การปลูกอะโวคาโด
อะโวคาโด
1. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
วงศ์: Lauraceae
ชื่อวิทยาศาสตร์: Persea americana. Mill.
สกุล: Persea
2. ต้น
ความสูง 6 - 18 เมตร ทรงต้นมีลักษณะแตกต่างกันมาก มีทั้งทรงต้นตรงและลำต้นสูงใหญ่ จนกระทั่งเป็นพุ่มเตี้ยและลำต้นเล็ก เปลือกของลำต้นขรุขระ สีน้ำตาลอ่อน เป็นไม้เนื้ออ่อน
3. ใบ
ใบเดี่ยวเรียงสลับบนกิ่ง ยาว 8 - 40 เซนติเมตร กว้าง 5 - 18 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3 - 8 เซนติเมตร ใบเรียงหนาแน่นที่ส่วนปลายของกิ่ง
4. ดอก
ดอกออกเป็นช่อตรงปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแพนนิเคิล (Panicle) ออกดอกเดือนตุลาคม - เดือนกุมภาพันธ์
5. ผล
เป็นแบบผลเดี่ยว
มีรูปร่างหลายลักษณะ: แบบผลฝรั่ง รูปไข่ กลม ยาวคล้ายมะเขือยาว ใหญ่ เล็ก
ผิวผล: เรียบหรือขรุขระ
สีผิว: เขียว เขียวปนเหลือง หรือม่วง
เนื้อ: เหลืองอ่อนหรือเหลืองเข้ม
การผลิตอะโวคาโด
1. ผ่านมาตรฐานรับรองระบบผลิต
- ระบบมาตรฐาน GAP
- ระบบมาตรฐานอินทรีย์ (นโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม)
2. ให้ความสำคัญกับการใช้สารชีวภัณฑ์และสารเคมีน้อยที่สุด ตามความเหมาะสม
3. สินค้าหรือผลิตผลที่ผ่านการรับรองระบบการปลูกในระบบอินทรีย์ เป็นเกรดพรีเมียมในอนาคต
ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ (5 ดี)
1. พันธุ์ดี (ชนิดพันธุ์) - ความต้องการของตลาด และเหมาะสมกับพื้นที่
2. น้ำดี (น้ำ) - แหล่งน้ำ ฤดูกาลปลูก การขยายพันธุ์ ความสมบูรณ์ของต้น การติดผล คุณภาพผลผลิต
3. ดินดี (พื้นที่) - ความสูง อากาศ ดิน ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน พันธุ์ คุณภาพ ผลผลิต
4. แดดดี (แสง) - การผสมเกสร โรค แมลง การติดผลและคุณภาพผลผลิต
5 คนดี (ผู้ปลูก) - ความสนใจ ความสามารถ
ศักยภาพในการผลิตอะโวคาโด
1. ปลูกได้ในพื้นที่หลายระดับ พื้นที่ราบจนถึงสูงกว่า 1,000 เมตร
2. เป็นพืชสำคัญ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ
3. ปลูกทดแทนป่า
4. สามารถปลูกพันธุ์การค้าของโลกได้ เช่น Hass
พันธุ์อะโวคาโด
พันธุ์อะโวคาโดมีจำนวนมาก ทั้งพันธุ์ดีและพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด เนื่องจากการผสมข้ามและเกษตรกรนำเมล็ดมาปลูก มูลนิธิโครงการหลวงคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพดี กำหนดให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมจำนวน 7 สายพันธุ์
1. ปีเตอร์สัน (Peterson)
2. บัคคาเนีย (Buccaneer)
3. บูท 7 (Booth 7)
4. บูท 8 (Booth 8)
5. ฮอลล์ (Hall)
6. พิงเคอร์ตัน (Pinkerton)
7. แฮส (Hass)
ลักษณะพันธุ์อะโวคาโดที่ดี
1. เป็นพันธุ์ที่ผลผลิตมีคุณภาพ เนื้อผลมีเปอร์เซ็นต์ไขมันสูง เนื้อผลนิ่ม แน่ ไม่เละ ไม่มีเสี้ยน ไม่เป็นสีน้ำตาลง่ายหลังผ่า ไม่มีรสขม และไม่มีกลิ่นฉุน
