องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“ชาเลือดมังกร” สีสันพรรณพฤกษา

ชาเลือดมังกร... มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Peristrophe bivalvis (L.) Merr. (ชื่อพ้อง: Peristrophe roxburghiana ) ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับเหงือกปลาหมอ หรือวงศ์ ACANTHACEAE ซึ่งชื่อของพืชชนิดนี้เรียกตามสีของน้ำเมื่อนำใบมาแช่น้ำร้อน จะได้สีแดงอมม่วงคล้ายเลือด ส่วนใหญ่หากสืบค้นข้อมูล มักมีความสับสนระหว่าง ต้นชาเลือดมังกร (magenta plant) และ ต้นเลือดมังกร (dragon’s blood tree) ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ มีรูปร่างหน้าตา ถิ่นที่อยู่อาศัย สรรพคุณ และการใช้ประโยชน์ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

โดย ต้นเลือดมังกร “Dragon’s blood tree มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Dracaena drago (L.) L. เป็นไม้ยืนต้น อยู่ในวงศ์ DRACAENACEAE พบบริเวณป่าอเมซอน แถบประเทศเปรู เมื่อใช้มีดกรีดลงไปบนลำต้น จะมียางดิบสีแดงคล้ายเลือด หรือที่เรียกว่า “เลือดมังกร” ซึ่งยางไม้สีแดงนี้มีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาดูแลผิวพรรณ ช่วยสมานแผล สมานผิว และช่วยชะลอวัย

ในขณะที่ ต้นชาเลือดมังกร “Magenta plant” เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูงได้ถึง 1 – 1.5 เมตร ลำต้นมีสันตามยาวคล้ายเหลี่ยม โป่งบริเวณเหนือข้อ มีขนปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับแบบคู่ตรงข้าม ใบรูปหอก ดอกเป็นกระจุกบริเวณยอด สีชมพูหรือม่วง ผลเป็นฝักยาว การกระจายพันธุ์จากประเทศอินเดียตะวันออก ศรีลังกา ไปยังจีน ไทย เวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ ชวา (อินโดนีเซีย) สามารถนำมาเพาะปลูกได้ในพื้นที่สวน และพบได้ตามพื้นที่ป่าธรรมชาติ ใกล้แหล่งน้ำ ในประเทศไทยนิยมปลูกในพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น และดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยพบว่ามีการเพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่ามีการกระจายเข้ามาจากเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน 


คุณค่าและการใช้ประโยชน์ของชาเลือดมังกร

ชาเลือดมังกร มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) สูง เช่น แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) และ สารประกอบกลุ่มฟีนอลิก (Polyphenolic compounds) เช่น Gallic acid, Apigenin, Isoquercetin, Kaempferol, Quercetin, Rutin, Catechin, และ Tannic acid ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกาย ป้องกันหลอดเลือดอักเสบ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดได้ ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ และป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้และตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ ยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดท้องเสีย และต้านไวรัส นอกจากนี้ชาเลือดมังกรยังถูกใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาวัณโรคปอด ไอเป็นเลือด โรคหลอดลมอักเสบ ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงไต และยังมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งพิษงูเห่าและงูเขียวหางไหม้ได้อีกด้วย และเนื่องจากชาเลือดมังกร มีสารที่ให้สีแดงแกมม่วง จึงนิยมนำมาทำสีย้อมอาหาร ประเภทข้าวเหนียว และสีย้อมผ้า รวมถึงนำมาตากแห้งต้มน้ำดื่มเป็นชาช่วยบำรุงร่างกาย 



การขยายพันธุ์-ปลูก-เก็บเกี่ยว