องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปลูกฟักทองจิ๋ว

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

  • เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น มีความชื้นเพียงพอ
  • ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี อุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 15-30 ºC
  • ปลูกได้ดีในพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 - 1,000 เมตร
  • พื้นต่ำกว่าระดับ 800 เมตร ควรงดหรือเฝ้าระวังในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม เนื่องจากแมลงวันทองมักเจาะผลในระยะก่อนดอกบาน ระบาดในช่วงดือนมีนาคม - มิถุนายน และควรเฝ้าระวังเพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว
  • ฤดูฝนไม่ควรปลูกในพื้นที่ราบลุ่ม เนื่องจากการระบายอากาศไม่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการต้นเน่า ราแป้ง จึงควรปลูกบนพื้นที่ดอน มีลมพัด อากาศถ่ายเท

วางแผนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดการแปลง สารเคมีตกค้าง และลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลง


แผนการผลิตฟักทองจิ๋ว 2,000 กก./2 สัปดาห์

การปลูกฟักทองจิ๋ว

1 การเพาะกล้า

  • เพาะกล้าในถาดหลุม 104 หลุม อายุ 5 - 7 วัน โดยไม่ต้องรอใบจริง
  • ไม่ควรย้ายกล้า เมื่ออายุแก่เกิน 10 วัน

2 การเตรียมแปลง

  • ระยะปลูก (แปลงกว้าง 3 เมตร)
  • แถวเดี่ยว ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 50 - 80 เซนติเมตร ระหว่างแถว 1.5 - 2 เมตร
  • แถวคู่ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 60 - 80 เซนติเมตร ระหว่างแถว 2 - 2.5 เมตร
  • คลุมแปลงด้วยพลาสติกคุมแปลง ฟางข้าว หรือเศษใบไม้แห้ง
  • ช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ควรปลูกภายใต้สภาพโรงเรือน
  • ควรทำคลังอาหาร ปุ๋ยรองพื้น ปรับสภาพ และเพิ่มธาตุอาหารในดิน

3 การเตรียมดินและทำคลังอาหาร

  • เตรียมก่อนย้ายปลูกอย่างน้อย 1 เดือน
  • เตรียมแปลงมาตรฐานขนาดกว้าง 1 เมตร/ 3 เมตร เว้นร่องหรือทางเดิน 50 เซนติเมตร
  • ทำคลังอาหารโดยขุดยกร่องลึกประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร
  • รองก้นหลุม โดยโรยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เศษเหลือจากการเกษตร (เศษวัชพืช ฟางข้าว หรือใบไม้) + 46-0-0 + ปุ๋ยเคมีรองพื้น (0-46-0 หรือ 12-24-12) + เชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า และเพื่อให้เศษวัชพืชและปุ๋ยหมักเกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้น หรือใช้ปุ๋ยหมักที่ผ่านการหมักที่สมบูรณ์ร่วมกับการใส่ปุ๋ยรองพื้น เพื่อลดระยะเวลาการเตรียมดินปลูก

4 การให้ปุ๋ย

  • การเตรียมแปลง
  • ทำคลังอาหารโดยใส่ปุ๋ยหมัก + ไตรโคเดอร์มา
  • ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 + 15-0-0 ในอัตรา 1:1 อัตรา 10 - 15 กิโลกรัมต่อไร่
  • การใส่ปุ๋ยหลังย้ายปลูก

ครั้งที่ 1 (10 - 15 วัน) = 15-0-0 และเสริมด้วยปุ๋ยในรูปแบบสารละลาย (AB)

ครั้งที่ 2 (30 - 35 วัน) = 15-15-15 + 15-0-0 + จุลธาตุ

ครั้งที่ 3 (50 - 55 วัน) = 13-13-21 + 15-0-0 + จุลธาตุ

  • การพ่นสารเคมี
  • พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง + แคลเซียม โบรอน

5 การปลูกแบบต่าง ๆ

  • แบบค้างสี่เหลี่ยม

  • แบบกระโจมสามเหลี่ยม

  • แบบฟันเลื่อย

  • แบบผืน (ค้างเสาวรส)

  • แบบแนวรั้ว

  • แบบเข้าแถว *นิยมปลูกในฟักทองญี่ปุ่น

  • ปลูกในโรงเรือน

ไม่ควรปลูกระยะชิดกัน เนื่องจากจะเกิดการแย่งแสง ทำให้ติดผลน้อย และได้ผลผลิตต่อพื้นที่ลดลง