2. เป็นพันธุ์ที่มีช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวยาว ผลแก่ยืดอายุเก็บเกี่ยวได้ โดยอยู่บนต้นได้นาน ไม่หล่นเสียหายง่าย
3. เปลือกผลหนา ทนต่อการขนส่งได้ดี ผลมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป
การขยายพันธุ์และการผลิตต้นกล้า
1. การเพาะเมล็ด
2. การขยายพันธุ์ในถุง
- ใช้เมล็ดสมบูรณ์ อายุ 2 เดือนเปลี่ยนยอดได้เร็วขึ้น 15 - 30 วัน
- เปลี่ยนยอดในถุง หลังปลูกอายุ 5 - 6 เดือน
การเลือกกิ่งพันธุ์ดี
แปลงแม่พันธุ์มีความสำคัญต่อความสำเร็จในงานปลูกที่สุด
- การผลิตต้นกล้าพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ สมบูรณ์ ปลอดโรคและแมลง
- การรอดตาย การเจริญเติบโต
- การให้ผลผลิต และคุณภาพ
การอนุบาลก่อนจ่าย
- วางอนุบาลในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี อุณหภูมิปกติ ต้นกล้าจะมีความสดชื่น แข็งแรง
- ตัดแต่งกิ่งให้เหลือยอดเดียว
การต่อกิ่งแบบเสียบข้าง
การต่อกิ่งแบบเสียบเปลือก
3. การขยายโดยการติดตา
4. การเปลี่ยนพันธุ์ในแปลงปลูก
พัฒนาการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีในแปลงปลูกโดยการใช้พาราฟิล์ม
เปลี่ยนต้นตออายุ 2 ปีขึ้นไป
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา
- ระยะปลูกขึ้นอยู่กับพันธุ์ ระหว่างต้นและระหว่างแถว 8 - 12 เมตร ควรวางแผนมีคู่ผสม
- ขนาดหลุมกว้าง ยาว และลึก 80 เซนติเมตร
- พื้นที่รับน้ำฝน นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน ใช้ต้นตอปลูกและเปลี่ยนพันธุ์อายุ 2 ปีขึ้นไป
- พื้นที่สามารถให้น้ำได้ ปลูกตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ใช้ต้นกล้าที่เปลี่ยนพันธุ์ดีแล้ว
การใส่ปุ๋ย
- อายุ 1 เดือน
N:P:K อัตราส่วน 3:1:1 หรือ 15-15-15 ผสม 46-0-0 อัตรา 1:1 ต้นละ 200 กรัม ทุก 3 เดือน
- อายุ 2 ปี
เพิ่มใส่ต้นละ 300 กรัม ทุก 3 เดือน
- อายุ 3 ปี
เริ่มให้ผลผลิต เพิ่มใส่ต้นละ 400 กรัม ใส่ 2 ครั้ง ช่วงต้นฤดูฝนและกลางฤดูฝน และในช่วงปลายฤดูฝนใส่ 8-24-24 หรือ 9-24-24 ต้นละ 500 กรัม
- อายุ 4 ปี
เพิ่มใส่ต้นละ 500 กรัม 2 ครั้ง และ 8-24-24 หรือ 9-24-24 ต้นละ 500 กรัม
- ปีต่อ ๆ ไป
ใช้วิธีวัดระยะจากโคนต้นไปยังชายพุ่มเป็นเมตร ซึ่งจะเท่ากับจำนวนกิโลกรัมของปุ๋ยที่ใส่ในแต่ละปี และควรมีปุ๋ยอินทรีย์ให้ทุกปี
การจัดทรงต้นและการตัดแต่งกิ่ง
ตัดยอดเพื่อให้แตกกิ่งใหม่เป็นพุ่มแผ่กว้างออก
การตัดแต่งกิ่งอะโวคาโด เพื่อให้พุ่มต้นไม่สูงสะดวกในการจัดการแปลงปลูก การดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิต
วัตถุประสงค์
- บังคับทรงต้นตามต้องการ
- สร้างกิ่งออกดอก ติดผลใหม่
- ผลผลิตมีคุณภาพ
ประโยชน์ของทรงต้นเตี้ย
- คุณภาพผลผลิตสูง
- ลดต้นทุนการผลิต (การตัดแต่ง การปลิดผล การห่อผล ปุ๋ย ยา การเก็บเกี่ยว ฯลฯ)
