โปรตีนทางเลือก แหล่งโภชนาการ จาก อาหารพื้นบ้าน
การได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์และอร่อย เป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยวัฒนธรรมการกินจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม สภาพภูมิประเทศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช แมลง และจุลินทรีย์ ที่นำมาประกอบเป็นอาหารที่พบในพื้นที่นั้นๆ
การกินอาหารให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ….. เริ่มต้นง่ายๆ ด้วย การกินอาหารหลักให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารให้หลากหลาย และหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ก็คือ โปรตีน (Protein) ที่มีอยู่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารที่มาจากสัตว์และพืช สำหรับการเลือกโปรตีนจากเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์นั้น สิ่งที่แฝงมากับโปรตีน คือ ปริมาณไขมันและคอเรสเตอรอล ที่หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันพอกตับ เป็นต้น
สำหรับคนที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ไม่อยากให้ร่างกายขาดโปรตีน เรามี “โปรตีนทางเลือก” มาแนะนำ โดยในปัจจุบัน มีแหล่งอาหารที่สามารถสร้างโปรตีนทดแทน
ได้จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น
- โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein)
- โปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein)
- โปรตีนจากสาหร่าย (Algae-based Protein)
- โปรตีนจากเชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Mycoprotein)
Recommend Menu วันนี้ขอแนะนำ เมนูโปรตีนทางเลือก เพื่อสุขภาพ จากอาหารพื้นบ้าน ให้ท่านได้รู้จักและได้ลองลิ้ม ชิมรส ทั้งอร่อย เปี่ยมไปด้วยโปรตีน และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แถมวิธีการปรุง ให้ท่านได้เพลิดเพลินกับการประกอบอาหาร
น้ำพริกมะกิ้ง
พืชท้องถิ่นที่เป็นส่วนประกอบหลัก : มะกิ้ง
ส่วนประกอบ : เนื้อในเมล็ดมะกิ้ง เกลือ พริกแห้ง กระเทียม ผักลวกสำหรับเป็นเครื่องเคียง
วิธีปรุง :
1. นำเนื้อในเมล็ดมะกิ้งและกระเทียมไปย่างไฟให้สุก
2. ลอกส่วนที่เกรียมของมะกิ้งและกระเทียมออก
3. ใส่มะกิ้ง กระเทียม พริกแห้ง และเกลือ ลงในครก ตำให้ละเอียดและปรุงรสตามชอบ
4. ลวกผักตามที่ชอบเป็นเครื่องเคียง จัดใส่จาน พร้อมรับประทาน
ยำผักหวานป่าไข่มดแดง
พืชท้องถิ่น/แมลง ที่เป็นส่วนประกอบหลัก : ผักหวานป่า ไข่มดแดง
ส่วนประกอบ : ผักหวานป่า ไข่มดแดง วุ้นเส้น หมูยอ(แล้วแต่ชอบ) หอมแดง มะนาว พริกป่น น้ำปลา น้ำตาลทราย
วิธีปรุง :
1. ตั้งกระทะรอจนน้ำเดือด แล้วนำยอดผักหวานป่าลงไปลวก เมื่อผักเริ่มเปลี่ยนสีให้รีบตักขึ้น นำมาแช่ในน้ำเย็น
2. ลวกไข่มดแดง ประมาณ 1 นาที ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ ตามด้วยลวกวุ้นเส้นพอนุ่ม ตักขึ้นแช่น้ำเย็น สำหรับหมูยอลวกประมาณ 2-3 นาที
3. เตรียมน้ำยำ โดยผสมน้ำปลา น้ำตาลทราย น้ำมะนาว และพริกป่น ปรุงรสแล้วแต่ชอบคนจนเข้ากันดี ใส่หอมแดงซอย ผักหวานป่า ไข่มดแดง วุ้นเส้นและหมูยอ คลุกเคล้าให้เข้ากัน
4. ตักใส่จาน พร้อมรับประทาน
คั่วผำ
พืชท้องถิ่นที่เป็นส่วนประกอบหลัก : ผำ
ส่วนประกอบ : ผำ พริกแห้ง หอมแดง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เกลือ กะปิ น้ำมันพืช
วิธีปรุง :
1. นำผำมาล้างให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. เตรียมเครื่องแกงได้แก่ พริกแห้ง หอมแดง ข่า ตะไคร้ เกลือ กะปิ ตำให้ละเอียด
3. ตั้งกะทะ พอน้ำมันร้อน นำเครื่องแกงลงผัดจนมีกลิ่นหอม
4. จากนั้นใส่ผำ ใบมะกรูด ตะไคร้ ข่า ที่หั่นซอยลงไปผัดจนสุก
5. ตักใส่จาน พร้อมรับประทาน
หนอนรถด่วนและหนอนด้วงหน่อไม้ทอดกรอบ
ส่วนประกอบ : หนอนรถด่วนหรือหนอนด้วงหน่อไม้ เกลือ และน้ำมันพืช
วิธีปรุง :
1. ล้างตัวหนอนให้สะอาด
2. นำตัวหนอนไปลวกในน้ำร้อน ให้ตัวหนอนเหยียดตรง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
3. ตั้งกระทะไฟปานกลาง พอน้ำมันร้อนใส่ตัวหนอนลงทอดจนกระทั่งสุก เหลือง กรอบ
4. ตักขึ้นโรยเกลือเล็กน้อยให้ทั่ว พร้อมรับประทาน
แกงเห็ดสองสหาย
พืชท้องถิ่นที่เป็นส่วนประกอบหลัก : เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนูดำ
ส่วนประกอบ : เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนูดำ ชะอม ผักรด (ผักฮาก) พริกแห้ง เกลือ ปลาร้า กะปิ หอมแดง กระเทียม
วิธีปรุง :
1. โขลกพริกแห้ง เกลือ หอมแดง กระเทียม และกะปิ ให้เข้ากัน
2. นำหม้อใส่น้ำ ยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำในหม้อเดือด ตักน้ำพริกแกงที่ตำไว้ใส่ตามลงไป
3. รอจนน้ำแกงเดือดอีกรอบ ใส่เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู หรือเห็ดอื่นๆ ลงไป ใช้ทัพพีกดเบาๆ ให้เห็ดยุบตัว ปรุงรสด้วยปลาร้า
4. พอเห็ดสุก ใส่ชะอมและใบผักรด ฉีกเป็นชิ้นๆ ลงไป คนให้เข้ากัน
5. พอผักสุก ยกลงจากเตา ตักใส่ถ้วย พร้อมรับประทาน
เขียน/เรียบเรียงเรื่องโดย : นางสาวกมลทิพย์ เรารัตน์
อ้างอิง :
· คุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณของผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพร. กรมวิชาการเกษตร
· คุณค่าทางโภชนาการของพืชผักพื้นบ้านในประเทศไทย. กองโภชนาการ กรมอนามัย
· https://www.bangkokbiznews.com/social/990584
· https://www.cosmenet.in.th/cosme-intrend/19705
· https://themomentum.co/local-alive-wolffia-globosa-advertorial/
อ้างอิงภาพ :
· พันธุ์ทิพย์ นนทรีย์
· https://pantip.com/topic/39078355
· https://mgronline.com/smes/detail/9630000111570
· https://pantip.com/topic/31874748