ลักษณะการออกดอก

ดอกเพศเมียมักเกิดก่อน ดอกเพศผู้ออกมาภายหลัง หรือออกมาก่อนแต่ยังไม่บาน จึงทำให้ดอกชุด 1 - 3 ไม่ได้รับการผสม หรืออาจติดผลน้อย ส่วนใหญ่จะไปติดผลด้านบน

1 สาเหตุของอาการดอกและผลร่วง

  • อาจเป็นเพราะได้รับธาตุอาหารและน้ำไม่เพียงพอ และไม่สม่ำเสมอ เป็นเหตุทำให้ขาดแคลเซียม โบรอน การใช้สังกะสี แมกนีเซียม ช่วยให้เกสรตัวผู้แข็งแรง เกิดการผสมติดผลดีขึ้น สำหรับความถี่ในการพ่นอาจดูพยากรณ์อากาศประกอบ หากพบว่าจะมีฝนตกติดต่อกัน และแสงแดดน้อยให้พ่นล่วงหน้า เพื่อให้ได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ
  • สภาพอากาศไม่เหมาะสม เช่น ช่วงเช้าร้อน ช่วงกลางวันฝนตก ช่วงกลางคืนอากาศเย็น มีแสงแดดน้อย อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีแมลงมาช่วยผสม ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งทีี่ทำให้เกิดอาการดอกและผลร่วง
  • การผสมเกสรมีปัญหา การสร้างและพัฒนาดอกและเกสรไม่สมบูรณ์ เช่น ดอกเพศเมียออกก่อนดอกตัวผู้ หรือดอกเพศผู้ออกก่อนดอกตัวเมีย จำนวนดอกเพศเมียและเพศผู้ไม่สมดุลกัน หรืออยู่คนละตำแหน่ง

2 วิธีแก้ไขอาการดอกและผลร่วง

  • หากปลูกในโรงเรือนสภาพปิด ในช่วงออกดอกอาจมีการช่วยผสมเกสร หรือเปิดช่องด้านข้าง เพื่อให้อากาศหมุนเวียนสามารถถ่ายละอองเกสรได้ดียิ่งขึ้น
  • ปลูกต้นฟักทองก่อนล่วงหน้าประมาณ 5% - 10% ของประชากรฟักทอง อย่างน้อย 14 - 21 วัน เพื่อใช้เป็นคู่ผสม (เกสรเพศผู้) จากนั้นปลูกต้นฟักทองที่เหลือ แล้วนำเกสรเพศผู้จากต้นที่ปลูกก่อนมาผสม
  • เลือกพันธุ์ที่มีสัดส่วนดอกที่เหมาะสม หรือปลูกเป็นคู่ผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะ เช่น บัตเตอร์นัท ดอกเพศเมียจะออกก่อน และฟักทองมินิ ดอกเพศผู้จะออกก่อน จึงแนะนำให้ปลูกร่วมกัน เนื่องจากใช้เกสรผสมข้ามกันได้ และมีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน
  • ใช้ฮอร์โมนในการช่วยปรับจำนวนของดอกเพศผู้ และเพศเมียให้สมดุลกัน

กรณีมีดอกเพศเมียจำนวนมาก ให้ใช้จิบเบอเรลลิน เพื่อเร่งการสร้างดอกเพศผู้

กรณีมีดอกเพศผู้จำนวนมาก ให้ใช้ออกซิน เอทธิลีน หรือไซโตไคนินอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเร่งการสร้างดอกเพศเมีย

การตัดแต่งเถาและไว้ผล

  • เมื่อเจริญเติบโตให้เลี้ยงยอดเพียง 1 เถา ตัดแต่งกิ่งแขนงออกให้หมด แต่งใบล่างออกตั้งแต่ข้อที่ 6 ลงมา เพื่อช่วยระบายอากาศ กำจัดโรค
  • ไว้ผลข้อที่ 9 - 18 เพื่อให้ผลสมบูรณ์ มีขนาดและคุณภาพตามมาตรฐานชั้นคุณภาพ
  • ควรปล่อยติดผล 3 - 7 ผลต่อ 1 ต้น และคัดผลที่สมบูรณ์ไว้ 3 - 5 ผลต่อต้น เมื่อติดผลตามต้องการ ให้เด็ดยอดทิ้ง