- ปลอดภัยกับผู้ปลูก ผู้บริโภค บุคคลทั่วไป และสิ่งแวดล้อม (สารเคมี อุบัติเหตุ สารพิษตกค้าง มลพิษในอากาศ)
- สร้างรายได้เพิ่ม (ผลผลิตต่อต้นมาก ราคาต่อหน่วยสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ)
ตัดยอดเพื่อให้แตกกิ่งใหม่เป็นพุ่มแผ่กว้างออก
- เพื่อให้ต้นมีลักษณะตามต้องการ
- ต้นแข็งแรง อายุยืน
- ไม่เป็นโรคและแมลง
- ลดความเสียหายจากลมพายุ
- ช่วยให้ออกดอกติดผลไม่เว้นปี
- ติดผลกระจายทั่วต้น
- ผลผลิตมีคุณภาพ
ดัชนีการเก็บเกี่ยวอะโวคาโด
อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีลักษณะการสุกแก่ที่มีลักษณะพิเศษ
- ผลที่แก่แล้วยังสามารถแขวนอยู่บนต้นได้ระยะเวลาหนึ่ง ผลจะแขวนอยู่ได้นานเท่าใดขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยบางพันธุ์สามารถอยู่ได้นานถึง 3 เดือน
- ผลจะไม่สุกถ้าไม่เก็บมาบ่ม
- อะโวคาโดบางพันธุ์สีของผลไม่เปลี่ยนไป จึงยากต่อการสังเกตของผู้ที่ไม่ชำนาญ
- อะโวคาโดแต่ละพันธุ์มีฤดูที่ผลแก่เก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน
- อะโวคาโดพันธุ์เดียวกัน แต่ปลูกคนละสภาพแวดล้อม อาจทำให้ผลแก่ช้าหรือเร็วกว่ากันได้ 1 - 3 สัปดาห์
การทดสอบผลอะโวคาโดแก่พร้อมเก็บเกี่ยว
การทดสอบว่าผลอะโวคาโดแก่พร้อมเก็บเกี่ยวมีหลายวิธี และควรใช้หลายวิธีประกอบกัน
1. ใช้อายุผลจากวันติดผลถึงวันเก็บเกี่ยวเป็นตัวกำหนดดัชนีการเก็บเกี่ยว
- พันธุ์ปีเตอร์สัน
160 วัน
- พันธุ์บัคคาเนีย
181 - 187 วัน
- พันธุ์บูท 7
171 วัน
- พันธุ์บูท 8
177 วัน
- พันธุ์แฮส
242 - 251 วัน
- พันธุ์พิงเคอร์ตัน
309 วัน
2. วิธีการสังเกตการแก่ของผลอะโวคาโด
2.1 สังเกตจากลักษณะภายนอกของผล
ผลของอะโวคาโดที่แก่นั้น ลักษณะภายนอกของผลจะเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน
- บางพันธุ์ผลแก่จะมีนวลที่ลบออกได้
- บางพันธุ์ผิวผลเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเขียวปนเหลือง เช่น พันธุ์รูเฮิลร์ และพันธุ์ปีเตอร์สัน
- บางพันธุ์เปลี่ยนจากเขียวเป็นเขียวปนม่วง เช่น พันธุ์แฮส พันธุ์พิงค์เคอตัน พันธุ์ปากช่อง 3-3 และพันธุ์ปากช่อง5-6
- บางพันธุ์เมื่อแก่ผิวผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล เช่น พันธุ์บัคคาเนียร์
- บางพันธุ์เมื่อแก่ผิวผลยังคงเป็นสีเขียวอยู่ แต่ขั้วผลเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง หรือผลมีจุดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์บูท 7 พันธุ์บูท 8 พันธุ์ฮอลล์ และพันธุ์ลูล่า
2.2 สังเกตจากฤดูเก็บเกี่ยวและลักษณะภายในของผล
อะโวคาโดแต่ละพันธุ์มีฤดูเก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างแน่นอน เมื่อเริ่มเข้าฤดูเก็บเกี่ยวสามารถทดสอบได้โดย
- ดูเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ด โดยการเก็บผลมาผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด ถ้าเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลแล้ว แสดงว่าผลแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้
