กัญชงรักษ์โลก ตอบโจทย์ BCG
กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในหลายประเทศ มีการใช้ประโยชน์จากทุกส่วน ทั้ง ราก ลำต้น เปลือก แกนใน ใบ ช่อดอก และเมล็ด สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้หลายด้านมากกว่า 20,000 ผลิตภัณฑ์ เช่น ทางการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งวัสดุในอุตสาหกรรม S-Curve อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การบินและอวกาศ เป็นต้น
แล้ว....กัญชง รักษ์โลกอย่างไร.???
1. กัญชง เป็นพืชที่ต้านทานต่อโรคและแมลง จึงใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงน้อยมาก
2. กัญชงช่วยกักเก็บความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เพราะต้นกัญชงกักเก็บธาตุอาหารไว้มาก เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตลำต้นแล้ว ส่วนที่เหลือเช่น กิ่ง ใบ จะกลับไปเป็นปุ๋ยให้แก่ดิน นอกจากนี้กันญชงมีรากลึกช่วยทำให้โครงสร้างดินโปร่งและลดการชะล้างพังทลาย
3. กัญชงใช้ทำพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้ เพราะโครงสร้างของพลาสติกทั่วไปมาจากเซลลูโลสที่ผลิตจากปิโตเลียม ส่วนกัญชง เป็นพืชที่มีเซลลูโลสจำนวนมาก และที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ หรือแปรสภาพนำกลับมาใช้ใหม่ได้
4. กัญชงถูกใช้ในกระบวนการ phytoremediation หรือการใช้พืชที่มีชีวิตเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งกัญชงช่วยทำความสะอาดการปนเปื้อนโลหะที่เป็นพิษและรังสีของนิวเคลียร์ได้ เช่น ช่วยลดความเป็นพิษของดินรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน และนักวิจัยชาวเยอรมันพบว่า กัญชงสามารถดูดซับสารตะกั่ว แคดเมียม และนิเกิลจากที่ดินที่ปนเปื้อนกากตะกอนน้ำเสีย รวมทั้งพยายามจะนำมาใช้กำจัดการปนเปื้อนรังสีนิวเคลียร์ที่ Fukushima ประเทศญี่ปุ่น
5. กัญชงอาจช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยสามารถใช้ทำเป็นวัสดุทดแทนไม้ กระดาษ โดยที่สามารถปลูกและนำมาใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาสั้น
6. การปลูกกัญชงใช้น้ำน้อยกว่าพืชบางชนิด เช่น การผลิตฝ้าย 1 กก. ใช้น้ำ 8,000- 10,000 ลิตร ในขณะที่ผลิตเส้นใย
กัญชง 1 กก. ใช้น้ำเพียง 1,500- 2,000 ลิตร (ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 5,000 ลิตร)
7. กัญชงช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ดี ประมาณ 22-44 ตัน/เฮกตาร์ หรือ 3.53-7.04 ตัน/ไร่ ในขณะที่ฝ้าย ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 5 ตัน/เฮกตาร์ หรือ 0.8 ตัน/ไร่
เพราะกัญชง ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน มีศักยภาพในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิด BCG Model ที่มุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก
B: Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งใช้ทรัพยากรชีวภาพให้มีมูลค่าสูง
C: Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสร้างเศรษฐกิจโดยการนำกลับมาใช้ใหม่
G: Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
สวพส. มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับกัญชงอย่างครบวงจรสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ BCG model สู่เป้าหมายการสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่คุ้มค่าของเกษตรกร และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเศรษฐกิจ B มุ่งผลิตด้วยต้นทุนต่ำ มีกำไร เช่น การพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูก ระบบปลูกต้นทุนต่ำ การแปรรูปอย่างเหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ C มุ่งเน้นวิจัยใช้เศษเหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ เช่น นำเศษใบ กิ่งก้านจากการตัดแต่งกิ่งไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ใบชา ทำส่วนผสมในอาหารสัตว์ ทำวัสดุก่อสร้าง และเศรษฐกิจ G มุ่งพัฒนาสู่ระบบการผลิตที่ปลอดภัย ทั้งมาตรฐาน GAP และ อินทรีย์ ที่ไม่สร้างมลพิษ หรือสารตกค้างในดิน น้ำ อากาศ รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำให้สามารถพัฒนางานโดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างผลการที่ทำให้เกิดประโยชน์ได้รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาของเนื้อหา
Ilaria Gabriele, Marco Race, Stefano Papirio, Patrizia Papetti, Giovanni Esposito. 2022. Phytoremediation of a pyrene-contaminated soil by Cannabis sativa L. at different initial pyrene concentrations. Chemosphere Volume 300, August 2022, 134578.
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 2565. แผนวิจัยและพัฒนากัญชง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570). 39 หน้า.
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. 2560. รายฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษารวบรวมผลงานวิจัยและองค์ความรู้การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเฮมพ์. 196 หน้า.
https://hemp-copenhagen.com/
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.สริตา ปิ่นมณี