การเก็บเกี่ยว

  • เก็บผลผลิตเมื่ออายุ 80 - 90 วัน โดยทยอยเก็บเป็นรุ่น สังเกตรอยแตกบริเวณขั้วผล และสุ่มผ่า
  • ใช้มีดหรือกรรไกรตัดขั้ว แล้วทาปูนแดงที่ขั้ว
  • นำไปผึ่งในที่ร่ม หรือชั้นวางไม้ไผ่ 5 - 7 วัน เพื่อให้สุกแก่ทางสรีระวิทยา และทนทานต่อการขนส่ง
  • ตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งมอบ
  • ฟักทองสังเกตความแก่จากลักษณะและสีของขั้วผล โดยให้พิจารณาตำแหน่งติดผล และสุ่มผ่า
  • ฟักทองที่มีลักษณะขั้วผลที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถแยกความแก่ อ่อน โดยใช้รอยแตกหรือสีขั้วเพียงอย่างเดียว


ลักษณะฟักทองจิ๋วที่ตลาดต้องการ

  • แก่ครบอายุ
  • ผิวสีเขียว
  • รูปทรงผลตรงตามสายพันธุ์ ไม่บิดเบี่ยว
  • เนื้อไม่เป็นไต
  • ไม่มีหนอนแมลงวันทองเจาะผล
  • ไม่มียาง หรือน้ำใสไหลออกมาจากผล
  • ผิวเนียน ไม่มีร่องรอยของโรคหรือแมลงเข้าทำลาย รวมถึงไม่มีรอยขูดขีดบนผิว

ลักษณะฟักทองจิ๋วที่ไม่ได้คุณภาพ

  • ขนาดผลเล็กกว่าที่ตลาดต้องการ
  • เนื้อเป็นไต
  • ผิวซีด ถูกแดดเผา
  • ผิวถูกโรคหรือแมลงเข้าทำลาย หรือมีลักษณะเป็นปุ่มปม
  • หนอนแมลงวันทองเจาะวางไข่ในผลตั้งแต่ผลยังอ่อน และออกมาจากผลหลังเก็บเกี่ยว (หลังเก็บเกี่ยวควรพักผลผลิต 1 สัปดาห์ หากมีหนอนแมลงวันอยู่ในผล ก็จะออกมาช่วงนี้)

โรคที่สำคัญ

1 โรคราแป้ง (Powdery mildew)

  • ลักษณะอาการ ปรากฏผงแป้งสีขาวเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ด้านบนใบ และจะขยายออกไปเรื่อย ๆ จนครอบคลุมทั้งใบ รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของลำต้น 
  • การป้องกันกำจัด ตัดแต่งใบพืชที่เป็นโรคมาก ๆ ออกจากแปลงปลูก เมื่อพบอาการเริ่มแรกใช้ปิโตเลียมสเปรย์ออยล์ผสมผงฟูพ่นป้องกัน หากพบการระบาดของโรคใช้เบโนมิล พ่นสลับกับครีโซซิม-เมทิล หรือไตรโฟรีน ร่วมกับการพ่น 13-0-46 อัตรา 15 - 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

2 โรคราน้ำค้าง (Pseudoperonospora sp.)

  • ลักษณะอาการ แผลเหลี่ยมสีเหลืองบนใบ ใต้ใบพบเส้นใยสีขาว น้ำตาลอ่อน
  • การป้องกันกำจัด เมื่อเริ่มพบอาการควรตัดแต่งใบที่เป็นโรคออกจากแปลง นำไปเผาทำลาย การควบคุมโรคสามารถใช้สารเคมีประเภทสัมผัส เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ คลอโรธาโลนิล แมนโคเซบ หรือสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น เมตาแลกซิล + แมนโคเซบ เมตาแลกซิล ฟอสอีทิลอะลูมิเนียม ไดเมทโธม็อบ

3 โรครากเน่าโคนเน่า (Root and foot rot)

  • ลักษณะอาการ บริเวณโคนต้นพบรอยแผลแตกสีน้ำตาล ทำให้พืชไม่สามารถส่งน้ำ อาหารขึ้นสู่ลำต้นได้ พืชจะมีอาการใบล่างเหลือง แคระแกร็น และเหี่ยวตาย
  • การป้องกันกำจัด ขุดต้นที่เป็นโรค รวบรวมใส่ถุง แล้วนำออกไปทำลาย รวมถึงสังเกตแผล หากแผลเป็นรอยแตก จะเกิดการขาดธาตุโบรอน จากนั้นมีเชื้อราจึงเข้าทำลายภายหลัง หากแผลปกติ จะเกิดจากเชื้อรา ดังนั้นทุกครั้งในการปลูกควรรองก้นหลุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา (พีพี-ไตรโค) หากพบการระบาดใช้เบโนมิล ดาโคนิล พีซีเอ็นบี อย่างใดอย่างหนึ่ง พ่นหรือราดที่โคนต้นต้นที่เริ่มแสดงอาการ และต้นใกล้เคียง

