องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูงกับการพัฒนาแบบ BCG

กาแฟอะราบิกาเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนบนพื้นที่สูง เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ในหลายชุมชนเกิดการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็งในการผลิตกาแฟให้เติบโตและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ การปลูกกาแฟยังช่วยสร้างระบบนิเวศน์ป่าไม้บนพื้นที่สูง โดยการปลูกร่วมกับไม้ผลเมืองหนาว และการปลูกภายใต้ร่มเงาป่าธรรมชาติ โดยทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีการส่งเสริมเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้ปลูกกาแฟอะราบิกาเพื่อสร้างรายได้และทดแทนพืชเสพติด โดยใช้การปลูกในรูปแบบการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ป่าท้องถิ่น และเสริมด้วยไม้ผล เนื่องจากการปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงา ทำให้ได้คุณภาพของเมล็ด ทั้งในด้านของขนาดเมล็ดกาแฟ และรสชาติการชิมที่ดีกว่าการปลูกในรูปแบบอื่น ๆ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ สวพส. ยังคำนึงถึงการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปผลผลิตกาแฟของชุมชนบนพื้นที่สูงที่สอดคล้องกับการพัฒนาของ BCG model ด้วย 

B (Bio Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ การปลูกกาแฟ นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้โดยตรงจากการผลิตผลกาแฟแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ทำให้การผลิตกาแฟมีประสิทธิภาพ และคุณภาพสูงขึ้น หรือการเพิ่มมูลค่าของระบบการปลูกกาแฟด้วยการตระหนักถึงการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นกาแฟ ที่ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการลดภาวะโลกร้อน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น สัตว์ป่า เห็ด และพืชอาหารและพืชสมุนไพรอื่น ๆ หรือแหล่งทรัพยากรป่าไม้บนพื้นที่สูง เป็นการเพิ่มมูลค่าของระบบการปลูกตามแนวทางการพัฒนาแบบ BCG สร้างความยั่งยืนต่ออาชีพและรายได้ของเกษตรกรบนพื้นที่สูง

C (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตและแปรรูปกาแฟกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด การนำวัสดุมาผลิตเป็นสินค้าหรือ upcycling เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่าง ๆ และสินค้าต่าง ๆ เช่น วัสดุปลูกต้นไม้ ถาดรองแก้วกาแฟ ภาชนะบรรจุต่างๆ รวมถึง ต้นแบบกระดาษกรองกาแฟ ที่ทำจากเปลือกกาแฟกะลา หรือการนำกากกาแฟที่เหลือจากการชงกาแฟนำกลับมาสกัดน้ำมัน และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ต้นแบบสเปรย์ระงับกลิ่นปากจากน้ำมันกากกาแฟ เป็นต้น