- ดูสีเนื้อของผล โดยการผ่าดูเนื้อ ผลอะโวคาโดที่แก่เนื้อผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
- ทดสอบความแก่ของผล โดยการทดลองเก็บผลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมาบ่มทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 - 10 ผล ถ้าผลแก่จะบ่มได้สุก ผิวผลที่สุกไม่เหี่ยวย่นหรือแห้งเมื่อชิมดูรสต้องดี เนื้อไม่เหนียวหรือแข็ง และไม่มีรสขม แสดงว่าผลที่เหลือบนต้นสามารถเก็บได้แล้ว
ดัชนีการเก็บเกี่ยวอะโวคาโดพันธุ์สำคัญ
พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson)
- เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน
- อายุผลตั้งแต่ติดผลถึงเก็บเกี่ยว 160 วัน
- ลักษณะผลแก่ที่เก็บเกี่ยวได้ คือ ขั้วผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเขียวปนเหลือง เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล เยื่อหุ้มเมล็ดจะเปลี่ยนจากสีขาวหรือเหลืองครีมเป็นสีน้ำตาล และร่อนออกจากเมล็ดได้ง่าย เนื้อผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
พันธุ์บัคคาเนีย (Buccaneer)
- เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน
- อายุผลตั้งแต่ติดผลถึงเก็บเกี่ยว 181 - 187 วัน
- ลักษณะผลที่แก่เก็บเกี่ยวได้ คือ จะมีนวลลบออกได้ สีของผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล เยื่อหุ้มเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
พันธุ์บูท 7 (Booth 7)
- เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
- อายุผลตั้งแต่ติดผลถึงเก็บเกี่ยว 171 วัน
- ลักษณะผลที่แก่เก็บเกี่ยวได้ คือ จะมีนวลลบออกได้ ผิวผลสีเขียว เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล เยื่อหุ้มเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
พันธุ์บูท 8 (Booth 8)
- เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
- อายุผลตั้งแต่ติดผลถึงเก็บเกี่ยว 177 วัน
- ลักษณะผลที่แก่เก็บเกี่ยวได้ คือ จะมีนวลลบออกได้ ผิวผลสีเขียว เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล เยื่อหุ้มเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
พันธุ์แฮส (Hass)
- เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม
- อายุผลตั้งแต่ติดผลถึงเก็บเกี่ยว 242 - 251 วัน
- ลักษณะผลที่แก่เก็บเกี่ยวได้ คือ ผิวผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีม่วงปนเขียว เยื่อหุ้มเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
พันธุ์พิงเคอร์ตัน (Pinkerton)
- เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม
- อายุผลตั้งแต่ติดผลถึงเก็บเกี่ยว 309 วัน
