องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

สถานการณ์ขยะอาหารเหลือทิ้งของครัวเรือนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย

การสูญเสียอาหาร (Food Losses) หมายถึง การลดลงในเชิงปริมาณของอาหารที่มีอยู่เพื่อการบริโภคของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต ตั้งแต่ในพื้นที่ผลิต ระหว่างการขนส่งและเก็บรักษาผลผลิต และในกระบวนการแปรรูป ขณะที่ขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food waste) หมายถึง การสูญเสียอาหารที่เกิดจากการตัดสินใจที่จะทิ้งขว้างอาหารในขณะที่อาหารนั้นยังบริโภคได้อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในขั้นปลายของโซ่อุปทาน คือ ในภาคธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการให้บริการด้านอาหาร และในระดับผู้บริโภค



ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) เป้าหมายที่ 12 Responsible consumption and production หมายถึง การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นสร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในหัวข้อย่อย 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหาร (Food Waste) ของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) จากกระบวนการผลิตและโซ่อุปทานรวมถึงกระบวนการจัดการหลักการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573 นั้นเป็นความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์มีปริมาณการสูญเสียและทิ้งขว้างกลายเป็นขยะอาหารถึง 1.3 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารสำหรับมนุษย์ที่ผลิตขึ้นทั่วโลก (FAO; 2011) ซึ่งหมายถึงเศษอาหารที่ไม่สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งที่อาหารเหล่านั้นอาจจะเป็นอาหารส่วนเกินที่สามารถนำไปรับประทานต่อได้ก็ตาม ซึ่งพบว่า

·   ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแอฟริกา มีปริมาณการสูญเสียขยะจากอาหาร 26-36% โดยพบว่า 70% ของอาหารที่สูญเสียเกิดจากกระบวนการเก็บเกี่ยวและกระบวนการผลิต เนื่องจากปัญหาด้านการจัดการ และขีดจำกัดด้านเทคนิคต่างๆ การเก็บเกี่ยว การจัดเก็บที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ จนถึงระบบการตลาด

·   ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ มีปริมาณการสูญเสียขยะจากอาหาร

34-35% โดยพบว่า 60% ของอาหารที่สูญเสียเกิดในระดับร้านค้าปลีกและระดับผู้บริโภคครัวเรือน เนื่องจากร้านค้าปลีกปฏิเสธผลิตผลทางการเกษตรที่ไม่ได้ขนาดหรือรูปร่างตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ ผู้บริโภคซื้ออาหารมากเกินจำนวนความต้องการ รวมทั้งมีแนวคิดว่าสามารถรับภาระในการจ่ายค่าสินค้าอาหารราคาสูงซึ่งบริโภคไม่หมดและทิ้งขว้างได้ (Toine Timmermans, 2019)

สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเหลือทิ้งที่ชัดเจน มีเพียงสถิติปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชมของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2565 ดังนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดย เพชรดา และคณะ ได้สำรวจข้อมูลการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเหลือทิ้งในชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย ในปี 2565 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การสูญเสีย “ข้าว” หลังจากเก็บเกี่ยวจนถึงการบริโภค และการสูญเสียของ “กับข้าว” ที่บริโภคในครัวเรือน พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ

1.   การสูญเสียหลังจากเก็บเกี่ยวผลิตผล (Food Loss) ข้าวของเกษตรกรบนพื้นที่สูง มีสาเหตุจากการร่วงหล่นของเมล็ดโดยธรรมชาติ การเก็บเกี่ยว ตากแห้ง ขนย้าย กองรวม และการนวดข้าว รวม 18.33 กก./ไร่ คิดเป็น 3.59% โดยได้ผลิตผลข้าวเปลือกสำหรับเก็บไว้บริโภค 491.77 กก./ไร่ คิดเป็น 96.41% ของผลิตผลข้าวเปลือกทั้งหมด และมีสัดส่วนผลิตผลเมล็ดข้าวเปลือกเต็มเมล็ดและเมล็ดข้าวเปลือกลีบปริมาณ 462.45 และ 29.32 กก./ไร่ คิดเป็น 94.04% และ 5.96% ตามลำดับ

