องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กุหลาบ ชอบหน้าฝนหรือไม่?

กุหลาบ ชอบหน้าฝนหรือไม่?


เกษตรกรและหลายๆ คนที่ปลูกกุหลาบ คงจะพบปัญหาหนักใจในช่วงฤดูฝน ที่ต้นกุหลาบเจริญเติบโตไม่ดี และพบโรคและแมลงมารบกวนมาก ทำให้หมดกำลังใจในการดูแลกันไปเลยทีเดียว แต่ถ้าเรารู้สาเหตุของปัญหา ก็จะสามารถแก้ไขได้ทัน ลองมาดูกันว่าจะแก้ไขกันได้อย่างไร

Roses Planting ได้เขียนไว้ในเว็บไซด์ "rosesplanting.blogspot.com" เรื่อง "เข้าหน้าฝนกุหลาบอ่อนแอ ถ้าดูแลไม่ดี" โดยเน้นเรื่องรากเน่าเนื่องจากน้ำมากเกินไป ถ้าพบว่ามีปัญหานี้ก็ควรนำวัสดุคลุมดินผึ่งให้หมาดๆ แล้วค่อยนำมาคลุมใหม่ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง งดการให้ปุ๋ยสักระยะ เพราะรากไม่ดูดซึมปุ๋ยแล้ว ให้ปุ๋ยไปก็เปล่าประโยชน์ และอาจเป็นโทษอีกต่างหาก ต้องรอให้ต้นกุหลาบฟื้นตัวก่อนแล้วค่อยให้ปุ๋ยใหม่ อีกอย่างหนึ่งก็คือปัญหาของโรคกุหลาบ ต้องหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูก พยายามเก็บใบกุหลาบที่เหลือง แห้ง หรือเน่าทิ้ง ทำให้แปลงปลูกกุหลาบ หรือกระถางปลูก โปร่งให้มากที่สุด ให้แสงแดดส่องผ่านถึงผิวดินและโคนต้นกุหลาบได้ก็จะช่วยได้มาก กรณีฝนตกต่อเนื่องไม่หยุด ควรย้ายกระถางกุหลาบหลบฝนบ้าง ในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่กุหลาบเติบโตได้ดีพร้อมที่จะให้ดอกงามๆ ได้ในปลายฤดู จึงไม่ควรให้กุหลาบออกดอก เพราะดอกกุหลาบที่บานในหน้าฝนจะบานไม่ทน ให้รักษาต้นให้แข็งแรงไว้จะดีกว่า


โรคและแมลงที่สำคัญในช่วงฤดูฝน

1.โรคราแป้ง (Powdery Mildew) หรือโรคใบพอง อาการคือบริเวณใบเหมือนมีฝุ่นแป้งมาจับและพองงอ แล้วกระจายทั่วทั้งใบ ซึ่งบริเวณนี้จะกลายเป็นสีเหลืองและต่อมาเกิดใบไหม้ สามารถพบอาการได้ทั้งบนใบและดอก มักพบในช่วงเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนจัดและกลางคืนอากาศเย็นชื้น ซึ่งพบมากในฤดูฝน  และการแพร่ระบาดโดยลม

วิธีป้องกันและรักษาขั้นแรกคือตรวจดูว่าต้นกุหลาบได้รับแสงแดดเพียงพอหรือไม่ หากอยู่ในที่ร่มควรนำตากแดดในทันทีและฉีดน้ำให้ใบในเวลากลางวันเปียกเรื่อยๆ ควบคู่กับใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ ไตรโฟรีน (Triforine) , คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) หรือเฮกซาโคนาโซล (Hexaconazole)



2.โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) อาการคือ ส่วนใบอ่อนดูตก ใต้ใบแห้งเป็นสีม่วงแดงเป็นแห่งๆ ถ้าเป็นมากยอดจะเหี่ยวทั้งๆ ที่อากาศหนาว ส่วนใบแก่ ก้านดอกและกลีบเลี้ยงจะเป็นแผลรูปริ้วสีน้ำตาลคล้ายสนิมหรือรอยน้ำหมาก สังเกตได้ง่ายเพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ใบร่วงในเวลารวดเร็ว ซึ่งหากเชื้อแพร่ไปทั่วลำต้นก็จะโทรมและตายในที่สุด แพร่ระบาดโดยลมและน้ำ พบได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว การป้องกันคือ ในช่วงที่อากาศเริ่มเย็นควรฉีดพ่นด้วยแมนโคเซป (Mancozep) และตรวจสอบอาการผิดปกติอยู่เสมอ หากพบว่าเริ่มมีอาการของโรคดังกล่าว ควรตัดกิ่งที่เกิดอาการไปทำลายทันทีและฉีดพ่นสารเมทาแลกซิล (Metalaxy) หรือไซมอกซานิล (Cymoxanil) เพื่อกำจัดโรคดังกล่าว

