ชื่อวิทยาศาสตร์ Phaseolus vulgaris L.
ชื่อสามัญ Bush bean
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป ถั่วแขกเป็นพืชตระกูลถั่ว (Leguminosae) มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของเม็กซิโก สามารถเจริญได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น ถั่วแขกเป็นพืชฤดูเดียว ลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านน้อย มีการเจริญเติบโตหลายลักษณะ เช่น เป็นพุ่มหรือกิ่งเลื้อย ใบเป็นแบบสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ สามารถเจริญได้ทุกช่วงแสง เป็นพืชผสมตัวเอง ฝักมีหลายสี เช่น เขียว เหลือง ม่วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ถั่วเข็มเป็นถั่วแขกที่เก็บเกี่ยวเมื่อผักยังอ่อนหลังดอกบาน 5 วัน
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ถั่วเข็ม เป็นถั่วแขกขนาดเล็ก มีรสชาติหวาน นิยมนำมาลวกเป็นเครื่องเคียงในสเต๊ก หรือผัดโดยใช้ไฟแรง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 20 – 25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิดินอยู่ระหว่าง 18 – 30 องศาเซลเซียส ในช่วงที่มีฝนตกชุก อุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูงไม่เหมาะสมต่อการปลูก ในขณะที่อุณหภูมิสูง สภาพอากาศแห้งแล้ง หรือช่วงที่มีฝนตกชุก ช่วงดอกบานจะทำให้อัตราการติดฝักต่ำ ดอกร่วง โดยเฉพาะถั่วแขกค้างซึ่งต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าถั่วแขกพุ่ม
สภาพดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นดินร่วนซุย ถ่ายเทอากาศได้ดีสภาพดินที่เหมาะสม คือดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี pH 6.0 – 6.5 แปลงที่มีความชื้นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากจะทำให้ฝักแก่ช้า และควรได้รับแสงอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า นำเมล็ดคลุกเชื้อไตรโคเดอร์มา บ่มผ้าอุณหภูมิ 40 ?C ประมาณ 6 ชั่วโมง
การเตรียมดิน ไถดินตากแดดไม่ต่ำกว่า 14 วันหรือขุดพลิกดินตกแดดอย่างน้อย 7 – 14 วัน เก็บเศษวัชพืชให้สะอาด ขึ้นแปลงปลูก รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 1 กก./ตร.ม. และใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 10 – 20 กรัม/ตร.ม. สำหรับพืชตระกูลถั่วควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนรองพื้นจะให้ต้นกล้าที่แข็งแรง
การปลูก หยอดเมล็ดที่บ่มแล้ว 2 – 3 เมล็ดต่อหลุม ลึก 2 – 3 ซม. และกลบดินรดน้ำ โดยมีระยะปลูก (ต้นxแถว) 30 x 50 ซม. ข้อควรระวัง ไม่ควรคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันแมลง
การให้น้ำ ปลูกซ่อม 7 – 10 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 10 – 20 กรัม/ตร.ม. หลังจากปลูก 40 วัน ใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 10 – 20 กรัม/ตร.ม. แล้วพูนโคนต้นเพื่อป้องกันต้นล้ม เน้นการกำจัดวัชพืชแล้วรดน้ำควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอช่วง 30 วันแรก หลังจากนั้นทุก 2 – 3 วัน ขึ้นกับระดับความชื้นในดิน การทำค้างนั้นควรทำหลังปลูกให้เสร็จก่อน 7 – 10 วัน ค้างสูงประมาณ 2 ม.
การให้ปุ๋ย
อายุ 15 วัน ปุ๋ย 46 – 0 – 0 อัตรา 15 กรัม/ต้น
อายุ 30 วัน ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 25 กรัม/ต้น
อายุ 45 วัน ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 25 กรัม/ต้น
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่ออายุได้ประมาณ 45 – 50 วัน ควรมีการทยอยเก็บ เมื่อฝักได้ขนาดตามต้องการ
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวโดยใช้มือ โดยให้มีขั้วติด แต่เอาส่วนของดอกที่ปลายฝักออก
2. จัดชั้นคุณภาพ คัดเอาฝัหที่มีรูปร่างคดงอและมีตำหนิอย่างรุนแรงทิ้ง
3. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู 200 กรัมต่อถุง แล้วบรรจุในตะกร้าพลาสติก
4. ขนส่งโดยรถห้องเย็นหรือรถบรรทุกธรรมดา
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ รูปร่างตรง ไม่คดงอ ผิวเรียบ ไม่มีสีม่วงปน สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. ฝักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 4 มิลลิเมตร มีความยาว 4 – 6 เซนติเมตร
2. ไม่มีตำหนิใดๆ
3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. ฝักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 4 มิลลิเมตร มีความยาว 4 – 7 เซนติเมตร
2. มีรูปร่างโค้งได้เล็กน้อยไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีตำหนิได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. มีขนาดเล็ก หรือใหญ่กว่าชั้นหนึ่งและชั้นสอง
2. มีรูปร่างโค้งปะปนมาได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีรอยตำหนิได้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง ถั่วเข็มที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน
การเตรียมสู่ตลาด
1. ตัดแต่ง และคัดฝักที่มีตำหนิออก
2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู
การเก็บรักษา ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์