4 โรคเหี่ยว จากแบคทีเรีย (Bacterial wilt)

  • ลักษณะอาการ ต้นพืชแสดงอาการเหี่ยวและฟุบลงอย่างรวดเร็วทั้งที่ใบยังเขียวอยู่ เมื่อตัดส่วนโคนของลำต้น 1 ท่อน มาจุ่มลงในแก้วน้ำสะอาด จะพบกลุ่มของแบคทีเรียสีขาวขุ่นเคลื่อนลงสู่น้ำเป็นสาย
  • การป้องกันกำจัด ปลูกพืชหมุนเวียน ใช้เชื้อบาซิลลัส อะไมโลลิควิเซียนส์ (พีพี-บี10) โดยใช้รองก้นหลุมอัตรา 1 กรัมต่อต้น ใช้หลังย้ายปลูกทันที และโรยรอบโคนต้นหลังย้ายปลูก 7 วัน หากพบการระบาดควรพ่นหรือราดดินบริเวณโคนต้นด้วยสารประกอบทองแดง และให้ปุ๋ยทางใบ ช่วยให้พืชแข็งแรง

5 โรคไวรัส

  • ลักษณะอาการ มีอาการต่างๆ เช่น ใบด่างลายมีสีเหลืองสลับเขียว เส้นใบขยายบวมโต ใบด่าง หดย่น หรือมีแผลเป็นวงสีเหลืองซ้อนกัน อาการบนผลพบผลบิดเบี้ยว ขนาดเล็กกว่าปกติและแผลเป็นวงสีเหลืองซ้อนกัน
  • การป้องกันกำจัด ถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก นำไปทำลาย และบำรุงพืชให้แข็งแรง ด้วยการให้น้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ หรือพ่นนมสดในช่วงแล้ง รวมทั้งสำรวจแปลงปลูก หากพบแมลงปากดูดควรพ่นฟิโปรนิล 1 - 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน การป้องกันแมลงพาหะ ทำได้โดยพ่นน้ำหมักสมุนไพร PP3 อย่างสม่ำเสมอ และการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสโดยวิธีกล ทำได้โดยการทำความสะอาดกรรไกรตัดกิ่งทุกครั้งที่ตัดต้นใหม่ด้วย trisodium phosphate 10% หรือน้ำยาซักผ้าขาว 10% หรือแอลกอฮอล์ 70%

6 โรคผลเน่า (Phytophthora fruit rot)

  • ลักษณะอาการ เกิดอาการเน่าตรงปลายผลที่สัมผัสกับดิน พบมากในสภาพอากาศเย็นและชื้น โดยพบอาการฉ่ำน้ำ เริ่มจากส่วนปลายผล ต่อมาแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และมีเส้นใยสีขาวฟูขึ้นคลุมแผล ทำให้ผลเน่าลุกลามอย่างรวดเร็ว
  • การป้องกันกำจัด เก็บผลที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกแล้วนำไปทำลาย พ่นจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (พีพี-ไตรโค) หรือน้ำหมักสมุนไพร PP1 อย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดใช้เมทาแลกซิล หรือฟอสอิทิล อะลูมิเนียม พ่นสลับกับคลอโรธาโลนิล หรือมาเนบ

แมลงศัตรูพืช

1 ด้วงเต่าแตง

2 แมลงวันแตง

3 แมลงวันหนอนชอนใบ

4 แมลงหวี่ขาว

5 เพลี้ยไฟ

การป้องกันกำจัด

  • ตัดแต่งส่วนที่มีแมลงออก
  • ใช้สารสมุนไพร เช่น PP1 PP3 ในเบื้องต้น หรือใช้ผสมร่วมกับสารเคมี เช่น โปรวาโด จาเลด แอสเซนด์ เซฟวิน 85
  • สามารถใช้ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ผสมกับสารเคมีข้างต้น ระยะใกล้เก็บเกี่ยวให้ใช้ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์เพียงอย่างเดียว พ่นป้องกันการระบาดของแมลง


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: นายอิทธิพล โพธิ์ศรี