ทั้งนี้พบว่าการเก็บเกี่ยวมือโดยใช้เคียวเกี่ยวข้าว มีการสูญเสียน้อยกว่าการใช้เครื่องตัดหญ้าดัดแปลง แต่ใช้ระยะเวลาและแรงงานคนในการจัดการมากกว่า ในส่วนของการนวดข้าว การคัดแยกและทำความสะอาดข้าวเปลือก พบว่า การใช้เครื่องนวดข้าวขนาดเล็กมีการสูญเสียมากที่สุด 29.02% เกิดจากข้าวเปลือกเต็มเมล็ดถูกเป่ารวมออกไปพร้อมกับเมล็ดข้าวเปลือกลีบ และเมื่อนำข้าวเปลือกมาสีด้วยเครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับใช้ในครัวเรือนได้ปริมาณข้าวสารเต็มเมล็ดน้อยกว่าโรงสีข้าว โดยเกษตรกรจะมีการสีข้าวทั้งสองวิธีขึ้นอยู่กับความสะดวกของครัวเรือนซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยข้าวสารเต็มเมล็ด ปลายข้าว แกลบ และรำข้าว เท่ากับ 274.63, 2.72 และ 214.41 กก./ไร่ คิดเป็น 55.85%, 0.55% และ 43.60% ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรนำส่วนของเมล็ดข้าวสารเต็มไปบริโภค ปลายข้าว แกลบ และรำข้าว เป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยง (ไก่และหมู) ทั้งนี้ เกษตรกรยังคงมีการจัดการหลังเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมือและวิธีการตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

2.   สำหรับขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ของครัวเรือน (4-5 คน/ครัวเรือน) บนพื้นที่สูง

ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

ข้าว มีปริมาณข้าวเหลือจากการบริโภค 574.03 กก./ครัวเรือน/ปี คิดเป็น 42.33% โดยเกษตรกรจะเก็บไว้อุ่นบริโภคในมื้อเช้าของวันถัดไปและให้สัตว์เลี้ยง 29.76% และ 12.57% ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรจะทำเผื่อไว้เพื่อไม่ให้ข้าวหมดระหว่างวัน ประกอบกับมีความเชื่อว่าต้องหุงหรือนึ่งข้าวเผื่อเหลือเผื่อขาด ในส่วนของ

กับข้าว มีปริมาณกับข้าวเหลือจากการบริโภค 282.82 กก./ครัวเรือน/ปี คิดเป็น 29.57% โดยจะเก็บไว้ในตู้เย็นอุ่นบริโภคในมื้อเช้าของวันถัดไป ให้สัตว์เลี้ยง และเททิ้ง 16.65%, 11.71% และ 1.21% ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรจะทำกับข้าวเผื่อไว้เพื่อไม่ให้กับข้าวหมดระหว่างวันโดยทำกับข้าวเพิ่มใหม่ในแต่ละมื้อ

ทั้งนี้ หากขาดระบบการบริหารจัดการขยะอาหารเหลือทิ้งที่ดีอาจก่อให้เกิดเชื้อโรคปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสะสมของขยะอาหารเหลือทิ้งทำให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็นที่ไม่พึงประสงค์ และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค รวมทั้งเกิดก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) จากการหมักของเศษขยะอาหารเหลือทิ้งซึ่งเป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน ดังนั้นข้อมูลสถานการณ์ขยะอาหารเหลือทิ้งของครัวเรือนบนพื้นที่สูงจึงมีความสำคัญที่จะสามารถนำไปวางแผนการบริหารจัดการเพื่อลดการสูญเสียและขยะอาหารเหลือทิ้งของครัวเรือนบนพื้นที่สูงของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป




เขียนและเรียบเรียง โดย  ดร.เพชดา อยู่สุข นางสาวจิราวรรณ ปันใจ และนางสาววิมลรัตน์ พรรณเรืองรอง

เอกสารอ้างอิง

เพชรดา อยู่สุข ดนัย บุณยเกียรติ จิราวรรณ ปันใจ ณัฐพล กามล มาโนช วิมลรัตน์ พรรณเรืองรอง ปราครุฑ นพพล จันทร์หอม ชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน และมนตรี จันทา2565. โครงการศึกษากระบวนการผลิตและสิ่งเหลือทางการเกษตรจากระบบการเกษตรและพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 290 หน้า     

มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (http://www.tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=72)

FAO. 2011. Global food losses and food waste. Extent, causes and prevention. Rome: UN FAO.

Toine Timmermans. 2019. Food Losses in the value chain – trands and developments. Keynote by Toine Timmermans for the course Lost Harvest and Wasted Food. 30 pages.