลือกและตัดแต่งแล้วจะได้เนื้อพลับ 6 กิโลกรัม นำมาอบแห้งแล้วจะได้พลับอบ 1,500 กรัม (ต้นทุนกิโลกรัมละ 325 บาท) ซึ่งการนำมาแปรรูปจะเป็นแนวทางในการช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกพลับได้ ในส่วนที่ตัดแต่งทิ้งเกษตรกรก็สามารถนำไปเป็นอาหารหมูได้อีกด้วย

การนำลูกพลับมาแปรรูปจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพลับมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเพิ่มมูลค่า ลดการสูญเสียของผลผลิตโดยนำมาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพลับที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green และเป็นการเพิ่มโอกาส ลดความเหลื่อมลํ้าของเกษตรกรบนพื้นที่สูงในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นางสาวกรรณิกา ศรีลัย และนางสาวปัณชพัฒน์ แจ่มเกิด (สำนักวิจัย) และ นายชัยเจริญ นิติคุณชัย (สำนักพัฒนา)