- ลักษณะผลที่แก่เก็บเกี่ยวได้ คือ ผิวผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีม่วงปนเขียว เยื่อหุ้มเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
วิธีการเก็บเกี่ยว
ก่อนเก็บเกี่ยวอะโวคาโดต้องตรวจสอบว่าผลแก่เก็บเกี่ยวได้แล้วหรือไม่ โดยพิจารณาถึงระยะเวลาที่เก็บเกี่ยว และตรวจสอบอายุการเก็บเกี่ยวของอะโวคาโดพันธุ์นั้น ๆ จากนั้นทดลองเก็บผลบนต้นในระดับต่าง ๆ ประมาณ 6 - 8 ผล เพื่อผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาลักษณะภายนอกของผลเพื่อให้มั่นใจว่าผลแก่แล้ว เนื่องจากบางครั้งในต้นเดียวกันอาจมีการออกดอกมากกว่า 1 ชุด ทำให้อายุของผลไม่เท่ากัน
ในการเก็บเกี่ยวต้องให้มีขั้วผลติดอยู่กับผล หากขั้วผลหลุดออกจากผลจะทำให้ผลเสียหายได้ง่ายขณะบ่มให้สุก วิธีการเก็บเกี่ยวทำได้โดยการเด็ดหรือใช้กรรไกรตัดให้ขั้วผลหลุดออกจากกิ่ง อาจใช้บันไดขึ้นเก็บ หรือใช้ตะกร้อที่มีใบมีดตัดขั้วสอยให้ติดขั้ว หรือใช้กรรไกรด้ามยาวที่มีที่หนีบขั้วผลไว้ ไม่ให้ผลตกเสียหาย ควรระวังไม่ให้ผิวผลเสียหาย เมื่อเก็บแล้วให้ใส่ลงในภาชนะที่รองด้วยกระดาษหรือฟองน้ำที่ป้องกันความเสียหายได้ นำไปคัดแยกเอาผลที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดออก ตัดขั้วผลให้สั้นลงเหลือเฉพาะส่วนฐานของขั้วที่ติดกับผล
มาตรฐานคุณภาพผลผลิตโครงการหลวง
- ลักษณะของผลตรงตามพันธุ์
- ผลแก่ ทรงผลดีไม่บิดเบี้ยว
- มีตำหนิที่เป็นแผลแห้งได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวผล
1. พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson)
- เกรด 1 มีน้ำหนักผลมากกว่าง 201 กรัมขึ้นไป
- เกรด 2 มีน้ำหนักผลระหว่าง 161 - 200 กรัม
- เกรด 3 มีน้ำหนักผลระหว่าง 140 - 160 กรัม
2. พันธุ์แฮส (Hass) และพันธุ์พิงเคอร์ตัน (Pinkerton)
- เกรดพิเศษ (1) มีน้ำหนักผลมากกว่า 250 กรัมขึ้นไป
- เกรด 1 (2) มีน้ำหนักผลระหว่าง 201 - 249 กรัม
- เกรด 2 (3) มีน้ำหนักผลระหว่าง 140 - 200 กรัม
3. น้ำหนักผลของแต่ละพันธุ์
- พันธุ์รูเฮิล (Ruehle) มีน้ำหนักผลระหว่าง 200 - 300 กรัม
- พันธุ์บัคคาเนีย (Buccaneer) มีน้ำหนักผลระหว่าง 250 - 400 กรัม
- พันธุ์บูท 7 (Booth 7) มีน้ำหนักผลระหว่าง 300 - 500 กรัม
- พันธุ์บูท 8 (Booth 8) มีน้ำหนักผลระหว่าง 240 - 400 กรัม
- พันธุ์ฮอลล์ (Hall) มีน้ำหนักผลระหว่าง 400 - 500 กรัม
การบ่มผลอะโวคาโด
- วางไว้ในอุณหภูมิห้อง 3 - 7 วัน ขึ้นอยู่กับความแก่ของผล อุณหภูมิในที่บ่ม และชนิดพันธุ์
การบรรจุหีบห่อและการเก็บรักษา
- คัดคุณภาพตามมาตรฐานเกรด และวางเรียงในลังรองด้วยฟองน้ำ
- ห้ามเก็บรักษาผลอะโวคาโดในห้องเย็นขณะผลดิบ
ตลาด
ผลผลิตยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพันธุ์แฮส (Hass) ตลาดยังต้องการอีกจำนวนมาก
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: นายบรรจง ปานดี (นักวิชาการไม้ผล)