3.โรคราสีเทา (Gray Mold) อาการคือ ดอกกุหลาบตูมไม่ยอมบานออกจนกลีบนอกเริ่มเหี่ยวแห้งหรือทำให้ดอกกุหลาบเหี่ยวง่ายเร็วกว่าปกติ กลีบดอกมีสีน้ำตาล หากสภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบใยเชื้อราสีเทาบริเวณแผล พบในกุหลาบบางสายพันธุ์ที่อ่อนต่อโรค เช่น กุหลาบมอญ จุฬาลงกรณ์ จูว็องแซล และมาร์โกคอสเตอร์  นอกจากนั้นยังทำให้ทั่วทั้งกิ่งเหี่ยวแห้งตามไปจนถึงโคนต้นได้อีกด้วย วิธีป้องกันคือ ตัดกิ่งดังกล่าวเพื่อกำจัดและฉีดสารไอโพรไดโอน (Iprodione) , เบนโนมิล (Benomyl) หรือ แคปแทน Captan หรือถ้าไม่อยากใช้สารเคมี สามารถพ่นสปอร์แขวนลอยของเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างสม่ำเสมอ ในสภาวะอากาศชื้น

 4. โรคใบจุดสีดำ (Black spot) แพร่ระบาดเมื่อใบเปียกชื้นติดต่อกันเป็นเวลานาน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเกิดโรคคือ 18-24°C เกิดได้ตลอดปี แต่จะระบาดรุนแรงในฤดูฝน อาการคือพบรอยจุดสีดำหรือน้ำตาลที่ขอบ ขอบของจุดไม่ชัดเจนแต่พร่าเหมือนรอยน้ำหมึกหยดลงบนกระดาษและซึมที่ขอบ จากนั้นใบจะเริ่มเหลืองและร่วงหลุดไปเรื่อยๆ การป้องกัน คือการทำให้ใบไม่เปียก ควรดูแลรักษาความสะอาดแปลงสม่ำเสมอ ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย ตัดแต่งให้ต้นกุหลาบโปร่ง พ่นสารเคมี เช่น ไตรโฟรีน (Triforine) เฮกซาโคนาโซล (Hexaconazole) คลอโรธาโลนิล (Chlorathalonil) แมนโคเซป (Mancozep) ป้องกันใบที่ยังไม่เป็นโรค โดยพ่นด้วยสารเคมีทุก 7 วันในช่วงฤดูฝน และทุก 15 วันในช่วงฤดูร้อน

สำหรับต้นที่เป็นโรคดังกล่าวแล้วควรตัดใบที่เป็นโรคออก รวมถึงใบเก่าและเศษใบที่ร่วงบริเวณโคนต้นให้หมด เพราะขณะที่ฝนตกหรือรดน้ำไปเชื้อราดังกล่าวก็ร่วงลงบริเวณโคนต้นด้วย เป็นสาเหตุของการระบาดต่อไป ดังนั้นผู้ปลูกกุหลาบจึงควรรดน้ำกุหลาบในแปลงตอนเย็นในช่วงบ่ายสามเพื่อให้มีเวลาที่น้ำตามใบแห้งสนิท


5.โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) หรือโรคตากบ อาการมีลักษณะคล้ายโรคใบจุดสีดำ แต่ขอบจุดชัดเจน ไม่เป็นรอยคล้ายหยดหมึก ตรงกลางมีลักษณะเป็นจุดแห้ง บางจุดคล้ายกับดวงตาของกบ ซึ่งลักษณะการป้องกันและกำจัดก็คล้ายกับโรคใบจุดที่เกิดจากการระบาดของเชื้อราอันเกิดจากความเปียกในเวลากลางคืน

6. ดายแบก (Dieback) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เกิดจากหลายโรค โดยกิ่งจะแห้งจากปลายกิ่งลงมาโคนต้น บางกิ่งจะเหลืองก่อนหรือเป็นสีดำลงมาเลย ถ้าลามลงมาถึงข้ออาจหยุดอยู่ตรงนั้น แต่ถ้ากิ่งยังเหลืองผ่านข้อลงมาแสดงว่าไม่หยุด วิธีแก้ไขคือ ตัดดัก โดยตัดให้ต่ำลงมาเพื่อดักเชื้อโรคที่กำลังลุกลามลงไปโคนต้น



เขียนและเรียบเรียงโดย สิรินทร์รัตน์ ผู้ยอดยิ่ง




อ้างอิง

แผ่นพับ “การปลูกกุหลาบแบบโครงการหลวง”

https://www.baanlaesuan.com/91473/plant-scoop/rose3

rosesplanting.blogspot.com